หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “KidBright” สร้างแรงบันดาลใจสู่อนาคต
“KidBright” สร้างแรงบันดาลใจสู่อนาคต
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"KidBright" สร้างแรงบันดาลใจสู่อนาคต

การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนทำให้เกิดการเรียนรู้และคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นระบบซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอนาคตต่อไป

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงพัฒนาบอร์ดสมองกลฝังตัว ที่เรียกว่า “Kid Bright” (คิดไบรท์) ขึ้น โดยเน้นให้เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายเป็นบล็อก แค่ลากมาต่อ แม้เด็ก ๆ ที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์มาก่อนก็สามารถทำได้

KidBright ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำไปให้เด็ก ๆ ทดลองใช้ และนำมาปรับปรุงจนกระทั่งได้รับการผลักดันจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(ปัจจุบันเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ให้เป็นหนึ่งในโครงการบิ๊กร็อกที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดยดำเนินการเป็นโครงการ “KidBright: Coding at School” ขึ้น เพื่อสร้างเครื่องมือช่วยสอนโค้ดดิ้งและสะเต็ม รวมถึงการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดังกล่าวในโรงเรียนมัธยม โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบทและโรงเรียนด้อยโอกาส

ทั้งนี้ Kid Bright มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิดเชิงตรรกะร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดการเรียนรู้สู่การพัฒนาแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีด้วยตนเองในอนาคต โดยผู้เรียนสามารถสร้างชุดคำสั่งควบคุมการทำงานของบอร์ดผ่านโปรแกรมสร้างชุดคำสั่งที่ใช้งานง่าย เพียงการลากบล็อกคำสั่งมาวางต่อกัน (Drag and drop) รวมถึงมีการนำ Blockly มาผสมผสานเป็นบล็อกคำสั่งอย่างง่าย มีให้เลือกภาษาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ช่วยลดความกังวลเรื่องการพิมพ์ชุดคำสั่งผิด ชุดคำสั่งที่ถูกสร้างดังกล่าวจะส่งไปที่บอร์ดให้ทำงานตามที่กำหนดไว้ เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความขึ้นที่กำหนด หรือเปิด-ปิดไฟตามเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ KidBright ยังเป็นบอร์ดที่พัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ Learn and Play บอร์ดได้รับการออกแบบให้มีการแสดงผลและเซนเซอร์แบบง่าย โดยผู้เรียนสามารถออกแบบและสร้างชุดคำสั่งแบบ Block-structured programming ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน

จุดเด่นทางด้านเทคโนโลยีของ KidBright ก็คือ เซนเซอร์พื้นฐาน จอแสดงผล Real-time clock ลำโพง ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย และการสร้างชุดคำสั่งแบบ Block-structured programming ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ชุดคำสั่งส่งไปยังบอร์ดสมองกลฝังตัวผ่านเครือข่ายไร้สาย ทำให้ใช้งานได้ง่ายไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อสาย

สำหรับองค์ประกอบของ KidBright ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วนหลัก ที่มาพร้อมกับฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ คือ 1. บอร์ด KidBright ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นระบบอัตโนมัติที่ใช้งานได้จริง เหมาะสำหรับเป็นเครื่องมือการเรียนโค้ดดิ้งและสะเต็มในอุปกรณ์เดียว โดยไม่ต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มและสอดคล้องกับการเรียนรู้ในวิชาวิทยาการคำนวณ 2. Firmware ส่วนควบคุมการทำงานของบอร์ดKidBright ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่บริหารจัดการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งบนบอร์ดKidBright และบริหารจัดการการเชื่อมต่อกับเซนเซอร์และอุปกรณ์ภายนอก และ 3. โปรแกรมสร้างชุดคำสั่ง KidBright IDE ออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย โดยออกแบบบล็อกให้ใช้งานง่าย ลดความซับซ้อน มีส่วนดูแลการรับส่งข้อมูลจากเซนเซอร์

อย่างไรก็ดีในโครงการ “KidBright: Coding at School” ได้มีพัฒนาบอร์ดKidBright จำนวน 200,000 ชุด ส่งมอบให้แก่โรงเรียนมัธยมและสถานศึกษานำร่องจำนวน 2,200 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ ) และวิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยเครือข่าย พร้อมอบรมการสอนโค้ดดิ้งให้แก่บุคลากรผู้ฝึกสอน (Trainer) และคุณครูตามภูมิภาคจำนวนกว่า 4,000 คน เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนโค้ดดิ้งในโรงเรียนประถมและมัธยมของไทย รวมถึงได้มีการจัดทำเครื่องมือในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการเรียนสะเต็ม พร้อมทั้งจัดกิจกรรมประกวดโครงงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้งานบอร์ด KidBright

นอกจากนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบอร์ด ขยายความสามารถในกลุ่มนวัตกรไทย เนคเทค สวทช. มีการส่งเสริมให้เกิดเป็น “คิดไบรท์ คอมมูนิตี้” (KidBright Community) ในรูปแบบความร่วมมือจากเมกเกอร์ใน 4 ภาค ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่เมกเกอร์คลับ ภูเก็ตเมกเกอร์คลับ ขอนแก่นเมกเกอร์คลับ และเมืองหลวงเมกเกอร์คลับ ซึ่งเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาบอร์ดขยายความสามารถเพื่อเชื่อมต่อกับ KidBright IDE

ซึ่งเมกเกอร์ทั้ง 4 ภาคนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเพื่อรวมกลุ่มนวัตกรไทยในแต่ละพื้นที่ แล้วนำพลังของคอมมูนิตี้ มาสร้างให้เกิด “KidBright: Community base STEM Education Platform” ของประเทศ นำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ก่อเกิดรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ

จากการที่โครงการได้เปิด Open source ทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้แก่นักพัฒนาที่สนใจพัฒนาบอร์ดขยายความสามารถ และ Plugins มาเชื่อมต่อกับบอร์ด KidBright และ KidBright IDE แล้วผลิตจำหน่ายภายในประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและขยายการใช้งานบอร์ด KidBright อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพในกระบวนการคิดพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยกระดับการศึกษาของประเทศให้ทัดเทียมประเทศต่าง ๆ กระตุ้นให้เกิดสังคมนวัตกรรม และส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ อีกทั้งยังลดการนำเข้ามากกว่า 600 ล้านบาท

KidBright จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการเรียนการสอนสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เยาวชนไทยสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายแบบไม่มีขีดจำกัด

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: