วิธีการเขียนข้อเสนอโครงงาน รายงาน และรายงานฉบับสมบูณ์

การเขียนข้อเสนอโครงงาน

          การเขียนข้อเสนอโครงงาน ให้ใช้ตัวอักษร TH Sarabun New ขนาด 16 กำหนดขอบด้านซ้าย ด้านขวา บน และล่าง 1 นิ้ว พร้อมระบุเลขหน้า พิมพ์บนกระดาษขาว ขนาดมาตรฐาน A4 เข้าเล่มรายงานให้เรียบร้อยพร้อมปกหน้าและปกหลัง 
          ผู้เสนอโครงงานจะต้องกรอกข้อมูลในระบบออนไลน์ที่ http://www.nstda.or.th/sims/ โดยต้องมีรายละเอียด 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 หน้าปก และรายละเอียดโครงงาน และส่วนที่ 2 ประวัติผู้พัฒนาและอาจารย์ที่ปรึกษา ดังนี้

ส่วนที่ 1

1.1 หน้าปก ซึ่งระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ 

  • ชื่อโครงงาน ภาษาไทยและอังกฤษ
  • สาขาโครงงานที่เข้าประกวด
  • ข้อความ ชี้แจงว่าเป็นโครงงานต่อเนื่องหรือไม่ มีความต้องการพัฒนาต่อยอดผลงานหรือไม่ และเป็นโครงงานที่เคยได้รับรางวัลมาก่อนหรือไม่
  • ผู้พัฒนาโครงงาน (ในกรณีประเภททีม ให้ระบุหัวหน้าทีม) คำนำหน้า ชื่อ (นาย/นาง/นางสาว/เด็กชาย/เด็กหญิง) ชื่อ-นามสกุล วัน-เดือน-ปีเกิด ระดับการศึกษา สถานศึกษา สถานที่ติดต่อ (ที่บ้าน) โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ พร้อมลายเซ็น
  • อาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมลายเซ็น
  • ผู้บริหารโรงเรียน พร้อมลายเซ็น
  • และมีข้อความรับรองว่า “โครงงานนี้เป็นความคิดริเริ่มของผู้พัฒนาโครงงานและไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากผู้ใดข้าพเจ้ายินดีและรับรองที่จะเป็นผู้ดูแลให้คำปรึกษา และควบคุมการวิจัยโครงงาน ให้สมบูรณ์เรียบร้อยตามเจตนา” พร้อมลายมือชื่อของอาจารย์ที่ปรึกษา และลายมือชื่อหัวหน้าสถาบันการศึกษารับรอง

หมายเหตุ: มื่อหัวหน้าโครงการทำการกรอกข้อมูลโครงงานเรียบร้อยแล้ว ทำการเลือกเมนูสร้างปกข้อเสนอโครงการ ระบบ SIMS จะทำการ Generate หน้าปกโครงงานให้โดยอัตโนมัติ ให้น้อง Print หน้าปก และนำไปให้ผู้เกี่ยวข้องลงนาม จากนั้นจึงนำมาแนบรวมกับไฟล์ข้อเสนอโครงงาน ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ตาม 1.2  

1.2 เนื้อหา ซึ่งระบุรายละเอียดต่างๆ ต่อไปนี้

  • บทนำ เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งอธิบายถึงเหตุผลในการทำโครงงานและสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการทำโครงงาน
  • ในกรณีที่เป็นโครงงานต่อเนื่อง ให้ระบุความแตกต่างระหว่างงานเดิมและงานที่พัฒนาขึ้นใหม่
  • ปัญหา (Problem or Question being addressed)
  • สมมติฐาน (Hypothesis) หรือ เป้าหมายของโครงงาน (Engineering Goals)
  • กระบวนการหรือขั้นตอนในการทำโครงงานอย่างละเอียด (Description in detail of method or procedures)
  • การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) วิธีการ/เทคนิคที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อที่จะตอบปัญหาหรือสมมติฐานที่ตั้งไว้ หรือ แผนการทดสอบการใช้งานจริงของต้นแบบที่พัฒนา
  • ประโยชน์และผลที่คาดว่าจะได้รับ
  • บรรณานุกรม (Bibliography-Library and Internet Research) ระบุแหล่งอ้างอิงอย่างน้อย 5 แห่ง จากหนังสือ (นอกเหนือจากหนังสือประกอบการเรียนการสอนปกติ) บทความวิชาการ วารสารทางวิทยาศาสตร์ หรือ อินเทอร์เน็ต       
ส่วนที่ 2

      2.1 ประวัติของผู้พัฒนา (นักเรียน) คำนำหน้าชื่อ (นาย/นาง/นางสาว) ชื่อ-นามสกุล ชั้นปี โรงเรียน

และผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ หากผลงานมีการส่งเข้าร่วมการประกวด หรือ ขอรับทุนจากแหล่งอื่น ผู้พัฒนาและอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องแจ้งให้ สวทช. ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

      2.2 ประวัติ ประวัติอาจารย์ที่ปรึกษา คำนำหน้าชื่อ (นาย/นาง/นางสาว) ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง สังกัด สถานที่ทำงาน การศึกษา และความเชี่ยวชาญ

    หมายเหตุ 

    1. ที่ปรึกษา หมายถึง ครู/อาจารย์จากโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการ-ศึกษาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  หรือผู้ที่เป็นข้าราชการ และพนักงานองค์กรของรัฐ
    2. ที่ปรึกษาของแต่ละโครงงาน สามารถมีมากกว่า 1 ท่าน แต่ไม่เกิน 2 ท่าน แต่จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละท่านเป็นที่ปรึกษาด้านใด และท่านใดเป็นที่ปรึกษาหลักของโครงงาน

การจัดทำรายงานและรายงานฉบับสมบูรณ์

          การเขียนรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงงาน จัดเตรียมไฟล์รายงานโดยใช้ฟอนต์ TH SarabunPSk หรือ TH Sarabun New ตัวอักษรขนาด 16 นิ้ว กำหนดขอบด้านซ้าย ด้านขวา บน และล่าง 1 นิ้ว พร้อมระบุเลขหน้าให้เรียบร้อย

รายงาน/รายงานฉบับสมบูรณ์จะต้องประกอบด้วย รายละเอียดต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. บทคัดย่อ หลังจากทำโครงงานเสร็จ เขียนบทคัดย่อประมาณ ½ – 1 หน้า บทคัดย่อประกอบด้วย (1) วัตถุประสงค์ (2) กระบวนการทดลอง (3) ผลการทดลอง (4) การวิเคราะห์ผล (5) สรุปผล (6) การประยุกต์ใช้งาน (ถ้ามี) อาจจะอ้างอิงถึงงานที่ทำมาก่อนหน้านี้ได้ แต่บทคัดย่อควรเน้นงานที่ทำในปัจจุบันและไม่รวมกิตติกรรมประกาศ หรืองานวิจัยของอาจารย์ที่ปรึกษา หลังจากจัดทำบทคัดย่อเรียบร้อยให้นักเรียนนำข้อมูลบทคัดย่อไปอัฟเดทในส่วนบทคัดย่อในระบบ SIMS ภายในวันที่ 10 ม.ค. 2565 ก่อน 17.00 น.
2. รายงานฉบับสมบูรณ์
 รายงานฉบับสมบูรณ์ควรจัดเตรียมควบคู่กับสมุดบันทึกข้อมูลโครงงาน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายงานฉบับสมบูรณ์ช่วยในการจัดข้อมูลและลำดับความคิด  รายงานฉบับสมบูรณ์ ควรประกอบด้วย
1) หน้าปก ควรประกอบด้วย ชื่อโครงงาน (ภาษาไทยและอังกฤษ) รหัสโครงงาน สาขาโครงงาน ชื่อ-นามสกุลผู้พัฒนาโครงงาน ระดับการศึกษา สถานศึกษา สถานที่ติดต่อ (ที่บ้าน) โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์
หมายเหตุ: สามารถดูตัวอย่างหน้าปกโครงงาน ตามหัวข้อตัวอย่างหน้าปกโครงงานด้านล่าง
2) สารบัญ
3) บทคัดย่อ
4) วัตถุประสงค์โดยละเอียด
5) กระบวนการทดลอง บรรยายรายละเอียดกระบวนการที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลและการสังเกต รายงานควรละเอียดเพียงพอที่ผู้อื่นสามารถที่จะทำการทดลองซ้ำจากข้อมูลในรายงานได้ อาจเพิ่มเติมภาพถ่ายหรือภาพวาดของอุปกรณ์ที่ออกแบบเองก็ได้
6) ผลการทดลอง
7) การวิเคราะห์ผล เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในรายงาน ผลการทดลองและสรุปผลควรมาจากข้อมูลที่ได้อย่างมีเหตุมีผล  ละเอียดรอบคอบ  แสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงลำดับความคิดและรู้ในสิ่งที่ท่านได้ทำ เปรียบเทียบผลการทดลองที่ได้จริงกับค่าทางทฤษฎี ข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ ความเชื่อโดยทั่วไป หรือผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อภิปรายถึงความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ข้อมูลมีการผันแปรอย่างไรบ้างในการทดลองที่เหมือนกันหลายๆ ครั้ง ผลการทดลองจะแตกต่างอย่างไรหากไม่ได้มีการควบคุมตัวแปรบางตัว จะทำการทดลองที่ต่างกันอย่างไรหากสามารถทำโครงงานใหม่อีกครั้ง การทดลองอื่นใดบ้างที่ควรทดสอบเพิ่มเติม
8) สรุปผล สรุปผลการทดลองโดยย่อ ระบุเฉพาะเจาะจงลงไป ไม่ควรเขียนแบบกว้างจนเกินไป หลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งใหม่ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้
9) กิตติกรรมประกาศ ควรให้เกียรติและระบุชื่อผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำโครงงาน รวมทั้งบุคคล บริษัท สถานศึกษาและสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทุนสนับสนุนหรือวัสดุที่ได้รับ ทั้งนี้ หากผลงานมีการส่งเข้าร่วมการประกวด หรือ ขอรับทุนจากแหล่งอื่น ผู้พัฒนาและอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องแจ้งให้เนคเทคทราบเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
10) บรรณานุกรม บรรณานุกรมหรือหนังสืออ้างอิง ควรระบุถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่ใช่ผลงานของตนเอง เช่น หนังสือ บทความในวารสารทางวิทยาศาสตร์หรืออื่นๆ อินเทอร์เน็ต โดยใช้การอ้างอิงที่ถูกต้องตามรูปแบบ

ตัวอย่างหน้าปกข้อเสนอโครงการ

ตัวอย่างหน้าปกรายงาน/รายงานฉบับสมบูรณ์