ผลการค้นหา :

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ คลังความรู้และต้นทุนอนาคตของชาติ
ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ คลังความรู้และต้นทุนอนาคตของชาติ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีสิ่งมีชีวิตประมาณ 10% ของชนิดสิ่งมีชีวิตที่พบในโลก ขณะที่พืชที่พบในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 20,000 ชนิด คิดเป็น 8% ของพืชที่คาดว่ามีในโลก ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมถึงจุลินทรีย์ต่าง ๆ ก็คือทรัพยากรอันมีค่า และเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ความอุดมสมบูรณ์ที่มาจากธรรมชาติเหล่านี้ก็สามารถที่จะหมดไปได้ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีมากกว่าหลายร้อยเท่า ทั้งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งหากใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ขาดการบำรุงรักษา หรือไม่มีการพัฒนาระบบให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนด้วยแล้ว ทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้ก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ได้สนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการบิ๊กร็อกให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดตั้ง “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ : ไบโอแบงก์ (National Biobank of Thailand: NBT) ขึ้น เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติในการเป็นแหล่งจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว (Long-termPreservation) ประกอบด้วยวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) และข้อมูลทางชีวภาพ (Biodata) มีกระบวนการจัดเก็บที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการไว้นอกสภาพธรรมชาติ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ ป้องกันการปนเปื้อน และบำรุงรักษาให้คงสภาพการมีชีวิตได้อย่างยาวนาน และเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทางที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบครบถ้วนสำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน ทั้งนี้ทรัพยากรชีวภาพหรือวัสดุชีวภาพที่นำเข้ามาจัดเก็บในธนาคารฯ จะได้รับการวิจัยและกำกับด้วยข้อมูลชีวภาพที่สำคัญต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่น การศึกษาข้อมูลอนุกรมวิธาน การศึกษาระดับโมเลกุล ระดับยีน ข้อมูลสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ และศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ การวิจัยเหล่านี้มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการจัดเก็บตัวอย่างชีวภาพในสภาวะต่ำกว่าจุดเยือกแข็งจาก Brooks Life Science Systems เทคโนโลยีการปลูกพืชหนาแน่นในระบบปิด หรือ Plant Factory ซึ่งมีการควบคุมปัจจัยการเจริญของพืชแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบปลอดเชื้อ ระบบการระบุเชื้อจุลินทรีย์ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีชีวสารสนเทศเพื่อการจัดการและประมวลผลข้อมูลชีวภาพ (Bioinformatics) รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่บนคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ปัจจุบันธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ได้เก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ ไวรัส เชื้อรา และในรูปแบบของคลังข้อมูลดิจิทัลของยีนของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมาเก็บไว้ในที่เดียวกัน เช่น ธนาคารจุลินทรีย์ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ และธนาคารยีน
สําหรับผลงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ผ่านมา นักวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติได้สำรวจเก็บตัวอย่างและจัดจำแนกชนิดของจุลินทรีย์จากถ้ำในอุทยานธรณีสตูล (อุทยานธรณีโลกแห่งแรกในไทย โดยยูเนสโก) จำนวน 2 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน ที่มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายของราและถ้ำภูผาเพชร ที่มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายของราและแบคทีเรียในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถคัดแยกและจำแนกชนิดของราและแบคทีเรียได้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ภารกิจของนักวิจัย รวมถึงผลการศึกษาต่าง ๆ จะเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติในระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ไบโอเทค สวทช. ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมมือกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชเหล่านี้ในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ในสภาพปลอดเชื้อ อีกทั้งยังร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างบนบกกับทะเล และเป็นจุดเริ่มต้นห่วงโซ่อาหารชายฝั่ง โดย สวทช. ใช้เทคโนโลยีในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนผ่านศูนย์โอมิกส์และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โดยเป็นการวิจัยในระดับจีโนมและพันธุกรรม มุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลน เพื่อศึกษาลักษณะพิเศษของพืชแต่ละชนิด รวมถึงวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว นำไปสู่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลนและปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต สำหรับโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย สวทช. โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลด้านชีวสารสนเทศเพื่อรองรับการบริหารจัดการ จัดเก็บ ประมวลผลข้อมูลพันธุกรรมประชากรไทย เพื่อจัดตั้งเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมอ้างอิง เพื่อใช้ในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สวทช. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้บริการการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว ซึ่งปัจจุบันมีการจัดเก็บพืช 1,391 ตัวอย่าง จุลินทรีย์ 6,051 ตัวอย่าง ข้อมูลจีโนม 6,051 ตัวอย่าง และข้อมูลดีเอ็นเอ 12,936 ตัวอย่าง วัสดุชีวภาพที่จัดเก็บใน “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ" เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไปดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

เทคโนโลยีปรับโครงสร้างเนื้อสัมผัส ตอบโจทย์นวัตกรรมอาหารทางเลือก
เทคโนโลยีปรับโครงสร้างเนื้อสัมผัส ตอบโจทย์นวัตกรรมอาหารทางเลือก
ในยุคที่ “อาหาร” เป็นได้มากกว่าสิ่งที่ทำให้อิ่มท้อง แต่ต้องตอบความต้องการเฉพาะด้านได้ โดยเฉพาะเรื่องของสุภาพ ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อ เลือกใช้ เป็นโจทย์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองเห็นมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และได้เริ่มลงมือวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในยุคที่มีความต้องการที่หลากหลาย หรือมีความจำเป็นของคนเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงผู้ที่ต้องการดูแลใส่ใจสุขภาพ
อย่างเช่นนวัตกรรม “ผงเพิ่มความหนืดในอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก” ด้วยอายุที่มากขึ้น สวนทางกับระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายที่เสื่อมถอยลง หนึ่งในนั้นคือ ภาวะกลืนลำบาก หรือ Dysphagia ที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนมีปัญหาบีบตัวผิดจังหวะ ทำให้น้ำหรืออาหารหลงเหลือในบริเวณคอหอยและมีโอกาสเล็ดลอดเข้าสู่หลอดลมทำให้เกิดการสำลัก ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบมากในผู้สูงอายุและในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท ทีมวิจัยวัสดุศาสตร์อาหาร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้รับจ้างวิจัยกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งพัฒนา “ผงเพิ่มความหนืด” ที่สามารถใช้เติมไปในน้ำหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ให้มีความหนืดเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากสามารถดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยและไม่เกิดอาการสำลักได้ ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการบริโภคเช่นเดียวกับคนที่จัดฟัน และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพฟัน ซึ่งมักหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีเนื้อสัมผัสเหนียว แข็งกระด้าง ทีมนักวิจัยฯ จึงพัฒนา “อาหารที่บดเคี้ยวและกลืนง่ายสำหรับผู้สูงอายุ” โดยใช้เทคโนโลยีของกระบวนการปรับโครงสร้างร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัส เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มเคี้ยว และกลืนง่าย มีความฉ่ำน้ำสูง อีกทั้งยังคงรูปร่างได้ จึงสามารถหั่นหรือตัดเป็นชิ้นได้ กระบวนการปรับโครงสร้างร่วมกับการใช้ตัวปรับเนื้อสัมผัสนี้ทำให้โครงสร้างเนื้อสัตว์นุ่ม บดเคี้ยวและกลืนง่าย ประกอบไปด้วยเส้นใยโปรตีน เนื้อสัตว์ ตัวปรับเนื้อสัมผัส และอนุภาคน้ำ โดยจุดเด่นคือ มีเนื้อสัมผัสนุ่ม บดเคี้ยวง่ายด้วยฟันหรือเหงือก มีปริมาณไขมันสัตว์น้อย มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังมีลักษณะปรากฏที่คล้ายอาหารที่เตรียมจากเนื้อสัตว์ทั่วไป สามารถนำไปเตรียมเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ คั่วกลิ้ง ลาบหมู มัสมั่นหมู หมูกระเทียม ซึ่งช่วยให้ความรู้สึกในการบริโภคคงเดิม ปัจจุบันงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ระหว่างการต่อยอดเพื่อศึกษาคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสกับผู้ทดสอบกลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะการเคี้ยวและกลืนลำบาก นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทีมนักวิจัยฯ ยังสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้ที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพและโภชนาการ เนื่องจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพมักจะมีรสชาติที่แตกต่างไปจากอาหารปกติที่คุ้นชิน เช่น ไส้กรอก หนึ่งในอาหารที่หาซื้อง่าย สะดวก รวดเร็ว จนหลายบ้านเลือกซื้อไส้กรอกติดบ้าน แต่ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสัตว์ สูงถึง 20-25% ของส่วนประกอบทั้งหมด และยังมีปริมาณกรดอิ่มตัวสูงอีกด้วย หากรับประทานมากเกินไปอาจไม่ดีต่อสุขภาพ ทีมนักวิจัยฯ ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร พัฒนา “ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์ไขมันต่ำ” ภายใต้โจทย์ที่ทำให้ไส้กรอกยังคงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่อร่อยเหมือนเดิม แต่มีปริมาณไขมันที่ต่ำลง ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์ไขมันต่ำที่พัฒนาขึ้นจึงคงคุณภาพเนื้อสัมผัสและประสาทสัมผัสคล้ายคลึงกับสูตรควบคุม จากการแทนที่ไขมันสัตว์ด้วยของผสมจากสารทดแทนไขมัน สารปรับสมบัติเชิงรีโอโลยีและตัวเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ ตลอดจนการปรับสัดส่วนองค์ประกอบเนื้อสัตว์และองค์ประกอบที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ในสูตร รวมทั้งการปรับสภาวะในกระบวนการผลิต จากนั้นนำไส้กรอกไขมันต่ำที่ได้มาทดสอบสมบัติเนื้อสัมผัส สมบัติเชิงกายภาพ และเชิงเคมี รวมถึงการทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัสเชิงพรรณนาเปรียบเทียบกับสูตรควบคุม ผลลัพธ์จากความร่วมมือในครั้งนี้ จึงได้ต้นแบบไส้กรอกไขมันต่ำที่ได้มีปริมาณไขมันน้อยกว่า 4% อีกทั้งยังให้พลังงานต่ำ และมีปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำอีกด้วย ที่สำคัญคือมีเนื้อสัมผัสไม่แตกต่างจากไส้กรอกสูตรดั้งเดิม บริษัทเบทาโกรฟู้ดส์ จำกัด ได้นำสูตรต้นแบบไส้กรอกแฟรงค์เฟอร์เตอร์หมูไขมันต่ำที่พัฒนาขึ้นไปศึกษาการขยายกำลังการผลิต และนำแนวทางการพัฒนาไปใช้กับผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำในกลุ่มอิมัลชันจากเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งวางจำหน่ายสู่เชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตนและผู้บริโภคที่สนใจดูแลสุขภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารปราศจากกลูเตนได้รับความนิยมเพิ่มตามไปด้วย แต่การที่โปรตีนกลูเตนขาดหายไป ส่งผลกระทบต่อลักษณะปรากฏและคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสของอาหาร ภาคเอกชนอย่างบริษัทเคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด มองเห็นโอกาสของตลาดของผลิตภัณฑ์ปราศจากกลูเตนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้น และมีศักยภาพในด้านการวิจัยและพัฒนา จึงได้ร่วมมือกับทีมนักวิจัยฯ ในการพัฒนา “ขนมปังแซนด์วิชและครัวซองต์ปราศจากกลูเตน” โดยใช้ฟลาวข้าวเจ้าเป็นองค์ประกอบหลัก เนื่องจากประเทศไทยผลิตฟลาวข้าวเจ้าได้ในปริมาณมากและฟลาวข้าวเจ้าไม่มีกลูเตนเป็นองค์ประกอบ จึงไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ลักษณะปรากฏและคุณภาพเชิงประสาทสัมผัสยังคงใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์เดิมที่ผู้บริโภคชื่นชอบ ขนมปังแซนด์วิชและครัวซองต์จากฟลาวข้าวเจ้าพัฒนาขึ้นจากการเพิ่มส่วนผสมของสตาร์ชธรรมชาติ สตาร์ชดัดแปร รวมถึงไฮโดรคอลลอยด์เพื่อช่วยให้แป้งโดมีสมบัติวิสโคอิสาสติกที่เหมาะสม ส่งผลให้ขนมปังขึ้นฟูขณะหมัก ไม่ยุบตัวเมื่ออบ ขณะเดียวกันก็ทำให้แป้งโดครัวซองต์มีความแข็งแรงและสามารถยืดตัวได้ดีในกระบวนการพับและรีดในขั้นตอนการผลิต ทําให้ได้ผลิตภัณฑ์หลังอบที่ได้มีลักษณะปรากฏและเนื้อสัมผัสที่ดี อีกทั้งยังผ่านการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสด้วยวิธี 9-Point hedonic Scale แล้ว ด้านอาหารทางเลือก นักวิจัยเอ็มเทคพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช (Plant-based chicken meat) ขึ้น โดยอาศัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างของอาหาร และคุณสมบัติของโปรตีน ประกอบกับการใช้สารที่ทำหน้าที่ยึดเกาะและเส้นใยอาหารที่เหมาะสมในการสร้างเนื้อสัมผัสให้คล้ายคลึงกับเนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถปั้นขึ้นรูปได้ง่ายภายหลังการปั่นผสม และสามารถนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแช่แข็ง ทำให้ง่ายต่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืชสามารถนำไปปรุงสุกด้วยวิธีการชุบทอด ย่าง ผัด หรือ แกง ให้ลักษณะเนื้อสัมผัสที่คล้ายอาหารที่ปรุงจากเนื้อไก่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืชนี้ยังมีปริมาณโปรตีนประมาณ 10-16% มีปริมาณใยอาหารประมาณ 6-10% และมีปริมาณไขมันจากพืชประมาณ 6-9% จึงปราศจากคอเลสเตอรอล โดยปริมาณสารอาหารและความนุ่มของผลิตภัณฑ์ฯ ขึ้นอยู่กับปริมาณส่วนผสมที่ใช้ในสูตรที่สามารถปรับได้ตามความต้องการสวทช. มุ่งมั่นในการวิจัย พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อผู้บริโภคและสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

จากอนุภาคนาโนสมุนไพรไทยสู่สูตรตํารับเวชสําอาง
จากอนุภาคนาโนสมุนไพรไทยสู่สูตรตำรับเวชสำอาง
ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลกพันธุ์พืชโดยเฉพาะสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับถึงประสิทธิภาพของสารสำคัญที่มีความหลากหลายของฤทธิ์ทางชีวภาพ แต่ข้อจำกัดของการต่อยอดใช้ประโยชน์จากสมุนไพรนั้น อาจต้องอาศัยการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้มาปิดช่องว่างเหล่านั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จึงเดินหน้าใช้ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano-encapsulation) เพื่อกักเก็บและนำส่งสารสำคัญสำหรับการพัฒนาเป็นสูตรตำรับเครื่องสำอางและเวชสำอาง เทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano-encapsulation) เป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสารสกัดจากสมุนไพรด้วยนาโนเทคโนโลยี ทั้งในด้านการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ความคงตัว การนำส่งและการปลดปล่อยสารสำคัญ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตทดแทนวัตถุดิบตั้งต้นแบบเดิมและการพัฒนาสูตรตำรับต่าง ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ งานวิจัยด้านเครื่องสำอางและเวชสำอางของนาโนเทค สวทช. นี้ มุ่งเน้นการใช้สารสำคัญประเภทสารสกัดจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์เหมาะสมกับการใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผิวกาย เส้นผม นอกจากนี้นาโนเทค สวทช. ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม สารเคมีสำหรับไล่ยุง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยคุณสมบัติต่าง ๆ อีกด้วย
สำหรับการพัฒนาระบบนำส่งในระดับนาโนเมตรหรือที่เรียกว่า “อนุภาคนาโน” โดยใช้เทคโนโลยีห่อหุ้มก็คือกระบวนการกักเก็บสารสำคัญไว้ภายในโครงสร้างทางเคมีเพื่อเพิ่มสมบัติพิเศษ เช่น เพิ่มความคงตัวทางกายภาพ ลดความเข้มของสี ลดกลิ่น ควบคุมการปลดปล่อยของสารสำคัญ เพิ่มการซึมผ่านของสารสำคัญและควบคุมอัตราการปลดปล่อยสารสำคัญ (Controlled release) ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ได้ในปริมาณที่น้อยลง ทั้งนี้การเลือกใช้รูปแบบเทคโนโลยีนั้นขึ้นกับสมบัติของสารที่ต้องการกักเก็บไว้ภายในอนุภาค เช่นเดียวกับต้นแบบนวัตกรรมที่น่าสนใจ อย่างเช่นเจลลดการอักเสบสิวจากบัวบก มังคุด และกานพลู ที่มาจากงานวิจัย “อนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งบัวบก มังคุด กานพลูสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอาง” ซึ่งพัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งสารสกัดบัวบก สารสกัดเปลือกมังคุด และน้ำมัน กานพลู ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติ อนุภาคนาโนที่พัฒนาขึ้นจะมีขนาดอยู่ในช่วง 100-200 นาโนเมตร ที่สามารถกักเก็บสารสำคัญได้หลากหลายรูปแบบและมีความคงตัวของอนุภาคที่ดี สารสกัดทั้งบัวบก เปลือกมังคุด และกานพลู มีสมบัติที่โดดเด่นทั้งทางชีวภาพและทางเภสัชศาสตร์ ลดการเกิดรอยดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ใกล้เคียงกับยาไดโคลฟีแนก รวมถึงความสามารถในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังในกลุ่มของ Staphylococcus aureus และ Propio nibacterium acnes ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสิว ดังนั้นอนุภาคนาโนเพื่อการนำส่งสารสมุนไพรที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ได้หลายรูปแบบเหมาะสำหรับการประยุกต์ใช้ในการเตรียมสูตรเภสัชภัณฑ์ใช้ภายนอกร่างกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านชั้นผิวหนังของอนุภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลงานวิจัยนี้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรและต่อยอดสร้างต้นแบบเจลแต้มสิวและพร้อมให้เอกชนและผู้ที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ทีมนักวิจัยนาโนเทค สวทช. ยังร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) วิจัยและพัฒนา “ซีรัมบำรุงผิวหน้าเซริซิน”
เนื่องจากโปรตีนกาวไหมเซริซินมีสมบัติด้านเวชสำอาง มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อิลาสเทส ทำให้เกิดความชุ่มชื้นกับผิวพรรณเมื่อใช้เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทีมนักวิจัยฯ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ซีรัมที่มีส่วนผสมสารสกัดจากไหมคุณภาพดี ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต โดยพัฒนาสูตรตำรับซีรัมบำรุงผิวด้วยเทคโนโลยีการห่อหุ้มเซริซินด้วยลิโพโซม (Liposome) เพื่อกักเก็บสารสำคัญและเพิ่มสมบัติของสารออกฤทธิ์และช่วยการซึมซาบได้ดียิ่งขึ้น ส่วนผสมของอนุภาคห่อหุ้มเซริซินระดับนาโนที่ได้มีความคงตัวทางกายภาพและทางเคมี ทดสอบความคงตัวไม่มีการแยกชั้น และสามารถรักษาสภาพความคงตัวอยู่ได้นานถึงสองปี ผ่านการทดสอบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์และประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตามมาตรฐาน และผ่านการทดสอบการระคายเคืองในอาสาสมัครจำนวน 200 คน พบว่าไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ปัจจุบันต้นแบบซีรัมบำรุงผิวชะลอวัยจากโปรตีนกาวไหมได้เปิดให้เอกชนและผู้ที่สนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนกลุ่มผู้ทอผ้าไหมของประเทศได้มีโอกาสสร้างรายได้จากการเป็นผู้จัดเตรียมวัตถุดิบชั้นดีป้อนให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจต่อไป สำหรับใบหมี่และบัวบกซึ่งเป็นสมุนไพรธรรมชาติที่ใช้ทั่วไปในการผลิตแชมพูของภูมิปัญญาชาวบ้าน จากการศึกษาเบื้องต้นฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่า สารสกัดใบหมี่มีความสามารถในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผม ส่วนใบบัวบกมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบของผิวหนัง ทีมนักวิจัยนาโนเทค สวทช. ได้วิจัย “อนุภาคสารสกัดใบหมี่และบัวบกสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง” ขึ้น โดยการพัฒนาอนุภาคไลโปไนโอโซมของสารสกัดใบหมี่ บัวบก และใบหมี่ผสมบัวบก ด้วยการพัฒนาระบบห่อหุ้มที่ช่วยเพิ่มความคงตัวของสารสกัด พร้อมทั้งพัฒนาคุณสมบัติทางกายภาพเชิงเคมี เพื่อง่ายต่อการนำไปใช้ในการขึ้นสูตรตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและมีความปลอดภัย การพัฒนาอนุภาคไลโปไนโฮโซมของสารสกัดใบหมี่ บัวบก และใบหมี่ผสมบัวบก เป็นการหุ้มสารสกัดสมุนไพรด้วยอนุภาคนาโน ทำให้ความคงตัวเพิ่มสูงขึ้น ลดปัญหาสี กลิ่น การตกตะกอนที่ไม่ถูกใจผู้ใช้ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นรากผม ซึ่งผลจากการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการกับเซลล์ผิวหนังและเซลล์รากผม พบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผมได้ดีเทียบเท่ากับยารักษาอาการผมร่วงที่มีอยู่ในท้องตลาด และลดการอักเสบในเซลล์รากผม ที่สำคัญยังปลอดภัย ด้วยผลการทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์ผิวหนังและเซลล์รากผม รวมถึงผ่านการทดสอบการระคายเคืองและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันต้นแบบผลิตภัณฑ์แชมพู ครีมนวด และแฮร์โทนิกกระตุ้นการเจริญเติบโตรากผมจากใบหมี่ บัวบก อยู่ระหว่างเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนและผู้ที่สนใจเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อไปดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“TBRC” ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย
"TBRC"
ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย
จุดแข็งของประเทศไทย ต่อยอดทางเศรษฐกิจ
จุลินทรีย์และชีววัสดุ เป็นหนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ
แต่ด้วยความหลากหลายของจุลินทรีย์และชีววัสดุในประเทศไทยที่มีสูงมากแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งเก็บจุลินทรีย์และชีววัสดุจำนวนมากกระจายอยู่ตามหน่วยงานและสถาบันการศึกษา แต่ก็ยังไม่มีศูนย์ใดที่จะสามารถรองรับการจัดเก็บรักษาจุลินทรีย์ได้ทุกชนิด ขณะเดียวกันการอนุรักษ์ เก็บรวบรวม และรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุเหล่านี้ให้คงอยู่ในระยะยาว จำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บที่ถูกต้องและมีมาตรฐาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและยังคงคุณภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการเก็บรวบรวมและรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุในประเทศไทย และเกิดการเข้าถึง แบ่งปัน และนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจได้มากขึ้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สะสมองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์มากว่า 20 ปี โดยจัดตั้งเป็นห้องปฏิบัติการเก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ (BIOTEC Culture Collection: BCC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และต่อยอดองค์ความรู้เหล่านี้ พร้อมทั้งจัดตั้ง "ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center:TBRC)" ขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการชีววัสดุที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ
ครอบคลุมบริการชีววัสดุประเภทต่าง ๆ ทั้งจุลินทรีย์ ดีเอ็นเอ พลาสมิดโมโนโคลนอลแอนติบอดี ไฮบริโดรมา เชลล์สัตว์ และเนื้อเยื่อพืช รวมทั้งให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีววัสดุแบบครบวงจร ศูนย์ TBRC ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอาคารนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี ซึ่งสามารถรองรับการทำวิจัยของภาคเอกชนที่จะมีเข้ามาใช้บริการได้เพิ่มมากขึ้น การบริการของศูนย์ฯ แห่งนี้ เน้นที่การสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในภาคอุตสาหกรรม ด้วยระบบการบริหารจัดการชีววัสดุที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านการจัดเก็บรักษาชีววัสดุ การบริการฐานข้อมูลเชิงบูรณาการสำหรับชีววัสดุของประเทศ เพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากชีววัสดุได้อย่างยั่งยืน และการดำเนินการที่สอดคล้องรองรับกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ อีกทั้งยังมุ่งสร้างกลไกการพัฒนาฐานทรัพยากรจุลินทรีย์และเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ TBRC มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับกฎระเบียบนานาชาติในเรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในฐานะศูนย์ชีววัสดุของประเทศ ปัจจุบันได้มีการจัดทำร่างแนวทางการบริหารจัดการชีววัสดุ การจัดทำรูปแบบข้อตกลงของการถ่ายโอนวัสดุทางชีวภาพ (Material Transfer Agreement) การบริหารจัดการเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีววัสดุโดยมุ่งเน้นเรื่องแนวปฏิบัติของการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ชีววัสดุในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ TBRC ยังได้ก่อตั้งและเชื่อมโยงกับเครือข่ายการวิจัยการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เช่น ศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์แห่งประเทศไทย (Thailand Network on Culture Collection: TNCC) เครือข่ายคลังชีววัตถุที่เกิดจากงานวิจัยในสถาบันการศึกษาของประเทศ และเครือข่ายคลังชีววัสดุในหน่วยงานของกลุ่มประเทศอาเซียนปัจจุบัน TBRC มีสมาชิกมากกว่า 130 ราย
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการจัดเก็บชีววัสดุ ผนวกรวมกับบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลแบบบูรณาการ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิจัย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลจาก TBRC และเครือข่ายสมาชิกทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการได้อย่างรวดเร็วในรูปแบบออนไลน์ทำให้เกิดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย และในภูมิภาคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
TBRC จึงนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ในการช่วยยกระดับการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ให้มีความก้าวหน้าและสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามแนวทางขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "บีซีจีโมเดล" (Bio-Circular-Green Economy: BCG)หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วยดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“BIC” บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี
"BIC" บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี
"ยูนิคอร์น" คือความใฝ่ฝันของสตาร์ตอัป หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีที่คาดหวังว่าจะเป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างเป็นระบบและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (Business Innovation Center: BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือตัวช่วยที่สำคัญในการบ่มเพาะและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีที่มีไอเดียแล้วต้องการต่อยอดธุรกิจ หรือช่วยแก้ปัญหาเมื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้พบอุปสรรคในการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
BIC สวทช. เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2545 จาก 19 ปีที่ผ่านมาสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ Tech Startup ดำเนินธุรกิจได้จริงมากกว่า 2,700 กิจการ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเก็บผลจากรายได้ของผู้ประกอบการฯ รวมกันมากกว่า 6,000 ล้านบาท ลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการขยายกิจการ 3,000 ล้านบาท และได้วางกลยุทธ์ในการสร้างโครงการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์รัฐบาลและทิศทางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อสร้างและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตาม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังบ่มเพาะและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยจำนวนมากผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ซึ่งร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างกลุ่มบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น บ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ทั้งด้านซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีที่การันตีได้ถึงความพร้อมด้วยการอบรมทุกเรื่องในเชิงธุรกิจ การให้คำปรึกษา รวมถึงการส่งเสริมและเชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อต่อยอดไอเดียให้เกิดเป็นธุรกิจในที่สุด เช่น
โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีกลไกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่และผู้ที่สนใจจะสร้างหรือขยายธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เรียนรู้หลักสูตรและเทคนิคต่าง ๆ สร้าง Business model ที่นำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์
โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) สำหรับเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ตอัปในธุรกิจเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์การสาธารณสุข ด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ เทคโนโลยีเกษตรและการผลิตในโครงงานอุตสาหกรรม Deep Tech ประเภท IoT AR/VR เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เข้ารับการวินิจฉัยธุรกิจ รับคำปรึกษา กระบวนการเรียนรู้การบ่มเพาะและได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากพี่เลี้ยง เพื่อสร้างรายได้ เพิ่มทุน ขยายฐานลูกค้า และพันธมิตรธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
โครงการเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร (Food Accelerate) มุ่งเน้นผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมอาหารที่มีมูลค่าสูงให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการตลาดและโอกาสขยายธุรกิจ ทั้งยังสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ในลักษณะเงินสนับสนุนรูปแบบ Matching fund เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งในและต่างประเทศโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล (2P Safety Tech: Patient and Personal Safety Technology) ที่ BIC สวทช. ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาแก้โจทย์และปัญหาที่ได้เกิดขึ้นจริงจากบุคลากรในโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล
โครงการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Tech Startup @EECi) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยการนำเทคโนโลยีมาทำธุรกิจ โดยเปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อสามารถเข้าถึงนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีด้วยความสะดวก และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต่อยอดให้ธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่
โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (Startup Voucher) สนับสนุนทุนและส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีความพร้อม มีสินค้าหรือบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาดแล้ว และมีแผนการตลาดที่ชัดเจนในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศผ่านกิจกรรมการตลาดต่าง ๆ ให้สามารถสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด
BIC สวทช. ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป เช่น โครงการ Panus Thailand Log Tech Award ที่ร่วมมือกับบริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปและเยาวชนไทยได้มีเวทีในการแสดงความสามารถด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Business Incubator Network: ABINet) ในการแลกเปลี่ยนผู้ประกอบการให้ได้รับคำปรึกษาสร้างเครือข่ายธุรกิจ รวมถึงเทคนิคและความรู้ความเข้าใจในการขยายธุรกิจสู่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ยกตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จล่าสุดหนีไม่พ้นบริษัทคิวคิวประเทศไทย จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน QueQ หนึ่งในผู้ประกอบการนวัตกรรมภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจฯ สวทช. และได้รับทุน Startup Voucher ที่สนับสนุนการจับคู่ระหว่างเจ้าของนวัตกรรมกับผู้ใช้งานจริง โดยการจับคู่บริษัทคิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด กับชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนางไร่เลย์นำแอปพลิเคชัน QueQ ไปใช้งานจริงจัดความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในสถานการณ์หลังคลายล็อกโควิด-19 รอบแรกเพื่อตรวจสอบคิวก่อนเข้าเกาะนับเป็นการนำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา BIC สวทช. ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศจากวุฒิสภา รางวัล Incubator of the Year 2016 จาก Asian Association Business Incubation และรางวัล Incubator of the Year 2016 Thai Business Incubators and Science Parks Association (Thai BISPA)ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“ITAP” ปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วย วทน.
"ITAP"
ปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วย วทน.
ตอกย้ำ...ความสำเร็จของ "ไอแทป" (ITAP) หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถขยายการให้บริการและความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย จากจุดเริ่มต้นปีละ 10 โครงการมาสู่ปัจจุบันที่สามารถให้บริการได้ถึงปีละ 1,500 โครงการ
ความสำเร็จนี้มาจากกลไกที่ดีในการสนับสนุนฯ ของโปรแกรมไอแทป (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนวกกับจุดแข็งของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายเทคโนโลยีและมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศ ซึ่งกลายเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการ และเชื่อมั่นในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งนี้โปรแกรมไอแทป สวทช. จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยดำเนินงานในการช่วยผลักดันให้ SMEs สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสมสามารถยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และมีการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่สามารถสร้างรายได้ที่แท้จริง ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของประเทศได้
ไอแทป สวทช. มีกลไกการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยี (TechnologySenvice Providers) กับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) ในรูปแบบของการช่วยวิเคราะห์ความต้องการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือตามโจทย์ความต้องการ และร่วมบริหารโครงการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการสูงสุด 50% แต่ไม่เกิน 4 แสนบาทต่อโครงการ ตามเกณฑ์ของโปรแกรมซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีและเชื่อมโยงไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบันไอแทป สวทช. มีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1,500 ราย ที่พร้อมให้บริการตอบโจทย์เทคโนโลยีทุกรูปแบบ ที่ผ่านมาไอแทป สวทช. ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้บริการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมทางด้านอาหารและเกษตร ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต
ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโปรแกรม อย่างเช่นกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป ที่มีเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับสวทช. มายาวนาน โดยได้เข้าร่วมโปรแกรมไอแทปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถเติบโตจากบริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่ผลิตมากแต่กำไรน้อยมาสู่การเป็นผู้ผลิตเรือและรถโดยสารจากโครงสร้างอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีการวิจัยออกแบบและสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง รวมถึงมุ่งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถบัสไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีบริษัทรอยัลเซรามิคส์ จำกัด จังหวัดลำปาง ธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารซึ่งมีการส่งออกไปวางจำหน่ายในต่างประเทศแต่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ไอแทป สวทช. ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา ช่วยออกแบบกระบวนการผลิตที่ทำให้โครงสร้างต้นทุนต่ำลงอย่างมาก และพัฒนาการผลิตจากแบบดั้งเดิมมาเป็นระบบสายพานป้อนชิ้นงานและควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ รวมถึงปรับเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ พัฒนาเตาเผาเป็นไฟเบอร์และอิฐทนไฟคุณภาพสูง รวมถึงออกแบบระบบนำความร้อนทิ้งมาใช้อบไล่ความชื้น และสร้างตู้อบที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ลดเวลา ลดพลังงานที่ใช้ ลดของเสีย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด สามารถเข้าสู่ตลาดระดับโลกได้ด้วยกำลังการผลิตมากขึ้น อาทิ ห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงหลายประเทศ เช่น Walmart สหรัฐอเมริกา ฝรั่งศส และอังกฤษ ส่วนบริษัทเข็มเหล็ก จำกัด (KEMREX) ผู้พัฒนานวัตกรรมฐานรากยุคใหม่ ซึ่งมีแนวคิดที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้านวัตกรรมเข็มเหล็ก (Series F, Series FS, Series D) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการตรวจสอบความแข็งแรงของเข็มเหล็กแต่ละประเภท และได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากไอแทป สวทช. ที่ได้นำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มทักษะในการควบคุมคุณภาพการผลิตเข็มเหล็ก มีการออกแบบทดสอบความแข็งแรงของเข็มเหล็ก หลักการสำรวจดิน การคำนวณ และแปลผลการทดสอบ รวมถึงการรวบรวมผลการทดสอบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงช่วยให้บริษัทสามารถเลือกใช้เข็มเหล็กได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทำให้บริษัทฯ ได้รับเอกสารรับรองตามมาตรฐาน ASTM D1143 Standard Test Methods for Deep Foundations Under Static Axial Compressive Load และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้
ด้วยสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้หลายคนพบกับความเหนื่อยล้าทางสมองส่งผลให้กระบวนการใช้ความคิดและความจำไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ นักศึกษาและคนวัยทำงาน บริษัทฟอร์แคร์ จำกัด จึงวิจัยและพัฒนาเครื่องดื่มดาร์คช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิค เพื่อเสริมความจำและกระบวนการคิดของสมองช่วยให้นอนหลับดีต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเห็นความสำคัญของการศึกษาเชิงคลินิกเพื่อให้รู้ข้อมูลและทราบประสิทธิภาพที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ ไอแทป สวทช. จึงช่วยสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยทางคลินิกให้บริษัทฯ ภายใต้โครงการ "วิจัย พัฒนา และการทดสอบทางคลินิกในอาหารฟังก์ชัน" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไอแทป สวทช. กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ต้องมีการป้องกันตนเองที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย บริษัทเอวีเอส อินโนเวชั่น จำกัด ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่ปราศจากแอลกอฮอล์ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้โดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อร่างกายและยังสามารถปกป้องได้ยาวนานเกิดเป็นฟิล์มบางเคลือบมือป้องกันเชื้อโรคได้นาน 12 ชั่วโมง ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากไอแทป สวทช. ในโครงการ Fast track:Medical devices fight covid-19 ด้วยการนำผลิตภัณฑ์มาศึกษาประสิทธิภาพของไฮโดรเจลและวิจัยผลการออกฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อราแบคทีเรียของไฮโดรเจลสำหรับทำความสะอาดมือ ซึ่งผลิตภัณฑ์เจลล้างมือนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมจากประเทศแคนาดา อีกทั้งยังสามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย
ขณะที่ปัญหาเรื่องพื้นที่มีจำกัด ธุรกิจเกษตรในเมืองใหญ่เป็นไปได้ยาก บริษัทลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารและคลังสินค้า มองเห็นช่องทางของธุรกิจการสร้างฟาร์มเกษตรในอาคาร และช่วยลดต้นทุนการผลิตของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสำหรับพืชผักและผลไม้เมืองหนาว บริษัทฯ ได้มองหาองค์ความรู้การทำระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (plant factory) ที่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้ ไอแทป สวทช. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและจัดสร้างระบบต้นแบบฟาร์มเกษตรในอาคาร มาช่วยในการวางระบบการให้สารอาหารแก่พืชผักและผลไม้ รวมถึงการให้น้ำโดยอาศัยแรงดูดตามหลักคาปิลลารี่ (Capillary Tube) การควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติตามช่วงการปลูก การควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้วางระบบแสง LED และออกแบบโมบายด์แอปพลิเคชันที่ใช้ในสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อใช้ในการติดตามและควบคุมการทำงานของทุกระบบ เกิดการสร้างรายได้ในการสั่งซื้อแบบและจ้างงานก่อสร้าง อีกทั้งยังสามารถสร้างผลผลิตสตรอว์เบอร์รีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและสร้างรายได้ในพื้นที่จำกัดอย่างมีคุณภาพ
ถ้าพูดถึงร้านอาหารในจังหวัดอุดรธานีแล้ว ร้าน BEYOND CAFE เป็นหนึ่งในความโดดเด่นเรื่องเมนูเค้กเบเกอรี่และเครื่องดื่มที่หลากหลาย ซึ่งจากการขยายสาขาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการจัดการ รวมถึงจำนวนข้อมูลของรายการอาหารและรายละเอียดในการจัดการที่ชับซ้อน ซึ่งโปรแกรมสำเร็จรูปทั่วไปไม่สามารถตอบโจทย์ได้ไอแทป สวทช. ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ระบบเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดคล้องกับการจัดการภายในร้าน รวมทั้งมีการออกแบบการเช็กคลังสินค้าวัตถุดิบและการสั่งซื้ออาหารให้ใช้งานง่ายและเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการ ช่วยลดปัญหาความซับซ้อนและการผลิตได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้กว่า 900,000 บาทต่อปีและลดการสต็อกวัตถุดิบลงได้ 5%
จากความสำเร็จของผู้ประกอบการ โปรแกรมไอแทป สวทช. จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยสำคัญในการให้คำปรึกษาและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้แบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนต่อไปดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดสมุนไพร ด้วยระบบนําส่งสารสําคัญ
เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดสมุนไพร ด้วยระบบนำส่งสารสำคัญ
สารสำคัญในอาหาร อาหารเสริม หรือเวชภัณฑ์ จะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อดูดซึมได้ดีที่สุดในบริเวณที่เหมาะสมที่สุดในร่างกายของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาระบบนำส่งยาหรือสารสำคัญ ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) องค์กรวิจัยที่เดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านนี้ เพื่อต่อยอด เพิ่มมูลค่า รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม โดยมีการวิจัยและพัฒนาอาหารเสริม เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากน้ำมันเมล็ดงาม้อนบรรจุแคปซูลนิ่ม งาม้อนเป็นพืชท้องถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย มีการศึกษาพบว่า น้ำมันจากเมล็ดงาม้อนอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายชนิด ได้แก่ กรดไลโนเลนิก (โอเมกา 3) กรดไลโนเลอิก (โอเมกา 6) และ กรดโอเลอิก (โอเมกา 9) นับเป็นน้ำมันที่มีความสมดุลของโอเมกา 3 และโอเมกา 6 ดีกว่าน้ำมันอื่น และเมล็ดงาม้อนสามารถนํามาสกัดน้ำมันได้ 31-51% ซึ่งมีการศึกษาที่ระบุอีกด้วยว่า หากเปรียบเทียบกับน้ำมันปลาแล้ว ปริมาณกรดไขมันโอเมกา 3 ในน้ำมันจากเมล็ดงาม้อนนั้นสูงกว่าน้ำมันปลาถึง 2 เท่าตัว กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวที่พบในงาม้อนเหล่านี้ ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้มีมากเกินไป ป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็ง ป้องกันโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดบางชนิด รวมถึงช่วยแก้อาการไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดจากระบบประสาทและที่สําคัญจากการศึกษาพบว่าสาร “เซซามอล” ที่มีอยู่ในงานั้นป้องกันมะเร็งได้และยังทําให้ร่างกายแก่ช้าลงอีกด้วย ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนวัตกรรมนาโนเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร หน่วยวิจัยเกษตรนาโนและสิ่งแวดล้อมนาโนเทค สวทช. ได้วิจัยและนําเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการดูดซึมสารสําคัญ โดยพัฒนาระบบอิมัลชันแบบเกิดเอง หรือ Self-emulsifying drug delivery system ก่อนการนํามาบรรจุในรูปแบบแคปซูลนิ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมและละลายสารสําคัญที่ละลายยากและดูดซึมต่ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากน้ำมันเมล็ดงาม้อนที่ผ่านการพัฒนาเป็นตํารับอิมัลชันแบบเกิดเองนี้สามารถนำส่งสารสําคัญโอเมกา-3 โอเมกา-6 และโอเมกา-9 จากน้ำมันเมล็ดงาม้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับการบริโภคน้ำมันเมล็ดงาม้อนที่บรรจุแคปซูลโดยตรง จากนั้นนําไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในรูปแบบแคปซูลนิ่มพร้อมบริโภค เหมาะสําหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพและผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้ทีมนักวิจัยจากนาโนเทค สวทช. ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพลิโคซานอลจากสารสกัดไขอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล โดยน้ำอ้อยที่ผ่านการคั้น ต้ม และกรองก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตน้ำตาล หลังการกรองจะได้กากหม้อกรองหรือวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีลักษณะคล้ายดินร่วน ๆ ซึ่งมักนําไปแจกจ่ายฟรี ๆ เพื่อใช้ทําปุ๋ยหรือนําไปถมที่ ทั้งที่กากหม้อกรองสามารถนำมาสกัดเป็นไขอ้อยที่มีคุณภาพดีกว่าไขผึ้ง และนําไปเป็นวัตถุดิบสําหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก เพราะเทคโนโลยีการสกัดมีความซับซ้อน จากงานวิจัยและพัฒนาพบว่า สารสกัดจากธรรมชาติกลุ่มโพลิโคซานอล (Policosanol) ที่พบเฉพาะในไขเปลือกอ้อย อุดมไปด้วยคุณค่าบริสุทธิ์ของสารอาหารจากธรรมชาติ ซึ่งสูตรโครงสร้างคล้ายยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสเตติน (Statin) โดยคุณประโยชน์ของสารสกัดโพลิโคซานอลคือ การลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายแม้ใช้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาลดไขมันในเลือด ส่งผลให้สารสกัดธรรมชาติ “โพลิโคซานอล” เป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
ทีมนักวิจัยจากนาโนเทค สวทช. จึงได้พัฒนากรรมวิธีในการแยกสารโพลิโคซานอลจากไข หรือ Waxes ที่แยกสกัดได้จากกากหม้อกรอง ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานน้ำตาล เพื่อให้ได้ทั้งปริมาณและความบริสุทธิ์ที่สูง เหมาะกับการนําไปใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยังศึกษาถึงทางเลือกในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากโพลิโคซานอลด้วยการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีสําหรับควบคุมการปลดปล่อยของสารโพลีโคซานอล ซึ่งนําไปสู่การแปรรูปเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากสารสกัดจากไขเปลือกอ้อย “โพลิโคซานอล” เป็นทางเลือกใหม่จากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการลดไขมันคอเลสเตอรอล โดยศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงเภสัชวิทยาของโพลิโคซานอล ด้วยการใช้เป็นวัสดุนําส่งสารสําคัญทางชีวภาพในรูปแบบของตัวพาไขมันที่มีโครงสร้างระดับนาโน (Nanostructured Lipid Carriers: NLC) เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสําคัญสําหรับผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและยา และเพิ่มความสามารถในการกระจายตัวและช่วยควบคุมการปลดปล่อยสารสําคัญ ปัจจุบันต้นแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันเมล็ดงาม้อนและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพลิโคซานอลจากสารสกัดใบอ้อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจต่อไปดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส
MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส
โรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ไม่เพียงแค่ "เจลแอลกอฮอล์" และ "หน้ากากอนามัย" ที่กลายเป็นของใช้จำเป็นที่ทุกคนต้องมีติดตัวไปทุกที่ แต่วิถีการใช้ชีวิตแบบไม่ประมาทก็กระตุ้นให้เกิด "นวัตกรรม" ใหม่ ๆ ดังเช่น "ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส" (MagikTuch)ที่ช่วยลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
นวัตกรรมนี้เป็นผลงานนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 รวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ จากการใช้จุดสัมผัสร่วมกันในที่สาธารณะด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 นอกจากจะแพร่ระบาดโดยตรงจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อในระยะใกล้แบบไม่สวมหน้ากากป้องกันเชื้อ ยังเกิดจากการสัมผัสเชื้อด้วยมือและนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจากการเผลอใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก และดวงตาได้ดังนั้นสิ่งของต่าง ๆ ที่มีคนใช้งานร่วมกันในที่สาธารณะหรือพื้นที่ใช้ร่วมกัน เช่น ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร จึงกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และนำพาเชื้อไปสู่คนที่สัมผัสต่อ ๆ กันได้ และไม่ได้มีแค่โรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโรคที่สามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่อยู่บนอุปกรณ์ สิ่งของต่าง ๆ ที่มีคนใช้งานร่วมกัน
ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ สวทช. ได้ศึกษาข้อมูลความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคจากสถานที่ต่าง ๆ และเห็นว่า "ลิฟต์โดยสาร"เป็นหนึ่งในระบบขนส่งที่มีผู้ใช้ร่วมกันจำนวนมาก ทั้งในหน่วยงานโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล และบริษัท ดังนั้นทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะสัมผัสปุ่มกดลิฟต์ จึงได้พัฒนานวัตกรรมปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัสขึ้น เพื่อเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแพร่กระจายโรคติดต่ออย่างโควิด-19 รวมถึงโรคอื่น ๆ"เมจิกทัช" เป็นระบบใช้งานแบบไร้สัมผัส สั่งการด้วยระบบเซนเซอร์ เพียงใช้นิ้วมือหรือหลังมือบังหน้าปุ่มเลขขั้นที่ต้องการในระยะห่าง 1-2 เซนติเมตร เซนเชอร์จะตรวจจับข้อมูลชั้นที่ต้องการเลือกและสั่งการลิฟต์ให้โดยอัตโนมัติระบบมีการออกแบบให้สามารถป้องกันความผิดพลาดในการสั่งการ โดยเชนเซอร์จะตรวจจับเมื่อวางมือไว้ที่ตำแหน่งเลขชั้นปุ่มเดียวเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่าระบบจะสั่งการได้อย่างแม่นยำ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากการสั่งการที่ผิดพลาดด้วยระบบที่ออกแบบให้ไม่ต้องมีการสัมผัสปุ่มกดลิฟต์จึงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการใช้งานลดการแพร่กระจายและลดการสะสมเชื้อโรคภายในลิฟต์ อย่างไรก็ดีพฤติกรรมของผู้ใช้งานยังคงคุ้นเคยกับการกดปุ่มลิฟต์ทีมนักวิจัยฯ จึงได้พัฒนาให้ปุ่มกดลิฟต์เมจิกทัชสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งแบบไร้สัมผัสในขณะที่ปุ่มก็ยังคงกดได้ตามปกติ (เมจิกทัชแบบทูอินวัน)นอกจากนี้ "เมจิกทัช"ยังติดตั้งง่าย โดยเป็นชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงปุ่มกดลิฟต์ให้เป็นระบบไร้สัมผัส สามารถติดตั้งเข้าไปบนลิฟต์ตัวเดิมได้ โดยไม่ต้องเจาะตัวลิฟต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของระบบประกันจากบริษัทผู้ติดตั้งและผู้ดูแลลิฟต์ อีกทั้งออกแบบให้รองรับจำนวนชั้นที่แตกต่างกันตามสถานที่ที่ติดตั้งได้ และรองรับระบบการทำงานด้วยระบบไฟฟ้าทั้งกระแสสลับ (AC) และกระแสตรง (DC)
ปัจจุบันทีมนักวิจัยฯ มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนโดยมีการนำเมจิกทัชไปติดตั้งและทดสอบการใช้งานในอาคารต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช (ทดสอบบางอาคาร) และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี
เมจิกทัช นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่นอกจากช่วยรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และสอดรับกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ของผู้คนในยุคหลังโควิดอีกด้วยดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“PETE เปลปกป้อง” เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบปลอดภัย
"PETE เปลปกป้อง"
เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบปลอดภัย
For English-version news, please visit : PETE: Patient Isolation and Transportation Chamber"เปลความดันลบ" เป็นอุปกรณ์สำคัญที่นำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
ปัจจุบันแม้ว่าจะมี "เปลความดันลบ" สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจต่าง ๆ จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการในการใช้งาน อาทิ การไม่สามารถใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยรถพยาบาล การไม่สามารถนำเข้าเครื่อง X-Ray หรือ CT-scan ได้ และยังมีราคาที่สูงเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนา "PETE เปลปกป้อง" (Patient Isolation and Transportation Chamber) อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ ทั้งโรควัณโรค รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอุปกรณ์ "PETE เปลปกป้อง" ซึ่งเป็นเปลความดันลบ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักได้แก่ แคปซูลหรือเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Chamber) มีลักษณะเป็นแคปซูลพลาสติกใสขนาดพอดีตัวคน ซึ่งเคลื่อนย้ายสะดวก ติดตั้งบนเตียงเตียงเข็นหรือเปลได้ และระบบสร้างความดันลบ (Negative pressure unit) เพื่อควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในเปล
ทั้งนี้ทีมนักวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้นำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเข้าไปช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้สูงขึ้น นอกจากจะปรับแรงดันอากาศให้เป็นลบแล้ว ยังสามารถกรองเชื้อโรคและฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UV-C ได้ในเครื่องเดียวกันสำหรับการใช้งานก็สะดวก คือหลังจากที่นำผู้ป่วยขึ้นนอนบนเปลและรูดซิปปิดเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะเปิดระบบปรับค่าความดันอัตโนมัติเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้าสู่ตัวเปล ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก เมื่ออากาศไหลผ่าน ผู้ป่วยอาจมีเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาจากการหายใจ อากาศเหล่านั้นจะถูกดูดผ่านแผ่นกรองอากาศ (HEPA Fitter) เพื่อกรองเชื้อโรคและทำการฆ่าเชื้อซ้ำอีกครั้งด้วยแสง UV-C ก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศเหล่านั้นปลอดเชื้อ
นอกจากระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทีมนักวิจัยฯ ยังพัฒนาตัวเปลให้มีช่องสำหรับร้อยสายเครื่องช่วยหายใจและสายน้ำเกลือเข้าไปยังผู้ป่วย และมีถุงมือสำหรับทำหัตถการ 8 จุดรอบเปล เพื่ออำนวยความสะดวกในการรักษาให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วยจุดเด่นของ "PETE เปลปกป้อง" ที่แตกต่างไปจากเปลความดันลบเดิมที่มีทั่วไปในท้องตลาดคือ ระบบ "Smart Controller" ทำหน้าที่ควบคุมความดันภายในเปล จึงใช้งานได้ทั้งบนภาคพื้นและบนอากาศ สามารถตรวจสอบการรั่วไหลของอากาศสู่ภายนอก (Pressure Alarm)และแจ้งเตือนการเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศ (Fitter Reminder) เมื่อถึงกำหนด ทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้ป่วยและการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อให้เป็นไปตามมาตรฐานนอกจากนี้ยังสามารถนำเปลเข้าเครื่อง CT scan ได้ เนื่องจากเปลไม่มีโลหะเป็นส่วนประกอบและมีขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไป จึงไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเปลความดันลบเหมือนกับอุปกรณ์อื่นนับเป็นการช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปยังเครื่องและระบบปรับอากาศของโรงพยาบาล และลดภาระของเจ้าหน้าที่ในการทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ได้อย่างมากที่สำคัญคือตัวเปลมีน้ำหนักเบา สามารถพับเก็บลงกระเป๋า พกพาได้สะดวก และติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับกับการใช้งานในรถพยาบาล
ดังนั้นหากนำ "PETE เปลปกป้อง" มาใช้ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่พัก เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ ลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการสถานพยาบาลได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันต้นแบบนวัตกรรมนี้ ผ่านการทดสอบคุณภาพ ISO 14644 ที่ยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในลักษณะการขออนุญาตใช้สิทธิ (Licensing) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นผลิตภัณฑ์เข้าบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อเข้าสู่กลไกการจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐได้
ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 1.5 - 2 แสนบาท ไปจนถึง 7-8 แสนบาท หากมีการต่อยอดผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว นอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล และลดการนำเข้าแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลในประเทศอีกด้วย)ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“SOS Water” แก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ
“SOS Water” แก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ
การขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคและบริโภค นับเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในยามที่ต้องประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง หรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งล้วนสร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตและมีผลต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนเป็นจำนวนมาก
จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ไร้ที่อยู่ต้องอพยพไปอาศัยตามศูนย์ช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งประสบปัญหา ทั้งด้านอาหารและน้ำที่สะอาดในการอุปโภคและบริโภคสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว จึงนำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวในระดับนาโนและเทคนิคการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบการผลิตน้ำดื่มสะอาดเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เกิดเป็น “โครงการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน” หรือ “SOS Water” (Solar-Operating System Water ) ที่สามารถผลิตน้ำดื่มที่สะอาดได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทำงานได้ในทุกสภาวการณ์ แม้ไม่มีกระแสไฟฟ้า “SOS Water” เป็นนวัตกรรมการกรองน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ไส้กรองเซรามิกเคลือบอนุภาคเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้กรรมวิธีการตรึงอนุภาคเงินระดับนาโนลงบนพื้นผิวและรูพรุนของไส้กรองเซรามิก ทำให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการสะสมของเชื้อที่ไส้กรอง สามารถผลิตน้ำดื่มสะอาดจากแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไปได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือระบบการตกตะกอนนอกจากนี้เครื่องกรองน้ำดังกล่าว ยังมีระบบกรองร่วมกันอีก 5 ชนิด เช่น ถังกรองทราย (Sand filter) เพื่อกรองตะกอนและสารแขวนลอยขนาดใหญ่ที่ปะปนมาในน้ำก่อนเข้าสู่ระบบกรองอื่น ๆ มีไส้กรองเรซิ่น (Resin) ที่ช่วยปรับความกระด้างของน้ำ ไส้กรองคาร์บอน (Activated carbon) ที่ช่วยกรองกลิ่น สี คลอรีน และดูดจับสารอินทรีย์และสารเคมีต่าง ๆ ที่ตกค้างปนมากับน้ำ รวมทั้งโลหะหนัก ไส้กรองแมงกานีส ซีโอไลต์ (Manganese zealite) ช่วยกรองโลหะหนัก และไส้กรองยูเอฟ (Ultra filtration) ที่เป็นใยสังเคราะห์สามารถกรองละเอียดได้ถึง 10 นาโนเมตร สามารถดักจับสิ่งสกปรกและเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนมากับน้ำดื่มได้
สำหรับเครื่อง SOS Water มีน้ำหนัก 160 กิโลกรัม กำลังการผลิต 200 ลิตรต่อชั่วโมง เพียงพอต่อชุมชนขนาดประมาณ 1,000 คน สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งแบบกระแสไฟฟ้าตรงจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซล่าร์เซลล์จำนวน 4 แผงหรือใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารโดยสามารถติดตั้งและเริ่มใช้งานได้อย่างรวดเร็วแผงโซลาร์เซลล์ถอดพับเก็บได้ สะดวกในการเคลื่อนย้าย ซึ่งใช้งานได้ทั้งบนรถ บนเรือ รวมถึงพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมานาโนเทค สวทช. ร่วมมือกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย นำเครื่อง SOS Water ไปทดสอบประสิทธิภาพการทำงานจริงในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ผลจากการทดสอบในภาคสนามสามารถใช้งานได้ดีโดยระบบการทำงานของเครื่อง SOS Water และคุณภาพของน้ำดื่มที่ผลิตได้ตามตามมาตรฐานน้ำดื่มของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
“SOS Water” นวัตกรรมนี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องผลิตน้ำดื่มที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในยามประสบภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรรมที่ประหยัดพลังงานและช่วยเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้ประชาชน แม้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ตาม ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

รถโดยสารลดอันตรายจากการพลิกคว่ำ
รถโดยสารลดอันตรายจากการพลิกคว่ำ
สถิติด้านอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถพยาบาลฉุกเฉิน (EMS) ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ระบุว่าบุคลากรในรถพยาบาลทั้งแพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถ ผู้ป่วย รวมถึงญาติ ที่เสียชีวิตเนื่องจากรถพยาบาลพลิกคว่ำมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความตระหนักถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยภายในรถ รวมทั้งตัวผู้ป่วยเองหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตดังกล่าว เกิดจากการที่รถพยาบาลที่ใช้อยู่ในหลายประเทศไม่ได้รับการออกแบบให้มีโครงสร้างตัวถังรถที่แข็งแรงเพียงพอต่อการรองรับอุบัติเหตุ ในทางวิศวกรรมได้มีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างของตัวถังและห้องโดยสารของรถพยาบาลให้มีความแข็งแรง เรียกว่า โครงสร้างแบบ “Superstructure” ซึ่งจัดอยู่ในหมวดอุปกรณ์ “Passive safety” หรืออุปกรณ์ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุผ่อนหนักให้เป็นเบา เพื่อให้สามารถปกป้องชีวิตของผู้โดยสารระหว่างเหตุการณ์พลิกคว่ำของตัวรถได้
ทั้งนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนให้ผู้ป่วยวิกฤตได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพภายในเวลา 8 นาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น แต่ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา คนขับรถต้องขับรถด้วยความรวดเร็วเพื่อไปรับผู้ป่วยวิกฤต ณ สถานที่เกิดเหตุ และนำส่งสถานพยาบาลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยลักษณะการทำงานที่เร่งรีบเช่นนี้ ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้นศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับบริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จํากัด ในการออกแบบและพัฒนา “ห้องโดยสารรถพยาบาลให้ได้โครงสร้างความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงกระทาที่เกิดขึ้นกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ” หรือที่เรียกว่า “Rollover” ขึ้น โดยใช้เกณฑ์ในการออกแบบตามมาตรฐาน UN R66 และ FMVSS 220 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ระบุเงื่อนไขและเกณฑ์สําหรับการทดสอบโครงสร้างความแข็งแรงของรถโดยสารแบบพลวัต (Dynamic) และสถิต (Static) ตามลําดับทีมนักวิจัยฯ ได้จําลองเหตุการณ์รถพลิกคว่ำและทํานายผลจากแรงกระทําด้วยการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ และทดสอบภาคสนามเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการออกแบบ
จากการทดสอบสมรรถนะของรถต้นแบบพบว่าโครงสร้างมีความแข็งแรงรองรับการพลิกคว่ำได้ตามการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐาน UN R66 และ FMVSS 220 ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลักจากวัสดุคอมโพสิตที่มีน้ำหนักน้อยกว่าโลหะแต่มีความแข็งแรงสูง สามารถออกแบบให้มีขนาด (กว้าง x ยาว x สูง) ได้หลากหลายและสามารถนำไปติดตั้งกับรถยนต์ได้หลายรุ่น นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นโมดูลสามารถเตรียมกระบวนการผลิตห้องโดยสารได้อย่างอิสระ และสามารถนำไปติดตั้งกับรถเพื่อประกอบเป็นรถพยาบาลภายหลังได้
ปัจจุบันบริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด ได้มีการต่อยอดงานวิจัยผลิตเป็นรถพยาบาลและรถเอกซเรย์เคลื่อนที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว นอกจากนี้ เอ็มเทค สวทช. ยังได้ถ่ายทอดทักษะความรู้ในการวิเคราะห์และทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างห้องโดยสารให้กับบริษัทผู้ผลิตรถ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นรถโดยสารประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ถือได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานรถโดยสารที่ปลอดภัย สร้างความอบอุ่นใจให้กับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตภายในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอีกด้วยดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
“Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
ก่อนที่กูเกิลแมปจะได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันหลาย ๆ คนอาจจะเคยรู้จักกับแอปพลิเคชันรายงานสภาพจราจรอย่าง “ทราฟฟี่” (Traffy) ที่มักจะได้รับการนำมาเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเดินทางและตรวจสอบการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่จราจรติดขัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และผ่านโทรศัพท์มือถือปัจจุบันสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในงานด้านสมาร์ตซิตี้ (Smart city) หรือเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยเทคโนโลยีเซนเซอร์และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ในการ “เปลี่ยนปัญหาของประชาชนให้เป็นข้อมูล” และ “เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นความเข้าใจ” เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
โดยทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. เปิดให้ใช้งานใน 2 ระบบ ได้แก่
ระบบแรกคือ “Traffy Waste” (ทราฟฟี่ เวสต์) หรือระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการการเก็บขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของคนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบดังกล่าวมีการใช้งานทั้งเซนเซอร์ และระบบติดตามตำแหน่งด้วยดาวเทียม โดยใช้ติดตามรถขยะ มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์จุดเก็บขยะ เส้นทางการเดินรถเก็บขยะและแสดงผลบนระบบแดชบอร์ด พร้อมทั้งทำนายและจัดเส้นทางการเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการจัดเก็บขยะในพื้นที่ต่าง ๆ
ส่วนอีกหนึ่งระบบคือ “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การแก้ไขปัญหาสื่อสารกลับมาให้แก่ประชาชนได้ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยังมีระบบบริหารจัดการและติดตามปัญหา บริการข้อมูลทางสถิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนงบประมาณและกำลังคน ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถตั้งกลุ่มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาของตนเองได้อีกด้วย
ที่ผ่านมาเนคเทค สวทช. ร่วมมือกับสมาคมสันนิตบาตเทศบาล และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำแพลตฟอร์ม “Traffy Fondue” ไปใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยนำ “Traffy Fondue” ไปใช้กับการรับแจ้งการเผาหรือการเกิดไฟป่าใน 50 จังหวัดอีกด้วยนอกจากนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งพบการระบาดในเกือบทุกพื้นที่ ทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ “Traffy Fondue” ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอท เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานครเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลดังกล่าวต้องการทราบว่า คนที่มีความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 เดินทางกลับมายังภูมิลำเนามีอยู่ที่ใดของประเทศบ้าง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้มีส่วนรับผิดชอบสังคมและปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพเรียกได้ว่า “Traffy Fondue” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ และมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างครบวงจรดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม
Open PDF
Open e-Book
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น