หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “ITAP” ปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วย วทน.
“ITAP” ปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วย วทน.
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"ITAP" ปลดล็อกข้อจำกัดทางธุรกิจด้วย วทน.

ตอกย้ำ…ความสำเร็จของ “ไอแทป” (ITAP) หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถขยายการให้บริการและความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย จากจุดเริ่มต้นปีละ 10 โครงการมาสู่ปัจจุบันที่สามารถให้บริการได้ถึงปีละ 1,500 โครงการ

            ความสำเร็จนี้มาจากกลไกที่ดีในการสนับสนุนฯ ของโปรแกรมไอแทป (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนวกกับจุดแข็งของ สวทช. ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายเทคโนโลยีและมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศ ซึ่งกลายเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการ และเชื่อมั่นในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว

            ทั้งนี้โปรแกรมไอแทป สวทช. จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยดำเนินงานในการช่วยผลักดันให้ SMEs สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสมสามารถยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และมีการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่สามารถสร้างรายได้ที่แท้จริง ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของประเทศได้

            ไอแทป สวทช. มีกลไกการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยี (TechnologySenvice Providers) กับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) ในรูปแบบของการช่วยวิเคราะห์ความต้องการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือตามโจทย์ความต้องการ และร่วมบริหารโครงการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำโครงการสูงสุด 50% แต่ไม่เกิน 4 แสนบาทต่อโครงการ ตามเกณฑ์ของโปรแกรมซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีและเชื่อมโยงไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย

            ปัจจุบันไอแทป สวทช. มีผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 1,500 ราย ที่พร้อมให้บริการตอบโจทย์เทคโนโลยีทุกรูปแบบ ที่ผ่านมาไอแทป สวทช. ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้บริการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมทางด้านอาหารและเกษตร ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต

            ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโปรแกรม อย่างเช่นกลุ่มบริษัทโชคนำชัย กรุ๊ป ที่มีเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับสวทช. มายาวนาน โดยได้เข้าร่วมโปรแกรมไอแทปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และมีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถเติบโตจากบริษัทผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่ผลิตมากแต่กำไรน้อยมาสู่การเป็นผู้ผลิตเรือและรถโดยสารจากโครงสร้างอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีการวิจัยออกแบบและสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง รวมถึงมุ่งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถบัสไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ในอนาคต

            นอกจากนี้ยังมีบริษัทรอยัลเซรามิคส์ จำกัด จังหวัดลำปาง ธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารซึ่งมีการส่งออกไปวางจำหน่ายในต่างประเทศแต่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ไอแทป สวทช. ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา ช่วยออกแบบกระบวนการผลิตที่ทำให้โครงสร้างต้นทุนต่ำลงอย่างมาก และพัฒนาการผลิตจากแบบดั้งเดิมมาเป็นระบบสายพานป้อนชิ้นงานและควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ รวมถึงปรับเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ พัฒนาเตาเผาเป็นไฟเบอร์และอิฐทนไฟคุณภาพสูง รวมถึงออกแบบระบบนำความร้อนทิ้งมาใช้อบไล่ความชื้น และสร้างตู้อบที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ลดเวลา ลดพลังงานที่ใช้ ลดของเสีย พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด สามารถเข้าสู่ตลาดระดับโลกได้ด้วยกำลังการผลิตมากขึ้น อาทิ ห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงหลายประเทศ เช่น Walmart สหรัฐอเมริกา ฝรั่งศส และอังกฤษ

            ส่วนบริษัทเข็มเหล็ก จำกัด (KEMREX) ผู้พัฒนานวัตกรรมฐานรากยุคใหม่ ซึ่งมีแนวคิดที่จะพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้านวัตกรรมเข็มเหล็ก (Series F, Series FS, Series D) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการตรวจสอบความแข็งแรงของเข็มเหล็กแต่ละประเภท และได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากไอแทป สวทช. ที่ได้นำผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มทักษะในการควบคุมคุณภาพการผลิตเข็มเหล็ก มีการออกแบบทดสอบความแข็งแรงของเข็มเหล็ก หลักการสำรวจดิน การคำนวณ และแปลผลการทดสอบ รวมถึงการรวบรวมผลการทดสอบต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงช่วยให้บริษัทสามารถเลือกใช้เข็มเหล็กได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทำให้บริษัทฯ ได้รับเอกสารรับรองตามมาตรฐาน ASTM D1143 Standard Test Methods for Deep Foundations Under Static Axial Compressive Load และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยได้

            ด้วยสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้หลายคนพบกับความเหนื่อยล้าทางสมองส่งผลให้กระบวนการใช้ความคิดและความจำไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ นักศึกษาและคนวัยทำงาน บริษัทฟอร์แคร์ จำกัด จึงวิจัยและพัฒนาเครื่องดื่มดาร์คช็อกโกแลตผสมคาเคาออร์แกนิค เพื่อเสริมความจำและกระบวนการคิดของสมองช่วยให้นอนหลับดีต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเห็นความสำคัญของการศึกษาเชิงคลินิกเพื่อให้รู้ข้อมูลและทราบประสิทธิภาพที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ ไอแทป สวทช. จึงช่วยสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยทางคลินิกให้บริษัทฯ ภายใต้โครงการ “วิจัย พัฒนา และการทดสอบทางคลินิกในอาหารฟังก์ชัน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไอแทป สวทช. กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ที่ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น

            สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ต้องมีการป้องกันตนเองที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย บริษัทเอวีเอส อินโนเวชั่น จำกัด ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่ปราศจากแอลกอฮอล์ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้โดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อร่างกายและยังสามารถปกป้องได้ยาวนานเกิดเป็นฟิล์มบางเคลือบมือป้องกันเชื้อโรคได้นาน 12 ชั่วโมง ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากไอแทป สวทช. ในโครงการ Fast track:Medical devices fight covid-19 ด้วยการนำผลิตภัณฑ์มาศึกษาประสิทธิภาพของไฮโดรเจลและวิจัยผลการออกฤทธิ์การยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อราแบคทีเรียของไฮโดรเจลสำหรับทำความสะอาดมือ ซึ่งผลิตภัณฑ์เจลล้างมือนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมจากประเทศแคนาดา อีกทั้งยังสามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย

            ขณะที่ปัญหาเรื่องพื้นที่มีจำกัด ธุรกิจเกษตรในเมืองใหญ่เป็นไปได้ยาก บริษัทลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารและคลังสินค้า มองเห็นช่องทางของธุรกิจการสร้างฟาร์มเกษตรในอาคาร และช่วยลดต้นทุนการผลิตของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสำหรับพืชผักและผลไม้เมืองหนาว บริษัทฯ ได้มองหาองค์ความรู้การทำระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (plant factory) ที่สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้ ไอแทป สวทช. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและจัดสร้างระบบต้นแบบฟาร์มเกษตรในอาคาร มาช่วยในการวางระบบการให้สารอาหารแก่พืชผักและผลไม้ รวมถึงการให้น้ำโดยอาศัยแรงดูดตามหลักคาปิลลารี่ (Capillary Tube) การควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติตามช่วงการปลูก การควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และการควบคุมคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังได้วางระบบแสง LED และออกแบบโมบายด์แอปพลิเคชันที่ใช้ในสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อใช้ในการติดตามและควบคุมการทำงานของทุกระบบ เกิดการสร้างรายได้ในการสั่งซื้อแบบและจ้างงานก่อสร้าง อีกทั้งยังสามารถสร้างผลผลิตสตรอว์เบอร์รีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและสร้างรายได้ในพื้นที่จำกัดอย่างมีคุณภาพ

            ถ้าพูดถึงร้านอาหารในจังหวัดอุดรธานีแล้ว ร้าน BEYOND CAFE เป็นหนึ่งในความโดดเด่นเรื่องเมนูเค้กเบเกอรี่และเครื่องดื่มที่หลากหลาย ซึ่งจากการขยายสาขาเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการจัดการ รวมถึงจำนวนข้อมูลของรายการอาหารและรายละเอียดในการจัดการที่ชับซ้อน ซึ่งโปรแกรมสำเร็จรูปทั่วไปไม่สามารถตอบโจทย์ได้ไอแทป สวทช. ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ระบบเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดคล้องกับการจัดการภายในร้าน รวมทั้งมีการออกแบบการเช็กคลังสินค้าวัตถุดิบและการสั่งซื้ออาหารให้ใช้งานง่ายและเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการ ช่วยลดปัญหาความซับซ้อนและการผลิตได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้กว่า 900,000 บาทต่อปีและลดการสต็อกวัตถุดิบลงได้ 5%

            จากความสำเร็จของผู้ประกอบการ โปรแกรมไอแทป สวทช. จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยสำคัญในการให้คำปรึกษาและเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจแล้ว ยังเป็นตัวเร่งให้เอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้แบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: