หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “TPMAP”จัดการความยากจนแบบชี้เป้าและตรวจสอบได้
“TPMAP”จัดการความยากจนแบบชี้เป้าและตรวจสอบได้
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"TPMAP"จัดการความยากจนแบบชี้เป้าและตรวจสอบได้

“ใครคือคนจน คนจนอยู่ที่ไหน ปัญหาของคนจนคืออะไร และจะแก้ไขปัญหาคนจนอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”

หากเรายังไม่รู้ถึงสิ่งเหล่านี้… แล้วเราจะแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติและระดับโลกได้อย่างไร

ด้วยมองว่า … “การแก้ปัญหาแบบปูพรม ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืนและตรงจุด” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จึงร่วมมือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯนำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า (Big data) มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ โดยพัฒนาเป็น “TPMAP” (ทีพีแมป) ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า

TPMAP 1.0 (Thai Poverty Map and Analytics Platform) หรือทีพีแมปเวอร์ชันแรก ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2561 มีการประยุกต์ใช้การนำเข้าข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า นำร่องในการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความยากจน โดยมุ่งตอบโจทย์ปัญหาข้างต้นไปพร้อม ๆ กัน

จากโจทย์ปัญหา…. เพื่อให้สามารถระบุได้ว่า “ใครคือคนจนที่แท้จริง” ซึ่งความยากจน หรือความขัดสนของประชาชนไม่ได้มีแค่มิติของ “รายได้” เท่านั้น

TPMAP ได้นำหลักดัชนี่ความยากจนหลายมิติ หรือ Multidimensional Poverty Index: MPI ซึ่งคิดค้นโดย Oxford Poverty & Human Development Initiative และ United Nation Development Programme (UNDP) มาประยุกต์ใช้กับข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จากกรมการพัฒนาชุมชนเพื่อหาคนจนหรือคนที่ขัดสนใน 5 มิติตามบริบทของประเทศไทย คือ “ด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการรัฐ”

จากข้อมูล จปฐ. ซึ่งเป็นแกนกลาง มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการลงทะเบียนภาครัฐของกระทรวงการคลัง เพื่อหาคนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน นอกจากข้อมูลแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่ได้มา ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เครือข่ายข้อมูล มีการบูรณาการข้อมูลเพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลซึ่งกันและกัน และแสดงผลในรูปแบบแผนที่เป็น Dashboard ทำให้เข้าใจฐานข้อมูลความยากจนเชิงพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ได้

ปัจจุบันระบบมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนคนพิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อมูลการรับเบี้ยคนพิการและผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช.)

นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการข้อมูลอื่น ๆ จากแต่ละภาคส่วน เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาในมิติอื่น ๆ นอกเหนือจากความยากจน และนำไปสู่การพัฒนาเป็นระบบสำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต หรือ TPMAP 2.0 (Thai People Map and Analytics Platform)

ระบบ TPMAP นี้ เปิดให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานที่ต้องการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับภาพรวมของประเทศจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านได้ ผ่านทาง https://www.tpmap.in.th/ ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลรายครัวเรือนหรือรายบุคคลนั้นจะรั่วไหล เพราะระบบจะให้สิทธิเฉพาะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยเข้าผ่านระบบ “TPMAP Logbook” (ทีพีแมป ล็อกบุ๊ก) หรือ “ระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งครัวเรือนและบุคคล

ทีมวิจัยจากเนคเทค สวทช. ได้ต่อยอดพัฒนา “TPMAP Logbook” ขึ้น เพื่อเป็น”เครื่องมือ” สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานได้สะดวกรวดเร็ว และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด

เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว บันทึกแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้ตรงตามข้อเท็จจริงในพื้นที่ ใช้สอบถามสาเหตุของปัญหาติดตามการแก้ปัญหารายครัวเรือน บันทึกข้อมูลปัญหาและกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งยังสามารถรายงานผลการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยตรวจสอบความคืบหน้าของการช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนได้

ปัจจุบันหลายจังหวัดเริ่มนำระบบ TPMAP และ TPMAP Logbook ไปใช้งานตัวอย่างเช่น สกลนคร สมุทรสงคราม ขอนแก่น มุกดาหาร และนครราชสีมาได้มีการนำเอาช้อมูลจากทั้ง 2 ระบบมาวิเคราะห์ หาข้อมูล ปัญหา และความต้องการเชิงลึกในแต่ละพื้นที่ อันนำไปสู่การจัดทำแนวทางแก้ไขที่สอดคล้อง เหมาะสมกับความต้องการและบริบทการพัฒนาในพื้นที่อย่างแท้จริง

เรียกได้ว่าระบบนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในการชี้เป้าที่ลงลึกได้ถึงรายบุคคล สามารถช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการพัฒนาคนได้ตลอดในทุกช่วงวัย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้น และสามารถออกแบบนโยบาย หรือโครงการที่ตรงกับความต้องการเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาปัญหาความซ้ำซ้อนของการรับสวัสดิการรวมทั้งปัญหา “ภาวะรั่วไหล” ในคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแต่ได้รับสวัสดิการ และ “ภาวะตกหล่น” หรือการเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงระบบบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาคนแบบชี้เป้าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประหยัดการใช้เงินงบประมาณ ส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลังของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: