หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “EECi” เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
“EECi” เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
13 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“EECi” เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

“ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน” 

            จากนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ที่มีนวัตกรรมเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต “โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ “อีอีซี” ได้ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวโดยดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

            การจะพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและตอบสนองต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนไปได้นั้น จำเป็นจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่เน้นใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่มีในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาระดับห้องปฏิบัติการและเทคโนโลยีที่มีในต่างประเทศนั้นก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที จำเป็นต้องเอามาปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูง (Technology Localization) ให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและตลาดในประเทศและภูมิภาคก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรืออีอีซีไอ (EECi) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัย การทดสอบการสาธิตเทคโนโลยี การประเมินความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเชิงเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศมาสู่การใช้ประโยชน์จริงใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1. นวัตกรรมการเกษตร 2. ไบโอรีไฟเนอรี 3. แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ 4. ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5. เทคโนโลยีการบินและอากาศยานไร้นักบิน และ 6. เครื่องมือแพทย์บนพื้นที่กว่า 3,454 ไร่ ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในทุกภาคส่วน 

            เพื่อให้อีอีซีไอสามารถทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน เพื่อการต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และยกระดับความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนได้ประสบความสำเร็จนั้น ดังนั้นอีอีซีไอจึงได้รับการออกแบบให้เป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำ (Innovation Ecosystem) ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมชั้นนำสำหรับการวิเคราะห์ ทดสอบและการขยายผล ห้องปฏิบัติการวิจัยของภาครัฐและเอกชน ศูนย์วิจัยของบริษัทเอกชนไทยและบริษัทข้ามชาติ หน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยีชั้นนำ และนักลงทุน และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่มาจัดตั้งบริษัทและทำงานร่วมกันอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้อีอีซีไอยังได้ออกแบบพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับชุมชนนวัตกรขนาดใหญ่ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกร นักคิดค้นเทคโนโลยี นักลงทุนด้านนวัตกรรม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างลงตัว

            อีอีซีไอถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญระดับประเทศ ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่อีอีซีไอ (ระยะที่ 1) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยปัจจุบัน มีความคืบหน้าในการดำเนินการ คือ ได้ก่อสร้างกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่อีอีซีไอก้าวหน้าไปประมาณ 70% มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณกันยายน พ.ศ. 2564 นี้ โดยหลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องการตกแต่งพื้นที่ และคาดว่าจะพร้อมเปิดใช้งานราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2565

            ส่วนความคืบหน้าในการเตรียมการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของอีอีซีไอที่ได้เริ่มทยอยพัฒนาไปแล้วนั้น ตัวอย่างเช่น

            1. เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมการแปรรูปชีวมวล รวมถึงวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีมูลค่าต่ำไปสู่สารสกัดที่มีมูลค่าสูงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์ อุตสาหกรรมยา อาหารเสริมและเครื่องสำอางได้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในต้นปี พ.ศ. 2567 การเริ่มพัฒนาโรงเรือนปลูกพืชและโรงงานผลิตพืช (Smart Green house) เพื่อทดลองปลูกพืชสมุนไพรในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมและจะจัดทำศูนย์สาธิตเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming Demo Site) ใน 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี โดยดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นต้น

            2. เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ซึ่งในปีนี้ได้เริ่มพัฒนาศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center) เพื่อสาธิตสายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 4.0 ให้เป็นสถานที่พัฒนา/ทดลองทดสอบความเข้ากันได้ของอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ก่อนนำไปใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนากำลังคน ให้คำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรม และบริการจับคู่ความต้องการเทคโนโลยีและผู้ให้บริการอีกด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี พ.ศ. 2565

            3. เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) ได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาพื้นที่ทดลองและทดสอบอากาศยานไร้นักบิน (UAV Sandbox) ขึ้นในวังจันทร์วัลเลย์ และอยู่ในระหว่างพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อดึงดูดให้นำงานวิจัยมาทดสอบที่พื้นที่ทดลอง (Sandbox) นี้

            4. เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน (Synchrotron Light Source) เครื่องที่สองของประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่เปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ในการวิจัยในระดับโมเลกุล ตอนนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบและคาดว่าจะเริ่มสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้ในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

            นอกจากความก้าวหน้าในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว อีอีซีไอยังมีแพลตฟอร์มสำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการและชุมชนที่ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับ SMEs และ Startups ไปแล้ว 294 ราย โดยการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้น 201 ล้านบาทและก่อให้เกิดการลงทุนของเอกชนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวม 54 ล้านบาท รวมถึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการเกษตรสู่ชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 191 ชุมชน และยังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับสถานศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรวมทั้งสิ้นกว่า 7,400 คน และจะมีโปรแกรมการเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการเทคโนโลยี (Deep Tech Acceleration) ที่จะเริ่มดำเนินการได้ในกลางปีหน้า

            นอกจากนี้หากอีอีซีไอจะก้าวไปสู่การเป็นเขตนวัตกรรมชั้นนำใต้นั้น อีอีซีไอจะต้องเร่งดำเนินการ เช่น การดึงดูดผู้มีความสามารถสูงเข้ามาเพิ่มเติมในอีอีซีไอหรือในส่วนอื่นของประเทศเพื่อให้เกิดมวลที่มากพอสำหรับระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมการดึงดูดสถาบันวิจัยชั้นนำของต่างประเทศให้เข้ามาเปิดศูนย์ความเป็นเลิศในประเทศไทย การทำงานกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพิ่มเติมเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสร้างการยอมรับจากผู้ที่มีส่วนได้เสียและชุมชนในพื้นที่ เป็นต้น

            ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดทั้งมวลที่จะเกิดขึ้น จะทำให้อีอีซีไอเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน สถาบันวิจัย/มหาวิทยาลัย และชุมชน เพื่อการต่อยอดการทำวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ อันจะนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: