หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “Hemoglobin Bart’s” ตัวช่วยคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย
“Hemoglobin Bart’s” ตัวช่วยคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

“Hemoglobin Bart’s” ตัวช่วยคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย

“ธาลัสซีเมีย” เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างเฮโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนในเลือด ทําหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อสายโกลบินผิดปกติ ส่งผลให้เฮโมโกลบินผิดปกติด้วย ทําให้เม็ดเลือดแดงตกตะกอนและเกิดภาวะโลหิตจาง

โรคธาลัสซีเมียที่สําคัญมี 2 ชนิด คือ “แอลฟาธาลัสซีเมีย” และ “บีตาธาลัสซีเมีย” แอลฟาธาลัสซีเมียยังแบ่งได้เป็น แอลฟาธาลัสซีเมีย 1 และแอลฟาธาลัสซีเมีย 2

แม้ในประเทศไทยจะพบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียเพียง 1% แต่ที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้สูงถึง 40% หากคู่สมรสที่เป็นพาหะหรือมียีนโรคนี้แฝงอยู่จะส่งผลให้บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียถึง 50% และมีโอกาสเป็นพาหะถึง 25% โดยชนิดที่ 1 รุนแรงถึงขั้นทําให้ทารกที่เกิดมาเสียชีวิตทุกราย และมารดาอาจได้รับผลกระทบอีกด้วย

การตรวจหาผู้ที่เป็นพาหะของโรคนั้นไม่ง่ายนัก วิธีการตรวจแบบเดิมเป็นวิธีทางอณูชีววิทยา เช่น วิธีพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction) ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะที่จะนํามาตรวจในประชากรจํานวนมาก จึงต้องมีการคิดค้น และพัฒนาชุดตรวจที่ช่วยให้การตรวจไม่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายน้อย สามารถนํามาใช้กับประชากรจํานวนมากได้

ทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือพร้อมทั้งสนับสนุน “รองศาสตราจารย์ ดร.วัชระ กสิณฤกษ์” และคณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาการพัฒนาชุดตรวจอย่างง่าย เพื่อคัดกรองพาหะแอลฟา ธาลัสซีเมีย โดยพัฒนาวิธีการผลิตน้ำยาหรือแอนติบอดีที่มีความจําเพาะต่อเฮโมโกลบินบาร์ต น้ำยาดังกล่าวสามารถจับกับเฮโมโกลบินบาร์ตที่พบในตัวอย่างเลือดของบุคคลที่เป็นพาหะแอลฟาธาลัสซีเมีย

จากนั้น ทีมนักวิจัยฯ จับมือกับบริษัทไอเมด ลาบอราทอรี่ จํากัด นําน้ำยาจากแอนติบอดีที่มีความจําเพาะต่อเฮโมโกลบินบาร์ต มาพัฒนาเป็นชุดตรวจชนิด Immunochromatographic strip test หรือชุดตรวจอิมมูโนแบบแถบสีเพื่อตรวจหาเฮโมโกลบินบาร์ต ในตัวอย่างเลือด

การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า ชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นตรวจหาเฮโมโกลบินบาร์ตได้อย่างจําเพาะ โดยไม่ทําปฏิกิริยากับเฮโมโกลบินชนิดอื่น จากนั้น ทีมนักวิจัยฯ นําชุดตรวจไปประเมินผลการตรวจหาพาหะและผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ชนิดต่าง ๆ ที่ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้อง 100% ใช้ง่าย โดยวิธีการตรวจด้วยชุดตรวจแบบแถบสีที่พัฒนาขึ้นนั้นจะใช้เลือดเพียง 0.1 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำยาที่ทําให้เม็ดเลือดแดงแตกออก แล้วจุ่มแผ่นชุดตรวจลงไป ตั้งทิ้งไว้อีก 2 นาที แล้วล้างแผ่นชุดตรวจ อ่านผลทดสอบด้วยตาเปล่า ถ้าปรากฏแถบสีเพียงแถบเดียว แสดงว่าปกติผลเป็นลบ แต่หากพบว่ามี 2 แถบสี แสดงว่าเป็นพาหะผลเป็นบวก ใช้เวลาเพียง 3 นาที ไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ ไม่ต้องการบุคลากรที่มีความชํานาญสูงในการวิเคราะห์

ต่อมาทีมนักวิจัยฯ ได้ให้ศิริราชพยาบาล โดยมี “ศาสตราจารย์ นพ.สุทัศน์ ฟูเจริญ” ผู้เชี่ยวชาญด้านธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาธาลัสซีเมียและโลหิตวิทยา นําไปทดสอบ ประยุกต์ใช้ จากนั้นจึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชุดทดสอบนี้ให้แก่บริษัทไอเมด ลาบอราทอรี่ จํากัด ดําเนินการผลิตและจําหน่ายในชื่อทางการค้า i+LAB aTHAL

นวัตกรรมนี้ลดข้อจํากัดในการตรวจคัดกรองผู้เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ตอบความต้องการทางด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงเป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการควบคุมและลดอุบัติการณ์ของโรคธาลัสซีเมีย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: