หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. พัฒนาบุคลากร STEM รองรับภาคอุตสาหกรรมเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
พัฒนาบุคลากร STEM รองรับภาคอุตสาหกรรมเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
15 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

พัฒนาบุคลากร STEM รองรับภาคอุตสาหกรรมเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามโมเดล “ประเทศไทย4.0” ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC) ที่จะช่วยยกระดับให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง หรือประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใน ปี พ.ศ. 2575 ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ

แต่เนื่องจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตและบริการ รวมถึงภาคการสนับสนุนที่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ฯลฯ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรม” ขึ้น เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกที่มีความสนใจในการทำโครงการหรืองานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเป้าหมาย สามารถสมัครเข้ารับทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้โดยมีระยะเวลารับทุน 6-12 เดือน

โดย 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของประเทศ ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ที่ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ทั้งนี้ผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการศักยภาพบุคลากร STEM เช่น อาจารย์หรือมหาวิทยาลัยที่มีผู้ช่วยวิจัยระดับปริญญาโท-เอก จะได้ใช้ประโยชน์ในการ

ร่วมทำวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยสนับสนุนให้งานวิจัยสำเร็จเร็วขึ้น และพัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานจริง มีโอกาสได้รับการจ้างงานและได้รับค่าตอบแทนระหว่างการทำโครงการ

สำหรับภาคอุตสาหกรรมสามารถลดต้นทุนในการจ้างผู้ช่วยนักวิจัย และมีโอกาสคัดเลือกนักศึกษา (ผู้ช่วยนักวิจัย) ที่มีศักยภาพเพื่อร่วมงานในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยให้งานวิจัยสำเร็จเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการช่วยสนับสนุนของอาจารย์และนักศึกษาอีกทั้งยังมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยและ สวทช.

โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกของ สวทช. ในปี พ.ศ. 2560-2561ในการพัฒนาบุคลากรวิจัยด้าน STEM เผื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศแบบเร่งด่วนจำนวน 273 คน และยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการระหว่าง สวทช. กับสถาบันการศึกษารวมถึงกระตุ้นให้เกิดการนำองค์ความรู้ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: