หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ชุดสกัดอาร์เอ็นเอ ไวรัส SARS-CoV-2 อย่างง่าย
ชุดสกัดอาร์เอ็นเอ ไวรัส SARS-CoV-2 อย่างง่าย
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ชุดสกัดอาร์เอ็นเอ ไวรัส SARS-CoV-2 อย่างง่าย

การตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
(SARS-CoV-2) หรือโรคโควิด-19 ปัจจุบันยังนิยมใช้เทคนิค
Real-time RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจมาตรฐานสูงสุด(Goldstandard test)
หรือการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม

แต่ในการตรวจด้วยวิธีดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยการสกัดสารพันธุกรรมหรืออาร์เอ็นเอ (Ribonucleic acid, RNA) ของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งมีข้อจำกัดคือ ต้องใช้เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ (Automated) และใช้น้ำยาสกัดสารพันธุกรรมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 120-300 บาท ทำให้การตรวจคัดกรองโรคในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคเป็นจำนวนมาก มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น

เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดสกัดอาร์เอ็นเอจากต่างประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นและพัฒนา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย” ขึ้น โดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic bead) จับกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอของไวรัส ซึ่งอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR หรือ LAMP ต่อได้

ทั้งนี้วิธีการสกัดที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นวิธีที่ง่ายสามารถใช้งานกับสารเคมีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการด้านพันธุกรรม ซึ่งทีมนักวิจัยฯ ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงกับตัวอย่างตรวจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ที่สำคัญวิธีสกัดอาร์เอ็นเอนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอได้ทุกชนิด ไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์ และมนุษย์

การพัฒนา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสจากตัวอย่างแบบง่าย”
จึงถือเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะช่วยสนับสนุนความมั่นคง
ด้านสุขภาพ
ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดสกัดและช่วยให้ประเทศ
มีความพร้อม
ในการรับมือต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต
อีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: