หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
12 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การใช้ทรัพยากรการปลดปล่อยมลพิษและของเสียออกจากกระบวนการผลิต รวมถึงการใช้งานและการกำจัดซาก ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์และสภาวะแวดล้อมในด้านต่าง ๆ หากไม่มีการปรับปรุง ย่อมส่งผลเสียต่อมนุษย์อย่างที่แก้ไขได้ยากในอนาคต

            ปัจจุบันผลกระทบเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หันมาให้ความสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และนำไปสู่การสร้างกฎข้อบังคับต่าง ๆ สำหรับสินค้าที่จะนำเข้าหรือซื้อขายกันในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงมีกลุ่มผู้บริโภคที่ตระหนักและต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตพยายามพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมที่บ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

            สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) (Technology and Informatics Institute for Sustainability: TIIS) โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลวัฏจักรชีวิต (ของวัสดุพื้นฐาน พลังงาน ผลิตภัณฑ์ และบริการ) พร้อมทั้งวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการเติบโตอย่างยั่งยืน

            การดำเนินงานมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล พร้อมทั้งวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมุ่งสู่เติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

            หนึ่งในภารกิจหลักของ TIIS ก็คือ การพัฒนา “ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (National LC Database for Sustainable Development) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลาง ที่เป็นตัวแทนระดับประเทศสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม และเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เช่น กลุ่มก๊าซธรรมชาติ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเกษตรและอาหาร และกลุ่มการขนส่ง

            ที่ผ่านมา TIIS ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ (Thai National Life Cycle Inventory Database) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมลสารสู่สิ่งแวดล้อมของการผลิตผลิตภัณฑ์หนึ่งหรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ตามแนวทางการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) และการเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของไทยกับต่างประเทศผ่านเครือข่าย Global LCA Data Access Network ซึ่งเป็นเครือข่ายการเข้าถึงข้อมูล LCA ทั่วโลก (GLAD) โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศพันธมิตรที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา GLAD ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทยให้สามารถเข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวได้

            ตัวอย่างของฐานข้อมูลที่ TIIS จัดทํา เช่น ไฟฟ้า การขนส่ง เชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการผลิตและภาคการขนส่ง ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผัก-ผลไม้ และสิ่งทอ ฐานข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

            ปัจจุบันมีผู้นำฐานข้อมูลไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งในส่วนของภาครัฐนี้ ฐานข้อมูลของประเทศจะมีความสำคัญต่อตัวชี้วัดร่วมระดับกระทรวง (Joint KPI) เช่น แผนยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) แผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green GPP) การประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คิดรวมต้นทุนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ (Green GDP) และการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-CircularGreen (BCG) model ซึ่งประกาศเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564

            ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้ช่วยในการตัดสินใจและทราบจุดสำคัญสำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนเองให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยปล่อยมลสารสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อมุ่งสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อขอการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจําปี

            ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ TIIS สวทช. พัฒนาขึ้นนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้พร้อมรับกับกฎระเบียบที่อาจเป็นเครื่องกีดกันทางการค้า และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน อันเป็นแนวทางและนโยบายที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: