หลักเกณฑ์ในการตัดสินโครงงาน YSC

คณะกรรมการตัดสินเน้นการพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

  • ในรอบข้อเสนอโครงงาน เน้นการพิจารณาข้อเสนอโครงงาน ไม่ใช่การพิจารณาผลงานที่เสร็จเรียบร้อย หรือลงมือทำการทดลองแล้ว
  • สิ่งที่ผู้พัฒนาได้ทำในปีนี้ หรือ มีการพัฒนาการต่อยอดจากโครงงานเดิมพิจารณาเฉพาะเนื้อหาในส่วนที่พัฒนาเพิ่มในรอบการแข่งขัน YSC ปีนี้
  • ผู้พัฒนาได้ทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ดีเพียงใด ขั้นตอนในการทดลองใช้วิธีการที่ดีหรือไม่
  • รายละเอียดและความถูกต้องของงานวิจัยตามที่ออกแบบ และบันทึกในสมุดบันทึกข้อมูลโครงงาน
  • ผู้พัฒนามีแนวทางในการพัฒนาผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชุมชม สังคม สิ่งแวดล้อม หรือนำผลงานที่ได้ไปใช้งานจริงหรือไม่

คณะกรรมการพิจาณราคัดเลือกโครงงานที่ออกแบบการทดลองคิดค้นอย่างดีมีความละเอียดรอบคอบ นอกจากนี้คณะกรรมการให้ความสำคัญกับผู้พัฒนาที่สามารถพูดถึงผลงานของตนได้อย่างมั่นใจเต็มที่ ไม่ควรท่องจำบทพูด ผู้พัฒนาต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงความเข้าใจในโครงงานของตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ คณะกรรมการอาจสอบถามเพื่อทดสอบความรู้ซึ้งในโครงงาน เช่น บทบาทของแต่ละคนในการทำโครงงาน สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ และงานที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต เป็นต้น

 เกณฑ์ในการตัดสินรอบคัดเลือกข้อเสนอโครงงาน

หลักเกณฑ์

คะแนน

เทคนิค (Technical)   โครงงานประเภททดลอง  ต้องมีกระบวนการวิทยาศาสตร์รองรับสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้  โครงงานประเภทประดิษฐ์  ต้องมีแผนการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ มีแผนการทดสอบนวัตกรรม

40

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความน่าสนใจ ความแปลกใหม่ นวัตกรรม

40

การจัดทำข้อเสนอโครงงาน (Proposal) มีหัวข้อ และรูปแบบครบตามที่โครงการกำหนด

20

คำอธิบายเกณฑ์การตัดสินเพิ่มเติม

          1) เทคนิค (Technical) 40 คะแนน

          แนวคิด การกำหนดปัญหา และเป้าหมายชัดเจน มีทฤษฎี/หลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ มีการออกแบบการทดลองและควบคุมตัวแปร มีแผนการออกแบบ/พัฒนาต้นแบบ/ทดสอบใช้งานจริงการวิเคราะห์ข้อมูลมีหลักการและน่าเชื่อถือ

             กรณีเป็นโครงงานประเภททดลอง มีแนวทางพิจารณาจากระดับปริมาณและคุณภาพของทักษะที่ใช้ ดังนี้

  1.  มีแนวคิด และการกำหนดปัญหาชัดเจน
  2.  สมมติฐาน/แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อไปสู่เป้าหมาย มีทฤษฎี/หลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ
  3.  วางแผนออกแบบการทดลองและควบคุมตัวแปรอย่างถูกต้อง เทคนิคที่จะใช้ประมวล/วิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีหลักการ และมีความน่าเชื่อถือ
  4.  มีการอ้างอิงหลักฐานการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่เชื่อถือได้อย่างเหมาะสม

              กรณีเป็นโครงงานประเภทประดิษฐ์ มีแนวทางพิจารณาจากระดับของปริมาณและคุณภาพของทักษะที่ใช้ ดังนี้

  1.   มีแนวคิด และการกำหนดปัญหา/เป้าหมายชัดเจน
  2.  มีแผนการออกแบบและกรรมวิธีไปสู่การสร้างต้นแบบที่ประดิษฐ์ได้จริง
  3.  มีการวางแผนในการทดสอบการใช้งานจริง
  4.  มีการคาดการณ์ปัญหาและมีแผนการพัฒนาต้นแบบให้ดีขึ้น
  5. มีการอ้างอิงหลักฐานการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่เชื่อถือได้อย่างเหมาะสม

2) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) 40 คะแนน

          เป็นเรื่องหรือหัวข้อที่แปลกใหม่ น่าสนใจ มีศักยภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ โดยมีแนวทางการพิจารณา ดังนี้

             ความน่าสนใจ

  1.  ชี้ปัญหาที่เป็นจุดเริ่มของการเสนอโครงงานได้
  2.  บอกเหตุผลว่า โครงงานที่ต้องการทำสอดคล้องกับปัญหาได้
  3.  บอกเหตุผลว่า วิธีการที่ใช้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาได้

             ความคิดริเริ่ม-มีความใหม่ทั้งในหัวข้อโครงงาน วิธีการ และการออกแบบการทดลอง

             นวัตกรรม-เป็นโครงงานใหม่ที่น่าสนใจ และมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง/สร้างสรรค์นวัตกรรมได้

3) การจัดทำข้อเสนอโครงงาน (Proposal) 20 คะแนน

          ข้อเสนอโครงงานมีเนื้อหาและหัวข้อครบถ้วน สามารถสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจได้ มีความชัดเจน มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูล โดยมีแนวทางการพิจารณา ดังนี้

  1.  มีเนื้อหา/หัวข้อต่างๆ ค่อนข้างครบ อ่านแล้วต้องทำความเข้าใจ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าต้องการจะทำอะไร
  2.  มีเนื้อหา/หัวข้อต่างๆ ครบ อ่านแล้วเข้าใจเป็นอย่างดีว่าต้องการอะไร
  3.  มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ และถูกต้องตามหลักวิชาการ
  • เกณฑ์ในการตัดสินรอบนำเสนอผลงาน (รองชนะเลิศ) และรอบชิงชนะเลิศ

หลักเกณฑ์

โครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานวิศวกรรมศาสตร์

โจทย์หรือปัญหาในการทำโครงงาน
(Research Question)

10 คะแนน

– วัตถุประสงค์มีความชัดเจน
– ระบุสิ่งที่จะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ในสาขาที่ศึกษา
– สามารถทดลองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้

– ระบุถึงความต้องการหรือปัญหาที่จะแก้ไข
– มีการนิยามเงื่อนไขของคำตอบหรือสิ่งที่แก้ปัญหา
– มีการอธิบายถึงข้อจำกัด

การออกแบบและกระบวนการทดลอง (Design and Methodology)

10 คะแนน

– มีการวางแผนและวิธีการรวบรวมข้อมูลที่ดี
– มีการกำหนดตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ตัวแปรควบคุม ที่เหมาะสมและสมบูรณ์

– มีการสำรวจทางเลือกต่างๆ เพื่อจะตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหา
– ระบุคำตอบหรือวิธีแก้ปัญหา
– การพัฒนาต้นแบบ

การทดลองและประดิษฐ์ (Execution)
20 คะแนน

– รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ
– ผลการทดลองสามารถทำซ้ำใหม่ได้
– ประยุกต์ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์และสถิติอย่างเหมาะสม
– รวบรวมข้อมูลได้เพียงพอที่จะสนับสนุนการวิเคราะห์และสรุปผล

– ต้นแบบต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามที่ออกแบบ
– ต้นแบบต้องมีการทดสอบในเงื่อนไขที่หลากหลายและเพียงพอ
– ต้นแบบต้องแสดงให้เห็นถึงทักษะทางวิศวกรรมและความสมบูรณ์

ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
20 คะแนน

– โครงงานแสดงให้เห็นถึงจินตนาการและการประดิษฐ์สิ่งใหม่
– นำเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปซึ่งนำไปสู่วิธีการหรือทางเลือกใหม่ๆ โดยเน้นที่ผลการทดลอง

การนำเสนอโปสเตอร์ (Poster Presentation)
10 คะแนน

– การจัดเรียงและนำเสนอโปสเตอร์เป็นไปตามลำดับและเข้าใจง่าย
– รูปภาพ กราฟ คำอธิบายประกอบที่ชัดเจน
– มีเอกสารประกอบจัดแสดงด้วย

การสัมภาษณ์ (Interview)

25 คะแนน

– ตอบคำถามได้กระชับ ชัดเจน และช่างคิด
– เข้าใจหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
– เข้าใจการแปลผล และข้อจำกัดของผลการทดลองและการสรุปผล
– ระดับขั้นของการทำโครงงานที่เป็นอิสระด้วยตนเอง
– ตระหนักถึงศักยภาพหรือผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจ
– มีความคิดในการทำวิจัยต่อยอด
– การมีส่วนร่วมและความเข้าใจในโครงงานของสมาชิกทุกคนในทีม

ผลกระทบของโครงงานในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Impact)

5 คะแนน 

– ผลการพัฒนาโครงงาน มีผลกระทบของโครงงานในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
– สามารถนำผลการทดลองไปทดลองซ้ำและใช้งานได้จริงในชุมชม
– สามารถนำผลงานไปเผยแพร่ต่อยอดได้
– มีความพร้อมและการเตรียมการจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร