หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. NSC-YSC-RDC ปั้นนักวิทย์-เทคโนฯ รุ่นเยาว์จากเวทีแข่งขันระดับชาติ
NSC-YSC-RDC ปั้นนักวิทย์-เทคโนฯ รุ่นเยาว์จากเวทีแข่งขันระดับชาติ
15 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

NSC-YSC-RDC ปั้นนักวิทย์-เทคโนฯ รุ่นเยาว์จากเวทีแข่งขันระดับชาติ

คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ “ไอที” ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ทุกคนขาดแทบไม่ได้

การสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดบุคลากรด้านไอทีขึ้นในประเทศ จึงเป็นนโยบายที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) รวมถึงหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในวงการไอที่ไทยต่างให้ความสำคัญและร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การใช้รูปแบบการประกวดแข่งขันก็เป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่สำคัญ ที่จะจุดประกายให้เยาวชนไทยค้นพบความสามารถด้านเทคโนโลยีและไอที และมีการพัฒนาตนเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ดังเช่น “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย” หรือ “National Software Contest: NSC” เวทีการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียกได้ว่าเป็น “ตำนาน” และจุดเริ่มต้นในสายไอทีของหลาย ๆ คน ในปัจจุบัน

โครงการนี้ต่อยอดมาจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาชอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่เนคเทค สวทช. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ต่อมาได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการและยกระดับให้เป็นเวทีการประกวดระดับประเทศ และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “NSC” ในปี พ.ศ. 2542

“NSC” เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนิสิต และนักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ และนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งทางโครงการมีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต และนักศึกษาพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปสู่การเป็นนักพัฒนา

ทั้งนี้ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

โครงการนี้ยังมีการสนับสนุนผู้ที่ได้รับรางวัลให้ไปแข่งขันต่อในเวทีระดับนานาชาติ เช่น งาน Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) ซึ่งเป็นการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกจากการประกวดการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์แล้ว เนคเทค สวทช.ยังได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการประกวด “โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition)” หรือ “YSC” ขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยเริ่มจากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาได้เพิ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และการประกวดประเภททีม ซึ่งเปิดกว้างสำหรับทุกสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

โดย “YSC ” เป็นการสนับสนุนให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษามีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้วิธีการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกในแต่ละภูมิภาคเพื่อเฟ้นหาตัวแทนมาเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ และผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยให้ไปแข่งขันต่อในรายการ “Intel InternationalScience and Engineering Fair” หรือ “Intel ISEF” ที่สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “Regeneron ISEF” เนื่องจากบริษัท Regeneron เป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563) ซึ่งเป็นเวทีการประกวดแข่งขันผลงานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานและผลักดันผลงานของเยาวชนไทยสู่เวทีระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชนไทยให้ครอบคลุมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนคเทค สวทช.จึงดำเนินการจัดงาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thailand ICT Contest Festival)” ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยรวมการประกวดแข่งขันสุดยอดผลงานนวัตกรรมด้าน ICT จากเยาวชนไทยจากทั่วประเทศทั้ง 2 กิจกรรมเข้าไว้ด้วยกัน และเพื่อให้ผลงานที่โดดเด่นของเยาวชนไทยไม่หยุดอยู่แค่การได้รับรางวัล เนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้ง “โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่” ขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เพื่อต่อยอดการพัฒนาเยาวชนจากโครงการ YSC และNSC ให้สามารถสานต่อผลงานสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้จริง ปัจจุบันโครงการ YSC, NSC และโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่สังกัด สวทช.

หนึ่งในตัวอย่างเยาวชนที่ผ่านเวทีการประกวดของ สวทช. และได้รับการต่อยอดในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ จนสามารถขยายผลงานไปสู่ภาคธุรกิจได้ คือ “นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์” เจ้าของผลงาน “ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2554 และเข้าร่วมในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ โดยได้รับทั้งทุนสนับสนุนและโอกาสในการขยายผล นำอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบใช้งานจริง และสามารถสร้างเครือข่ายการใช้งานจนสามารถประกอบเป็นธุรกิจได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สวทช. ยังสนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาด้านหุ่นยนต์ในโครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (Thailand Robot Design Camp: RDC Thailand) หรือชื่อเดิมว่าการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2562 โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

RDC Thailand เป็นโครงการสำหรับเยาวชนทั่วประเทศที่มีความสนใจพิเศษด้านหุ่นยนต์จากหลากหลายสาขา เพื่อพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้การจำลองการทำงานจริงร่วมกันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์พิชิตโจทย์ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ใช้รูปแบบเหมือนกับการแข่งขันระดับนานาชาติ RoBocon International Design Contest (IDC Ro Bo Con) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Massachusetts Institute of Technology(MIT) สหรัฐอเมริกา และ Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) ญี่ปุ่นในระยะเวลากว่า 12 ปีมีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ RDC Thailand รวม 1,813 คนจาก 76 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และมีเยาวชนที่ได้ประสบการณ์ในการแข่งขันเวทีระดับนานาชาติจำนวน 78 คน

ความสำเร็จของการดำเนินโครงการ RDC Thailand ได้สร้างบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แก่หน่วยงานและเอกชนของประเทศ นอกจากนั้นโครงการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพนักวิจัย พัฒนารูปแบบกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ให้มุ่งเน้นทักษะทางด้านการทำงานร่วมกันเป็นทีม พัฒนาสื่อและอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน ขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

การประกวดและแข่งขันสร้างผลงานของเยาวชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรคนด้านไอที ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจากสวทช. ไปแล้วมากกว่า 10,000โครงการ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นับเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของบุคลากรด้านไอทีในระดับเยาวชน ที่พร้อมจะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิจัย นักพัฒนา นวัตกรหรือผู้ประกอบการด้านไอที ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุค “ประเทศไทย4.0” ในสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เทคโนโลยีไอทีคือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: