หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส
MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

MagikTuch ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส

โรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ไม่เพียง
แค่ “เจลแอลกอฮอล์” และ “หน้ากากอนามัย” ที่กลายเป็นของใช้จำเป็น
ที่ทุกคนต้องมีติดตัวไปทุกที่ แต่วิถีการใช้ชีวิตแบบไม่ประมาทก็กระตุ้น
ให้เกิด “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ ดังเช่น “ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส” (MagikTuch)
ที่ช่วยลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

นวัตกรรมนี้เป็นผลงานนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 รวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ จากการใช้จุดสัมผัสร่วมกันในที่สาธารณะ

ด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 นอกจากจะแพร่ระบาดโดยตรงจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อในระยะใกล้แบบไม่สวมหน้ากากป้องกันเชื้อ ยังเกิดจากการสัมผัสเชื้อด้วยมือและนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจากการเผลอใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก และดวงตาได้

ดังนั้นสิ่งของต่าง ๆ ที่มีคนใช้งานร่วมกันในที่สาธารณะหรือพื้นที่ใช้ร่วมกัน เช่น ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร จึงกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และนำพาเชื้อไปสู่คนที่สัมผัสต่อ ๆ กันได้ และไม่ได้มีแค่โรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโรคที่สามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่อยู่บนอุปกรณ์ สิ่งของต่าง ๆ ที่มีคนใช้งานร่วมกัน

ทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ สวทช. ได้ศึกษาข้อมูลความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคจากสถานที่ต่าง ๆ และเห็นว่า “ลิฟต์โดยสาร“เป็นหนึ่งในระบบขนส่งที่มีผู้ใช้ร่วมกันจำนวนมาก ทั้งในหน่วยงานโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล และบริษัท ดังนั้นทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะสัมผัสปุ่มกดลิฟต์ จึงได้พัฒนานวัตกรรมปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัสขึ้น เพื่อเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ลดการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแพร่กระจายโรคติดต่ออย่างโควิด-19 รวมถึงโรคอื่น ๆ

เมจิกทัช” เป็นระบบใช้งานแบบไร้สัมผัส สั่งการด้วยระบบเซนเซอร์ เพียงใช้นิ้วมือหรือหลังมือบังหน้าปุ่มเลขขั้นที่ต้องการในระยะห่าง 1-2 เซนติเมตร เซนเชอร์จะตรวจจับข้อมูลชั้นที่ต้องการเลือกและสั่งการลิฟต์ให้โดยอัตโนมัติ

ระบบมีการออกแบบให้สามารถป้องกันความผิดพลาดในการสั่งการ โดยเชนเซอร์จะตรวจจับเมื่อวางมือไว้ที่ตำแหน่งเลขชั้นปุ่มเดียวเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่าระบบจะสั่งการได้อย่างแม่นยำ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากการสั่งการที่ผิดพลาด

ด้วยระบบที่ออกแบบให้ไม่ต้องมีการสัมผัสปุ่มกดลิฟต์จึงช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการใช้งานลดการแพร่กระจายและลดการสะสมเชื้อโรคภายในลิฟต์ อย่างไรก็ดีพฤติกรรมของผู้ใช้งานยังคงคุ้นเคยกับการกดปุ่มลิฟต์ทีมนักวิจัยฯ จึงได้พัฒนาให้ปุ่มกดลิฟต์เมจิกทัชสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งแบบไร้สัมผัสในขณะที่ปุ่มก็ยังคงกดได้ตามปกติ (เมจิกทัชแบบทูอินวัน)

นอกจากนี้ “เมจิกทัช“ยังติดตั้งง่าย โดยเป็นชุดอุปกรณ์สำหรับดัดแปลงปุ่มกดลิฟต์ให้เป็นระบบไร้สัมผัส สามารถติดตั้งเข้าไปบนลิฟต์ตัวเดิมได้ โดยไม่ต้องเจาะตัวลิฟต์ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของระบบประกันจากบริษัทผู้ติดตั้งและผู้ดูแลลิฟต์ อีกทั้งออกแบบให้รองรับจำนวนชั้นที่แตกต่างกันตามสถานที่ที่ติดตั้งได้ และรองรับระบบการทำงานด้วยระบบไฟฟ้าทั้งกระแสสลับ (AC) และกระแสตรง (DC)

ปัจจุบันทีมนักวิจัยฯ มีความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนโดยมีการนำเมจิกทัชไปติดตั้งและทดสอบการใช้งานในอาคารต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช (ทดสอบบางอาคาร) และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

เมจิกทัช นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่นอกจากช่วยรับมือการ
แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และ
สอดรับกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ของผู้คนในยุคหลัง
โควิดอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: