หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “TGIST” ความสําเร็จยกกําลังสาม เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่
“TGIST” ความสําเร็จยกกําลังสาม เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่
17 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"TGIST" ความสำเร็จยกกำลังสาม เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่

            สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดตั้ง “โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” (Thailand Graduate Institute of Science and Technology program) หรือที่เรียกว่า “ทุน TGIST” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพและผลิตบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ยั่งยืนของประเทศ

            โดยโครงการฯ สนับสนุนทุนให้แก่นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ทำวิทยานิพนธ์ภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิจัยจากศูนย์แห่งชาติของ สวทช. เป็นรูปแบบการสร้างความสำเร็จยกกำลังสาม รวมถึง สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่พร้อมทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือในการทำวิจัย ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยซึ่งมีกลุ่มวิจัย/ศูนย์วิจัยเฉพาะทางมากกว่า 30 กลุ่ม/ศูนย์รวมทั้งห้องปฏิบัติการวิจัยที่ตั้งอยู่ ณ หน่วยปฏิบัติการ เครือข่ายของสวทช. ภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ 32 แห่ง และมีบุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอกมากกว่า 300 คน ที่พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษางานวิจัยให้กับนักศึกษา

           โครงการ “ทุน TGIST” ได้เริ่มสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพิ่มเป็น 23 สถาบัน มีโครงการวิจัยรวม 1,000 โครงการ มีผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษา แล้วจำนวนกว่า 812 คน (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563) ส่วนใหญ่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเข้าสู่การเป็นนักวิจัย นักเทคโนโลยี หรือ อาจารย์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 392 คน และศึกษาต่อต้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจำนวน 221 คน และทำงานด้านอื่น ๆ 199 คน

            นอกจากนี้โครงการยังสร้างโอกาสในการส่งต่อผู้รับทุนในระดับการศึกษาที่สูง ขึ้นผ่านโครงการทุนต่างๆ ของสวทช. จนผู้รับทุนสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดในระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้นักศึกษาที่ดูแล โดยสนับสนุนให้นักศึกษาสมัครขอรับทุนของโครงการเพื่อเข้าร่วมงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์กับนักวิจัยของ สวทช. เพื่อส่งต่อโอกาสจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างของความสำเร็จยกกำลังสามเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ ดังนี้

            รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของรางวัลทางวิชาการ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2556 รางวัล 2019 TRF-OHEC-SCOPUS Research Awards For Mid-career Scholar สาขา Physical Sciences และรางวัล 2017 The World Academy of Science (TWAS) สาขาฟิสิกส์ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ เป็นศิษย์เก่าโครงการทุน TGIST ที่กลับมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาทุนที่เกิดจากความร่วมมือพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย นักศึกษาทุน TGIST ระดับปริญญาเอก 2 คน ระดับปริญญาโท 4 คน ร่วมกับนักวิจัย สวทช. ได้แก่ ดร.ธีระพนธ์ แย้มวงษ์ และ ดร.ศุภมาส ด่านวิทยากุล

            รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล จันทร์พาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ตัวอย่างศิษย์เก่าทุนของ สวทช. ที่มีการส่งต่อบัณฑิตคุณภาพจากโครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) ในระดับปริญญาตรีสู่โครงการทุน U-IRC ในระดับปริญญาโท (โครงการสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาและการแข่งขัน ของภาคอุตสาหกรรม โดยกลไกความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย) และโครงการทุน TGIST ในระดับปริญญาเอก โดยมีผลงานวิจัยร่วมกับ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป (สวทช.) และรองศาสตราจารย์ ดร.นพ.บัญชา ชื่นชูจิตต์ และทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเหรียญเงินจากรางวัลประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเรื่อง “แกนเหล็กเพื่อตัดแนวกระดูกในการทำผ่าตัดข้อไหล่เทียมรายบุคคล” จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 43 ประจำปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และกลับมาร่วมมือกับ ดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาทุนประกอบด้วย นักศึกษาทุน YSTP 2 คน และนักศึกษาทุน STEM ระดับปริญญาโท 3 คน โดยนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น

            ได้รับเหรียญเงินจากรางวัลประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเรื่อง “แกนเหล็กเพื่อตัดแนวกระดูกในการทำผ่าตัดข้อไหล่เทียมรายบุคคล” จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 43 ประจำปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และกลับมาร่วมมือกับ ดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาทุนประกอบด้วย นักศึกษาทุน YSTP 2 คน และนักศึกษาทุน STEM ระดับปริญญาโท 3 คน โดยนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น

            สพ.ญ.สิริกร กิติโยดม นิสิตปริญญาเอก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของศิษย์เก่าโครงการทุน YSTP คือ ตร.ธีรพงศ์ยะทา (ขณะเป็นนักวิจัยที่นาโนเทค สวทช.) และ ดร.คทาวุธ นามดี ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.นพดล พิฬารัตน์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมกันพัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ไขและป้องกันโรคเหงือกเน่าให้แก่เกษตรกร จึงเป็นที่มาของงานวิจัย “วัคซีนแช่นาโน แบบเกาะติดเยื่อเมือกต้านโรคเหงือกเน่าในปลา” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับดีเด่นและเหรียญทอง จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาปี พ.ศ. 2563 

            และรางวัลระดับดี การประกวดข้อเสนอโครงการสายอุดมศึกษาปี พ.ศ. 2563 กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี พ.ศ. 2563 จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประเภทกลุ่มประจำปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้มีผลงานที่จดสิทธิบัตรและได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์แล้ว

            TGIST ได้ขยายผลสู่โครงการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้าน ว และ ท ระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงระดับปริญญาเอกและปริญญาโท ด้วยกลไกการความร่วมมือวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญของอาจารย์และนักวิจัยของ สวทช. ที่ตรงตามหัวข้องานวิจัยในยุทธศาสตร์เป้าหมายของประเทศ และมีเครือข่ายสถาบันการศึกษา/สถาบันการวิจัยที่มีชื่อเสียงต่างประเทศควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตนักวิจัยอาชีพรุ่นเยาว์คุณภาพสูงให้แก่ประเทศ 

            จากโปรแกรมการศึกษาที่มุ่งเน้นการทำวิจัย (Research based) ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองฝ่ายคือ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยและนักวิจัย สวทช. ที่มีผลงานและประสบการณ์การทำวิจัยสูง และมีความเชี่ยวชาญ ที่จะดูแลนิสิต/นักศึกษาในการทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ร่วมกัน โดยมีปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ ความร่วมมือด้านงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ สวทช. แล้ว จำนวน 8 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันวิทยสิริเมธี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล

            TGIST นอกจากจะสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก เข้าสู่การเป็นนักวิจัย นักเทคโนโลยีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมถึงอาจารย์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว รูปแบบความร่วมมือและการเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยรูปแบบความสำเร็จยกกำลังสามนี้ ยังสร้างผลกระทบและเปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศได้มากขึ้นอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: