กลุ่มพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย
การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ด้วยการส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน เป็นหนึ่งในพันธกิจที่ สวทช. ให้ความสำคัญ เพราะการพัฒนากำลังคนจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ สวทช. มีกลุ่มกิจกรรมภายใต้พันธกิจการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนี้

  1. การพัฒนาบุคลากรวิจัย
  2. พัฒนาและส่งเสริมความสามารถทาง วทน. สำหรับเด็ก เยาวชน และบุคลากรทางการศึกษา
  3. โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
  4. โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนา วทน. แก่เด็กและเยาวชน

โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมของงานพัฒนากำลังคน
พัฒนาบุคลากรวิจัย

พัฒนาและส่งเสริมความสามารถทาง วทน. สำหรับเด็ก เยาวชน และบุคลากรทางการศึกษา
ค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน
กิจกรรมพัฒนาทักษะและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กระดับประถมฯ-มัธยมศึกษา
อบรมครู
กิจกรรมฝึกอบรมความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ครูสามารถนำไปใช้ในชั้นเรียนได้

 

หลักสูตร/สื่อการเรียนรู้
พัฒนาสื่อการเรียนรู้ หลักสูตร ชุดสื่อ ชุดกิจกรรม ร่วมกับนักวิจัย นักวิชาการ สวทช. และมหาวิทยาลัยเครือข่าย
กิจกรรมการเยี่ยมชมสำหรับเยาวชน
สวทช. โดย บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร มุ่งหวังให้เยาวชนตระหนักและเห็นความสำคัญของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงจัดกิจกรรมการเยี่ยมชมสำหรับเยาวชน “แรงบันดาลใจสู่เส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์” Inspiration to Become A Scientist มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนเพิ่มพูนประสบการณ์และค้นหาความถนัดตัวเอง

 

โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี
กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ร่วมกิจกรรมวิจัยในห้องปฏิบัติการ ณ สถาบันเดซี ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

 

โครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา
กิจกรรมที่มีนักวิทยาศาตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลมานำเสนอผลงาน บรรยายพิเศษ และเสวนากลุ่มย่อย

 

การประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (GYSS)
กิจกรรมที่สร้างเครือข่ายระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผ่านการบรรยายเดี่ยว อภิปรายกลุ่ม และชั้นเรียนย่อย

 

โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย
ถ่ายทอดทักษะกระบวนการและแนวทางการพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ให้กับครูในระดับปฐมวัย

 

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย
จัดกิจกรรมและพัฒนาหลักสูตรบูรณาการสะเต็มศึกษา ให้กับเด็กระดับประถมฯ ปลาย-ม.ต้น

 

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่ EECi
จัดกิจกรรมและพัฒนาหลักสูตรโดยใช้แนวทางสะเต็มศึกษาให้กับเด็กระดับประถมฯ-ม.ต้น และครูในพื้นที่ EECi

 

โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
พัฒนาทักษะการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็ก และพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ใน อ.คลองหลวง

 

โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม
พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย สร้างแรงบันดาลใจในอาชีพวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต

 

การฝึกอบรมเฉพาะทาง และการฝึกทำโครงงานวิทยาศาสตร์
สวทช. โดยบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝัง ฝึกฝนทักษะปฏิบัติการวิจัยให้กับนักเรียนมัธยมศึกษา รวมถึงการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เปิดประสบการณ์ในการฝึกฝนการใช้เครื่องมือวิจัย เครื่องมือวิทยาศาสตร์ การทำงานในห้องปฏิบัติการวิจัย โดยมีทีมนักวิจัย และนักวิชาการของ สวทช. เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และฝึกฝนปฏิบัติการ ผ่านกิจกรรมฝึกอบรมเฉพาะทางในหัวข้อที่มีความเชื่อมโยงกับงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ สวทช. มีความเชี่ยวชาญ หรือ การอบรมที่ใช้โครงสร้างพื้นฐาน คือ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ อุปกรณ์การวิจัยที่มีอยู่ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เป็นฐานในการฝึกอบรม

 

ถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์
สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายพิเศษ การฝึกอบรม กิจกรรมค่าย และการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝน เรียนรู้ และทำวิจัยภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทย เพื่อบ่มเพาะเยาวชนเหล่านี้สู่เส้นทางการเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต
การจัดกิจกรรมเพื่อบ่มเพาะเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อให้มีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ (STEM Education) และฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพสูงจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา เข้ารับการบ่มเพาะผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสร้างทัศนคติและแรงบันดาลใจในการก้าวสู่การเป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ต่อไป

 

วทน. สำหรับโรงเรียนชนบท
สวทช. เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา การศึกษา ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับครูและเยาวชนในพื้นที่ชนบท และโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาและโครงงานวิทยาศาสตร์ พัฒนาครูผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สร้างเจตคติที่ดีในการเรียน ให้เกิดกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์บนฐานของเหตุและผล การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และนำไปใช้แก้ไขปัญหา รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พร้อมกับการผลักดันกลไลในพื้นที่ด้วยการสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสและลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชนบท ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2560-2569) และ ยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ วิทย์สร้างคน ให้เป็นบุคลากรคุณภาพขับเคลื่อนประเทศต่อไป

 

ฝึกทักษะวิจัยสำหรับนักเรียน ม. ปลาย
โครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนฐานวิทยาศาสตร์ หรือในโครงการพิเศษสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกฝนทักษะการวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัย สวทช. โดยมีทีมนักวิจัย สวทช. เป็นพี่เลี้ยงดูแล นักเรียนที่เข้ามาฝึกทักษะวิจัย ได้เห็นบรรยากาศการทำงานวิจัย ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยอาชีพ
ข้อมูลเพิ่มเติม

 

การประกวดแข่งขัน
สวทช. ตระหนักและให้ความสำคัญในการสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการประกวดแข่งขัน เพื่อกระตุ้นศักยภาพของเยาวชนไทยในระดับมัธยมศึกษาที่มีความสนใจใฝ่เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทุกแขนงให้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่มีผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พร้อมเปิดพื้นที่ในการจัดเวทีประกวดแข่งขันเพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการนำเสนอความคิดของตนเองสู่สาธารณชน และเป็นกลไกของการพัฒนาและวัดระดับคุณภาพผลงาน โดยสนับสนุนทุนในการพัฒนาโครงงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมทั้งได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความรู้และทักษะการคิดวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านการให้คำแนะนำการเขียนข้อเสนอโครงงานที่มีความสมบูรณ์ การพัฒนาเทคนิคและวิชาการในการพัฒนาโครงงานจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานและผู้พัฒนาโครงงาน ตลอดจนผลักดันให้ผลงานเยาวชนไทยเป็นประจักษ์ในเวทีโลก

 

โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ มาส่งเสริมการพัฒนาความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย

 

การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ครู และนักวิทยาศาสตร์ไทยได้ไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการศึกษาต่อใน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาชั้นนำ ในประเทศต่างๆ เช่น CERN DESY GSI และทุนการศึกษาพระราชทานเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
ความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยชั้นนำของโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสร่วม ปฏิบัติการวิจัย เช่น วิจัยขั้วโลก ความสัมพันธ์ ไทย-เซิร์น ความร่วมมือ ไทย-จูโน เป็นต้น

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิต
สร้างโอกาสทางด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนอย่างเท่าเทียมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ การติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ ราชอาณาจักรกัมพูชาและการช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนหลัก 67 สปป. ลาว เป็นต้น
โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาวทน. แก่เด็กและเยาวชน

ในปี พ.ศ. 2548 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร (Permanent Science Camp) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชนผู้มีความสนใจและมีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สวทช. จึงได้ดำเนินการก่อสร้างค่ายวิทยาศาสตร์ถาวรขึ้นภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” (Sirindhorn Science Home) เป็นชื่อโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร