หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. เทคโนโลยีเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมกุ้งไทย
เทคโนโลยีเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมกุ้งไทย
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

เทคโนโลยีเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมกุ้งไทย

“กุ้ง” เคยเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ แต่หลังจากประสบปัญหาทั้งเรื่องของโรคตายด่วน ปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยจากที่เคยเป็นแชมป์ด้านการส่งออกกุ้งมายาวนาน ต้องเลื่อนอันดับอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแม้ปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นแต่ผลผลิตก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย

ทั้งนี้ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ก็คือการมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ทั้งด้านค่าแรงงาน อาหารกุ้ง และค่าใช้จ่ายจากผลกระทบวิกฤตโรคระบาดต่าง ๆ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและผลิตเพื่อส่งออก ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง วิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้

เริ่มตั้งแต่ “การผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งปลอดโรค” โดยในปี พ.ศ. 2546ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และกองทัพเรือ จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง (Shirmp GeneticImprovement Center: SGIC)” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรคให้เกษตรกร

ศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตและคัดเลือกลูกกุ้งที่มีคุณภาพสูง ปลอดโรค รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการผลิตพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรคจากรุ่นสู่รุ่นและลูกกุ้งที่ผ่านการคัดเลือกจะส่งไปยังส่วนที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชจะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

เบื้องต้นเริ่มจากการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดโรค เพื่อใช้ทดแทนพ่อแม่พันธุ์ธรรมชาติที่มีน้อย แก้ปัญหาคุณภาพลูกกุ้ง และการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดกับแม่พันธุ์ธรรมชาติได้ ซึ่งการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดโรคของศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง จะทำในระบบปลอดภัยทางชีวภาพ มีการพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการนำกุ้งกุลาดำจากที่ต่าง ๆ ในธรรมชาติมาเข้ากระบวนการ ตั้งแต่หน่วยกักกันโรคที่มีหน้าที่กรองและคัดทิ้งกุ้งที่ติดโรคเพื่อสร้างความมั่นใจว่ากุ้งที่นำมาสู่ระบบจะไม่มีเชื้อโรคติดต่ออย่างน้อย 2 รุ่น หลังจากนั้นจะส่งไปยังศูนย์ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ และศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์กุ้ง

เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำแล้ว ได้มีการนำไปคัดเลือกหาพ่อแม่พันธุ์ที่ดีที่สุดในรุ่นนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นจึงค่อยนำไปสู่ขั้นตอนการคัดเลือกลูกกุ้งจากครอบครัวที่ดี และส่งไปยังศูนย์เพิ่มจำนวนพ่อแม่พันธุ์ที่จะมีหน้าที่เลี้ยงลูกกุ้งจนโตเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แล้วจึงส่งให้โรงเพาะฟักนำไปผลิตเป็นลูกกุ้งเพื่อส่งให้กับเกษตรกรต่อไป

เทคโนโลยีการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ช่วยทำให้กุ้งกุลาดำเติบโตเร็วขึ้น ต้านทานโรค และยังมีความอึด ทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจนเป็นที่พอใจของเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ไบโอเทค สวทช. ยังมีการตั้งทีมวิจัยและพัฒนาบริการด้านเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Service Development Research Team: AQST)ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีการสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกุ้ง เช่น ให้คำปรึกษาแก่เอกชนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำชนิดอื่นเพื่อศึกษาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงการให้บริการรับจ้างวิจัย

สำหรับอาหารในการเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่า อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกุ้งและปลามีความจำเป็นต้องใช้ปริมาณอาหารในการเพาะเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงกุ้งถึง 19,000 ล้านบาท และอาหารเลี้ยงปลา 13,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจุบันการให้อาหารสัตว์น้ำ มักพบปัญหาสัตว์น้ำในวัยอนุบาลต้องการสารอาหารที่ย่อยง่าย ดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว แต่สารสำคัญหลายชนิดมีความไม่คงตัว มักจะละลายไปกับน้ำเมื่อให้อาหาร นอกจากนี้อาหารสัตว์น้ำที่เติมเอนไซม์หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต มักจะไม่เสถียรในกระบวนการผลิตดั้งเดิมที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง ประกอบกับนโยบายของสหภาพยุโรปที่ลดการใช้ปลาเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ ผู้ประกอบการหลายรายพยายามในการพัฒนาสูตร แต่มักมีข้อจำกัดทั้งทางด้านต้นทุนและวัตถุดิบทดแทนปลา

สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จึงได้มีการพัฒนา “ไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ” พัฒนาเป็นสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งแบบไร้ปลาป่นในรูปแบบไฮโดรเจล ซึ่งใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในโครงสร้างแบบเจลมาใช้ในการเพิ่มความสามารถในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย และช่วยยืดอายุของอาหารไม่ให้เน่าเสียอย่างรวดเร็ว

สูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งดังกล่าวใช้กากถั่วเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนปลาป่น ซึ่งสามารถเติมสารสำคัญอื่น ๆ รวมถึงไขมันเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำได้มากกว่าอาหารที่มีขายในท้องตลาด ผ่านการทดสอบเลี้ยงลูกกุ้งในภาคสนามมาแล้วกว่า 6 ล้านตัว โดยเปรียบเทียบกับอาหารลูกกุ้งที่เป็นผู้นำตลาดโลก พบว่ามีอัตราการรอดและอัตราการเจริญเติบโตสูง ใกล้เคียงกับอาหารกุ้งวัยอนุบาลที่มีขายในท้องตลาด แต่มีอัตราการสิ้นเปลืองลดน้อยลงกว่า 20%เพราะเป็นอาหารเม็ดที่ไม่สลายตัวในบ่อเลี้ยง อีกทั้งดูดซึมได้เร็ว ไม่สูญเสียสารสำคัญในระหว่างการย่อยเหมือนอาหารกุ้งทั่วไป

อาหารไฮโดรเจลสูตรไร้ปลาป่นดังกล่าว ปัจจุบันมีได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ ต่อยอดใช้งานกับการเพาะเลี้ยงกุ้งแบบครบวงจร

นอกจากการพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงลูกกุ้งที่ตอบโจทย์นโยบายทางการค้าและเพิ่มประสิทธิภาพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว ในช่วงที่อุตสาหกรรมกุ้งไทยประสบปัญหาวิกฤตโรคตายด่วน หรือโรคกุ้งอีเอ็มเอส สวทช. โดยไบโอเทค ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนา “ชุดตรวจเชื้อก่อโรคตับตายฉับพลันสาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งอีเอ็มเอส” หรือ “Amp-Gold” ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการผู้เพาะเลี้ยงหรือกลุ่มเกษตรนำไปใช้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคด้วยเทคนิคที่ใช้งานได้ง่าย รวดเร็ว และไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ผล

ชุดตรวจ “Amp-Gold” เป็นการพัฒนาวิธีตรวจเชื้อแบคทีเรียวิบริโอพาราฮีโมไลติคัสด้วยการใช้เทคนิคแลมป์ ซึ่งเป็นเทคนิคเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอที่มีความจำเพาะต่อยีนที่สร้างสารพิษของเชื้อดังกล่าว โดยอาศัยการทำงานของเอ็นไซม์ที่อุณหภูมิ 65องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที ต่อจากนั้นนำสารละลายที่ได้มาตรวจจับกับดีเอ็นเอที่ติดฉลากด้วยอนุภาคทองคำนาโน ทำให้ใช้เวลาในการตรวจรวมทุกขั้นตอนเพียงแค่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งมีความไวกว่าเทคนิคเดิมคือ พีซีอาร์ (PCR) ถึง 100% ช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต เพราะไม่ต้องนำเข้าจากชุดตรวจโรคกุ้งจากต่างประเทศผลงานวิจัย “Amp-Gold” นี้ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมากในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาจากสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2560

ด้วยผลงานวิจัยในการแก้วิกฤตโรคระบาดให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต การนำเข้าชุดตรวจจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าผลผลิตและเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมกุ้งต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: