หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ คลังความรู้และต้นทุนอนาคตของชาติ
ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ คลังความรู้และต้นทุนอนาคตของชาติ
12 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ คลังความรู้และต้นทุนอนาคตของชาติ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีสิ่งมีชีวิตประมาณ 10% ของชนิดสิ่งมีชีวิตที่พบในโลก ขณะที่พืชที่พบในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 20,000 ชนิด คิดเป็น 8% ของพืชที่คาดว่ามีในโลก

            ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ รวมถึงจุลินทรีย์ต่าง ๆ ก็คือทรัพยากรอันมีค่า และเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ความอุดมสมบูรณ์ที่มาจากธรรมชาติเหล่านี้ก็สามารถที่จะหมดไปได้

            ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีมากกว่าหลายร้อยเท่า ทั้งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งหากใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ขาดการบำรุงรักษา หรือไม่มีการพัฒนาระบบให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนด้วยแล้ว ทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้ก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว

            ในปี พ.ศ. 2561 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ ได้สนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการบิ๊กร็อกให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จัดตั้ง “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ : ไบโอแบงก์ (National Biobank of Thailand: NBT) ขึ้น เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติในการเป็นแหล่งจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว (Long-termPreservation) ประกอบด้วยวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) และข้อมูลทางชีวภาพ (Biodata) มีกระบวนการจัดเก็บที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการไว้นอกสภาพธรรมชาติ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ ป้องกันการปนเปื้อน และบำรุงรักษาให้คงสภาพการมีชีวิตได้อย่างยาวนาน และเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทางที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์แบบครบถ้วนสำหรับใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมและระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน

            ทั้งนี้ทรัพยากรชีวภาพหรือวัสดุชีวภาพที่นำเข้ามาจัดเก็บในธนาคารฯ จะได้รับการวิจัยและกำกับด้วยข้อมูลชีวภาพที่สำคัญต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต เช่น การศึกษาข้อมูลอนุกรมวิธาน การศึกษาระดับโมเลกุล ระดับยีน ข้อมูลสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ และศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์

            การวิจัยเหล่านี้มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีการจัดเก็บตัวอย่างชีวภาพในสภาวะต่ำกว่าจุดเยือกแข็งจาก Brooks Life Science Systems เทคโนโลยีการปลูกพืชหนาแน่นในระบบปิด หรือ Plant Factory ซึ่งมีการควบคุมปัจจัยการเจริญของพืชแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในระบบปลอดเชื้อ ระบบการระบุเชื้อจุลินทรีย์ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีชีวสารสนเทศเพื่อการจัดการและประมวลผลข้อมูลชีวภาพ (Bioinformatics) รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่บนคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

            ปัจจุบันธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ได้เก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ ไวรัส เชื้อรา และในรูปแบบของคลังข้อมูลดิจิทัลของยีนของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาข้อมูลพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมาเก็บไว้ในที่เดียวกัน เช่น ธนาคารจุลินทรีย์ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ และธนาคารยีน

            สําหรับผลงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ผ่านมา นักวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติได้สำรวจเก็บตัวอย่างและจัดจำแนกชนิดของจุลินทรีย์จากถ้ำในอุทยานธรณีสตูล (อุทยานธรณีโลกแห่งแรกในไทย โดยยูเนสโก) จำนวน 2 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำเลสเตโกดอน ที่มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายของราและถ้ำภูผาเพชร ที่มุ่งเน้นศึกษาความหลากหลายของราและแบคทีเรียในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งสามารถคัดแยกและจำแนกชนิดของราและแบคทีเรียได้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ภารกิจของนักวิจัย รวมถึงผลการศึกษาต่าง ๆ จะเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติในระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

            นอกจากนี้ไบโอเทค สวทช. ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมมือกับองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมพืชเหล่านี้ในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ในสภาพปลอดเชื้อ

            อีกทั้งยังร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างบนบกกับทะเล และเป็นจุดเริ่มต้นห่วงโซ่อาหารชายฝั่ง โดย สวทช. ใช้เทคโนโลยีในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนผ่านศูนย์โอมิกส์และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โดยเป็นการวิจัยในระดับจีโนมและพันธุกรรม มุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลน เพื่อศึกษาลักษณะพิเศษของพืชแต่ละชนิด รวมถึงวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว นำไปสู่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลนและปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต

            สำหรับโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย สวทช. โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลด้านชีวสารสนเทศเพื่อรองรับการบริหารจัดการ จัดเก็บ ประมวลผลข้อมูลพันธุกรรมประชากรไทย เพื่อจัดตั้งเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมอ้างอิง เพื่อใช้ในการพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

            ทั้งนี้ สวทช. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้บริการการจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว ซึ่งปัจจุบันมีการจัดเก็บพืช 1,391 ตัวอย่าง จุลินทรีย์ 6,051 ตัวอย่าง ข้อมูลจีโนม 6,051 ตัวอย่าง และข้อมูลดีเอ็นเอ 12,936 ตัวอย่าง

           วัสดุชีวภาพที่จัดเก็บใน “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ” เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: