หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
“Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์)
ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง

ก่อนที่กูเกิลแมปจะได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันหลาย ๆ คนอาจจะเคยรู้จักกับแอปพลิเคชันรายงานสภาพจราจรอย่าง “ทราฟฟี่” (Traffy) ที่มักจะได้รับการนำมาเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเดินทางและตรวจสอบการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่จราจรติดขัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ทั้งปีใหม่และสงกรานต์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และผ่านโทรศัพท์มือถือ

ปัจจุบันสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในงานด้านสมาร์ตซิตี้ (Smart city) หรือเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยเทคโนโลยีเซนเซอร์และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ในการ “เปลี่ยนปัญหาของประชาชนให้เป็นข้อมูล” และ “เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นความเข้าใจ” เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

โดยทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. เปิดให้ใช้งานใน 2 ระบบ ได้แก่

ระบบแรกคือ “Traffy Waste” (ทราฟฟี่ เวสต์) หรือระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการการเก็บขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของคนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบดังกล่าวมีการใช้งานทั้งเซนเซอร์ และระบบติดตามตำแหน่งด้วยดาวเทียม โดยใช้ติดตามรถขยะ มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์จุดเก็บขยะ เส้นทางการเดินรถเก็บขยะและแสดงผลบนระบบแดชบอร์ด พร้อมทั้งทำนายและจัดเส้นทางการเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการจัดเก็บขยะในพื้นที่ต่าง ๆ

ส่วนอีกหนึ่งระบบคือ “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การแก้ไขปัญหาสื่อสารกลับมาให้แก่ประชาชนได้ นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยังมีระบบบริหารจัดการและติดตามปัญหา บริการข้อมูลทางสถิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนงบประมาณและกำลังคน ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถตั้งกลุ่มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาของตนเองได้อีกด้วย

ที่ผ่านมาเนคเทค สวทช. ร่วมมือกับสมาคมสันนิตบาตเทศบาล และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำแพลตฟอร์ม “Traffy Fondue” ไปใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยนำ “Traffy Fondue” ไปใช้กับการรับแจ้งการเผาหรือการเกิดไฟป่าใน 50 จังหวัดอีกด้วย

นอกจากนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งพบการระบาดในเกือบทุกพื้นที่ ทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ “Traffy Fondue” ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอท เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานครเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลดังกล่าวต้องการทราบว่า คนที่มีความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 เดินทางกลับมายังภูมิลำเนามีอยู่ที่ใดของประเทศบ้าง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้มีส่วนรับผิดชอบสังคมและปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรียกได้ว่า “Traffy Fondue” เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ และมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างครบวงจร

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: