หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. สร้างรากฐาน-ก้าวไกลโครงการไอทีตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สร้างรากฐาน-ก้าวไกลโครงการไอทีตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
9 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

สร้างรากฐาน-ก้าวไกลโครงการไอทีตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที และทรงศึกษาการใช้งานเทคโนโลยีนี้ด้วยพระองค์เอง ทรงตระหนักถึงศักยภาพและประโยชน์ของไอทีในฐานะเครื่องมือที่สามารถใช้พัฒนาประเทศในหลายด้าน และมีพระราชดำรัสกับผู้ถวายงานเกี่ยวกับการนำไอทีมาใช้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในหลายวาระ

ทั้งนี้พระองค์ทรงพระเมตตาอยากให้เด็กนักเรียนในชนบทห่างไกลบุคคลทุพพลภาพ รวมถึงบุคคลที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ได้นำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง สังคม ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระองค์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำ “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมรากุมารี” (http://www.princess-it.org)ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลังออกสลากการกุศลงวดพิเศษและได้นำเงินรายได้จากการออกสลากดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในปี พ.ศ. 2539 เพื่อใช้สำหรับดำเนินการกิจกรรมในโครงการ

จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ซึ่งมี สวทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมทั้งเด็กในชนบท ผู้พิการเด็กป่วยในโรงพยาบาลและผู้ต้องขัง

ปัจจุบันมีการดำเนินงานผ่าน 6 โครงการหลัก
โครงการแรกคือ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในการส่งเสริมการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนในชนบท เพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานให้แก่นักเรียน โครงการนี้ได้ส่งมอบคอมพิวเตอร์พระราชทานเพื่อการศึกษา โดยสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ จัดทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมด้วยหนังสือสอนคอมพิวเตอร์เบื้องต้น ขณะเดียวกันยังมีการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการเรียนในชนบท เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้เทคโนโลยี นอกจากนี้สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ ยังสนับสนุนการฝึกอบรม เพื่อสามารถนำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ถ่ายทอดให้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์แห่งกลุ่มเรียนต้นแบบที่จังหวัดนครนายก โรงเรียนนครนายกวิทยาคม เมืองนครนายก และโรงเรียนปิยชาติพัฒนา เพื่อเป็นศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงมีการเรียน CAI เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต

านอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์บริการตรวจคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์บริการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย นครสวรรค์ ปทุมธานี อุบลราชธานี อีกทั้งยังมีการสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้มีการพัฒนาทางด้านการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในการค้นคว้าและเรียนรู้ รวมถึงการวิจัย ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน รวมทั้งดำเนินการผลิตสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อแจกจ่ายแก่โรงเรียนในโครงการด้วย

โครงการที่ 2 คือ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วยในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนพิการ และทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีอิสระมากขึ้น โดยดำเนินงานใน 2 ลักษณะ ได้แก่ โครงการนำร่องและโครงการพัฒนา อุปกรณ์ชอฟต์แวร์สำหรับคนพิการ โดยโครงการนำร่องเป็นการทดลองนำ เทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในโรงเรียน หรือสถานสงเคราะห์คนพิการ เพื่อช่วยในเรื่องการศึกษา การเรียนการสอน และเพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในภายหลัง รวมทั้งการนำอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ สำหรับคนพิการไปให้ใช้เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เด็กหรือผู้พิการเหล่านั้น เช่น อุปกรณ์เพื่อช่วยสื่อสารชอฟต์แวร์ช่วยฝึกการออกเสียง เปล่งเสียง เพื่อประเมินดูผลการใช้ และหากได้ผลดีจะได้ขยายผลไปยังผู้พิการที่อื่น ๆ ต่อไป ปัจจุบันมีการดำเนินการใน 2 แห่งคือ ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์และมูลนิธิสิริวัฒนา เชสเชียร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

สำหรับโครงการพัฒนาอุปกรณ์ชอฟต์แวร์สำหรับผู้พิการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น มีการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่อุปกรณ์เหล่านี้มักจะมีใช้กันมากในต่างประเทศ มีราคาสูง จึงได้มีการเริ่มวิจัยและพัฒนาขึ้นใช้ ในประเทศเป็นการช่วยให้ผู้พิการสามารถมีอุปกรณ์เหล่านี้ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต เช่น โครงการจัดทำอุปกรณ์สัญญาณเสียงเพื่อช่วยในการเดินทางของคนตาบอด โครงการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับช่วยสื่อสารขนาดพกพาสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการออกเสียง (โอภา) โครงการพัฒนาโปรแกรมสำหรับช่วยสื่อสารด้วยภาษาไทยสำหรับผู้ที่สูญเสียความสามารถทางการพูด (ปราศรัย) และโครงการพัฒนามัลติมีเดียภาษามือเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์

โครงการที่ 3 คือ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาคุณภาพและศักยภาพการศึกษาทางด้านไอทีสำหรับเด็กที่ป่วยในโรงพยาบาล มีเป้าหมายให้เด็กที่ป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลได้ใช้ไอทีในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน และส่งเสริมพัฒนาการของเด็กป่วย ซึ่งจะขาดโอกาสทางการศึกษา เมื่อต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

มีการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์พระราชทานฯ เพื่อเด็กป่วยขึ้นเป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กที่ต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานได้มีกิจกรรมเพื่อการศึกษาเรียนรู้ โดยอาศัยเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย และบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ซึ่งสามารถช่วยเยียวยา จิตใจเด็กที่เจ็บป่วยทางร่างกายให้รู้สึกคลายความเจ็บปวด ไม่กลัวโรงพยาบาล และเสริมต่อการศึกษาในช่วงเวลาที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ได้จัดสรรคอมพิวเตอร์ 10 ชุด พร้อมบทเรียนช่วยสอนให้แก่ศูนย์ฯ และได้อบรมครูของศูนย์ฯ ให้มีความรู้ในการพัฒนาบทเรียน CAI ปัจจุบันได้มีการขยายผลโครงการฯ ไปยังโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้สานต่อพระราชดำริฯ ขยายไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ

โครงการที่ 4 คือ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการข้อมูลเรื่องคนหายพลัดหลง มีการจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามเด็กหายหรือเด็กที่ถูกล่อลวง โดยความร่วมมือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสงเคราะห์ และองค์กรเอกชน (NGO) และบริษัทคอมพิวเตอร์แอสโซซิเอตส์ จำกัด ให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการฐานข้อมูล ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบให้สามารถรองรับภาษาไทยได้

โครงการที่ 5 คือ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศทัณฑสถานหญิงกลางบางเขน เป็นโครงการไอทีเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังจัดทำโครงการนำร่องในระหว่างปีพ.ศ. 2542-2545 ด้วยการจัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 20 เครื่องและเครื่องพิมพ์ 2 เครื่อง ให้แก่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่ได้รับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตเมื่อพ้นโทษ

ปัจจุบันโครงการฯ ดำเนินการเพื่อหางานที่เหมาะสมให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถทำงานและมีรายได้ระหว่างถูกคุมขัง นอกจากนี้ผู้ต้องขังยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและสามารถทำธุรกิจส่วนตัวได้หลังจากได้รับอิสรภาพ

โครงการที่ 6 คือ โครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชดำริให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการโครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบข้อมูลทางวัฒนธรรมของชาติให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศโดยให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งจัดบันทึกข้อมูลลงซีดีรอม ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สะดวกในการศึกษา ค้นคว้า และมีอายุการใช้งานได้นาน

ทั้งนี้จะเผยแพร่ความรู้ในสาขาชาติพันธุ์วิทยา มานุษยวิทยา และธรรมชาติวิทยาในหัวข้อต่าง ๆ เช่น สถานที่สำคัญ (Site) อย่างแหล่งโบราณคดีและสถานที่สำคัญทางศาสนา บุคคลสำคัญและปราชญ์ชาวบ้าน (Important figures and philo-sophers) วิถีชีวิต (Way of life) เช่น ประเพณีท้องถิ่น พิธีกรรม ความเชื่อ และการละเล่นพื้นบ้าน ภูมิปัญญา (Wisdom) ที่มีทั้งภูมิปัญญาด้านการเกษตรสุขภาพอนามัย และเทคโนโลยีพื้นบ้าน ของดีท้องถิ่น (Local products) ทั้งอาหาร ของคาว ของหวาน ผักและผลไม้ เอกสารสำคัญ (Manuscripts) ต่าง ๆ และธรรมชาติวิทยา (Natural history) ไม่ว่าจะเป็นซากใบไม้และพืชที่ทับถมกัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก แมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา สัตว์ทะเล แร่ธาตุ หิน ป่าไม้ และน้ำมัน

จากพระอัจฉริยภาพและพระเมตตาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในวงกว้างมากขึ้น ฉันจะนำไปสู่การช่วยลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้แก่ ผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคมได้อย่างแพร่หลายต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: