หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “เทคโนโลยีวัสดุ”ตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศ
“เทคโนโลยีวัสดุ”ตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศ
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“เทคโนโลยีวัสดุ”ตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศ

“ความมั่นคงของประเทศ” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประเทศในทุกรูปแบบ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้เองในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงได้มีการผลักดันให้ “อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ” เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ลำดับที่ 11

ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศในการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่ การพัฒนา “เกราะกันกระสุน” ยุทธภัณฑ์ที่ช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของทหารและตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ประชาชนและประเทศ ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเซรามิก เซรามิกคอมโพสิทมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผ่นเกราะกันกระสุน ให้มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งและมีความแข็งแรงสูง สามารถรับมือกับอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างและการทะลุทะลวงสูงขึ้น

ทั้งนี้เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาเป็น “เสื้อเกราะกันกระสุน” ซึ่งผลิตจากอลูมินาเซรามิกความบริสุทธิ์ 96% และเส้นใยโพลีเอทิลีนคอมโพสิทสมบัติเชิงกลสูง เสื้อเกราะที่พัฒนามีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม/ชุด สามารถป้องกันภัยคุกคามในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) สหรัฐอเมริกา คือสามารถต้านทานการเจาะทะลวงด้วยกระสุน 7.62, M16 A1 และ M16 A2 งานวิจัยเสื้อเกราะกระสุนดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุน จากบริษัทพีทีที โพลิเมอร์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผลิตเสื้อเกราะจำนวน 100 ชุดมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสำหรับปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

เอ็มเทค สวทช. ยังมีร่วมมือกับคณะวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนา “แผ่นเกราะติดรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กทางทหาร” ป้องกันภัยคุกคามในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ ภายใต้โครงการการพัฒนาเกราะแข็งน้ำหนักเบาสำหรับการใช้งานด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารในกองทัพไทยแผ่นเกราะผลิตมาจากอลูมินาเซรามิกความบริสุทธิ์ 96% ประกอบร่วมกับแผ่นเคฟลาร์คอมโพสิทเป็นวัสดุรองรับ และมีความร่วมมือกับภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมอู่ทหารเรือ กองเรือลำน้ำ และกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ในการพัฒนา “แผ่นเกราะสำหรับเรือจู่โจมลำน้ำ” ภายใต้โครงการการพัฒนาและผลิตเกราะ แผ่นเกราะที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วยแผ่นเกราะใส ผลิตมาจากกระจกลามิเนต ผ่านการออกแบบการจัดเรียงชั้นสลับกับฟิล์ม สามารถป้องกันภัยคุกคามระดับ 3A และแผ่นเกราะทึบ ผลิตมาจากซิลิคอนคาร์ไบด์เซรามิกเสริมแรงอะลูมิเนียมประกอบร่วมกับเส้นใยแก้วเสริมแรงอีพอกซี่เรซินเป็นวัสดุรองรับ สามารถป้องกันภัยคุกคามระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ

สำหรับการวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ยางที่มีความต้องการใช้งานทางการทหารเป็นจำนวนมาก เอ็มเทค สวทช. ร่วมมือกับกรมอู่ทหารเรือ “วิจัยและพัฒนาคุณภาพใบพัดยางและยางกันกระแทกท่าเรือ” โดยพัฒนาเป็นต้นแบบใบพัดยางที่มีสมบัติเชิงกลและความทนทานต่อลำตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพการใช้งานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และต้นแบบยางกันกระแทกท่าเรือรูปตัวดีที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 2507-2553)

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา “สูตรยางสำหรับการผลิตแบริ่งรับเพลาเรือจากยางไนไตรล์ (NBR)” ที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับแบริ่งรับเพลาเรือจากต่างประเทศ และได้พัฒนาปลอกทองเหลืองพร้อมทั้งสร้างเครื่องทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของแบริ่งรับเพลาเรือ รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนา“ต้นแบบคัพปลิ้งแบบยืดหยุ่น (Flexible coupling) ที่ใช้ในเรือตรวจการณ์” ซึ่งเอ็มเทค สวทช. ได้พัฒนาต้นแบบคัพปลิ้งแบบยืดหยุ่นสำหรับใช้ในเรือตรวจการณ์ทางภาคใต้ (เรือ ต. 218) ที่มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 2 ปี โดยกรมอู่ทหารเรือได้นำสูตรยางที่พัฒนาขึ้นไปใช้ในการผลิตคัพปลิ้งแบบยืดหยุ่นเพื่อนำไปใช้งานจริงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

งานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ยางเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ช่วยยืดอายุการใช้งานยุทโธปกรณ์ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการซ่อมแซม และลดงบประมาณแผ่นดินแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สวทช. ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคงของประเทศอย่างหลากหลาย เช่น ด้านพลังงานและการกักเก็บพลังงาน เอ็มเทค สวทช. ดำเนินงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และสำนักวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพบก พัฒนาชุดแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานกับยุทโธปกรณ์เดิมได้ แถมมีความจุสูงกว่าเดิม 3 เท่า สามารถใช้งานได้ 24 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่ต้องชาร์จ ผ่านการทดสอบทางไฟฟ้าและทางกลตามมาตรฐานสากล และผ่านการทดสอบในสภาวะการใช้งานจริง 1 ปี โดยยังมีประสิทธิภาพเช่นเดิม และยังมีราคาต่ำกว่าที่จัดหาทดแทนจากต่างประเทศประมาณ 3-4 เท่า

นอกจากนี้เอ็มเทค สวทช. ยังมีการพัฒนาต้นแบบอาหารพลังงานสูงน้ำหนักเบา สำหรับพกพาเพื่อลดน้ำหนักสัมภาระในขณะที่ออกลาดตะเวน พร้อมกันนี้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. มีการพัฒนา E-nose ในการตรวจวัดกลิ่นแทนสุนัขทหาร และเนคเทค สวทช. ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่องานด้านความมั่นคงของประเทศ เช่น ระบบติดตามผู้ต้องสงสัย ระบบเหตุการณ์ความไม่สงบ ระบบจัดการข้อมูลจุดตรวจต่างๆ รวมถึงระบบตรวจลายนิ้วมือผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ในการยกระดับมาตรฐานด้านความมั่นคงของประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: