ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกที่เน้นการทำวิจัยกับนักวิจัย สวทช. เป็นหลัก

สวทช. ร่วมดำเนินการ “ธัชวิทย์ : วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (TAS : Thailand Academy of Sciences)

ธัชวิทย์ หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ริเริ่มและจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปี 2565 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัย มาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ และฐานการพัฒนาคนที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก และนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และมิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform)

สวทช. ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินภารกิจของธัชวิทย์ ในมิติที่ 3 เรื่องการพัฒนากำลังคน ร่วมกับสถาบันวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อีก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) วัตถุประสงค์คือ เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคุณภาพสูงระดับปริญญาเอก โดยใช้ศักยภาพของสถาบันวิจัยทั้ง 4 หน่วยงาน ที่มีความพร้อมในด้านบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย ในการร่วมผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในระดับสากล มีความรู้ความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและของโลกปัจจุบันและอนาคต

ธัชวิทย์ เริ่มเปิดรับนักศึกษา ระดับปริญญาเอก หลักสูตรนานาชาติ ในปีการศึกษา 2565 เป็นรุ่นแรก โดยสวทช. ได้ร่วมเป็นกรรมการหลักสูตร และมีนักวิจัยของสวทช. จำนวน 28 คน ร่วมเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตร ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้ สามารถเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลักของนักศึกษาได้

ธัชวิทย์-สวทช. (TAS-NSTDA) จัดการเรียนการสอนรายวิชาเฉพาะด้าน (coursework) ในสาขาที่เป็นพื้นฐานของงานวิจัยระดับสูงของสวทช. จำนวน 11 รายวิชา ได้แก่
1) เทคโนโลยีชีวภาพชั้นแนวหน้าในศตวรรษที่ 21 (Frontier Biotechnology in the 21st Century)
2) กระบวนการขึ้นรูประดับนาโนเมตรและหุ่นยนต์นาโน (Nanofabrication and Nanorobotics)
3) เทคโนโลยีชีวภาพระดับนาโนเมตรและการแพทย์นาโน (Nanobiotechnology and Nanomedicine)
4) วัสดุนาโนขั้นสูงเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Advanced Nanomaterials for Energy & Environment)
5) การประมวลผลภาษาธรรมชาติและกราฟความรู้ (Natural Language Processing and Knowledge Graph)
6) การประยุกต์การประมวลผลสัญญาณเสียงขั้นสูง (Advanced Topics in Applied Speech and Audio Processing)
7) การเข้าใจภาพและวิดีโอ (Image and Video Understanding)
8) ความมั่นคงสารสนเทศเชิงประยุกต์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (Applied Information Security for Critical Infrastructure)
9) เทคโนโลยีสเปกโตรสโกปีและเซนเซอร์ (Spectroscopic Sensing Technologies)
10) เทคโนโลยีวัสดุเซนเซอร์ขั้นสูงและวัสดุควอนตัม (Advanced Sensing and Quantum Materials)
11) วัสดุขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Advanced Materials for Future Industries)

และมีหัวข้องานวิจัยที่นักศึกษาสามารถเลือกเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ (Ph.D. Dissertation) ได้ถึงกว่า 50 หัวข้อ (click ที่นี่ เพื่อดูหัวข้องานวิจัยพร้อมคำอธิบาย)

นักศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและผ่านการคัดเลือก จะได้รับทุนการศึกษา Full scholarship (ประกอบด้วย ค่าครองชีพ ค่าธรรมเนียมการศึกษา เงินสนับสนุนการทำวิจัย และเงินสนับสนุนไปทำวิจัยระยะสั้นที่ต่างประเทศ) จาก TAS