หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ สารสนเทศวิเคราะห์ รายงานสถานภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วารสาร Science ทดสอบเสนอตีพิมพ์บทความวิจัยวิทยาศาสตร์ปลอมไปยังวารสารแบบเปิด
วารสาร Science ทดสอบเสนอตีพิมพ์บทความวิจัยวิทยาศาสตร์ปลอมไปยังวารสารแบบเปิด
20 ต.ค. 2556
0
รายงานสถานภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สารสนเทศวิเคราะห์

บทนำ
ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2013 John Bohannon ผู้สื่อข่าวประจำวารสาร Science ได้ทดลองยื่นเสนอบทความวิจัยปลอม (fake research papers) จำนวน 304 เรื่องไปยังวารสารแบบเปิด (open access journals) โดยเป็นบทความวิจัยที่แต่งเรื่องกุเรื่องขึ้นมา มีข้อบกพร่องมีข้อตำหนิซึ่งควรจะได้รับการปฏิเสธทันที จากบรรณาธิการ และ ผู้ตรวจสอบเนื้อหา แต่ผลการทดสอบพบว่ามีวารสารแบบเปิดจำนวนมากยอมรับให้ตีพิมพ์ได้ Bohannon ได้จัดทำ Interactive Map แสดงข้อมูลประเทศ ของวารสารที่มีการยอมรับให้ตีพิมพ์และปฏิเสธพร้อมด้วยข้อมูลการติดต่อทางอีเมล ข้อมูล IP Adress และบัญชีธนาคารแสดงที่เว็บไซต์ –  http://scicomm.scimagdev.org/  ถือว่าเป็นการทดสอบคุณภาพวารสารแบบเปิดทั่วโลกที่น่าสนใจ

วารสาร Scienceรูปที่ 1 : Interactive Map โดย John Bohannon

รายละเอียดในช่วงการทดสอบ
John Bohannon ได้แต่งเรื่อง/กุเรื่องบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วยการปลอมชื่อนักวิทยาศาสตร์ ปลอมชื่อสถาบัน จัดทำเป็นบทความ 304 ชุด (versions) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับโมเลกุลที่สกัดได้จากไลเคนเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง เสนอไปยังวารสารแบบเปิดที่มีการระบุว่ามีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา (peer review journals)

รูปที่ 2 : ตัวอย่างบทความปลอมที่กุเรื่องขึ้นมาเสนอตีพิมพ์

ทั้งนี้ John Bohannon ได้เสนอบทความดังกล่าวไปยังวารสารชื่อ Journal of Natural Pharmaceuticals ของสำนักพิมพ์ Medknow ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งสำนักพิมพ์นี้ตีพิมพ์วารสารราว 270 ชื่อ จำนวนกว่า 2 ล้านบทความและเมื่อปี 2011 สำนักพิมพ์นี้ถูกซื้อโดย Wolters Kluwer (เป็นสำนักพิมพ์ด้านการแพทย์ชั้นนำประเทศเนเธอร์แลนด์ มีรายได้ราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี) บรรณาธิการของวารสารนี้ชื่อ Ilkay Orhanเป็นศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Eastern Mediterraneanเมือง Gazimagosa ประเทศไซปรัส ได้ติดต่อกลับมาให้แก้ไขเพียงผิวเผินและต่อมายอมรับให้ตีพิมพ์หลังจากนั้นเพียง 51 วัน  นอกจากนี้บทความวิจัยปลอมนี้ยังได้รับการยอมรับจากสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 2 แห่ง คือ Elsevier และ Sage ด้วย และยังได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์จากสถาบันการศึกษาชั้นนำ คือ Kobe University, Japan  ในวารสารชื่อ  Journal of Experimental & Clinical Assisted  Reproduction
คงมีเพียงสำนักพิมพ์ PLOS ONE ที่ปฏิเสธการเสนอตีพิมพ์ใน 2 สัปดาห์ด้วยเหตุผลว่าบทความนี้มีปัญหาเรื่องจริยธรรม

รูปที่ 3 : ตัวอย่างอีเมลที่ผู้แต่งติดต่อกับสำนักพิมพ์ต่างๆ

นักชีววิทยาDavid Ross แห่งUniversity of Pennsylvania กล่าวว่าวารสารแบบเปิดที่หลอกลวง โกหกนั้นมีการวางแผน คิดอุบาย เป็นกาฝากของชุมชนวิจัยวิทยาศาสต์เช่นสำนักพิมพ์ Scientific & Academic Publishing  (SAP) ประกาศตัวเป็นสำนักพิมพ์ที่มีคุณภาพระดับโลก ตีพิมพ์วารสารราว 200 ชื่อ ตั้งอยู่ที่นอกเมืองลอสแอนเจลีส แคลิฟอร์เนีย เมื่อลองเลือกวารสารมา 1 ชื่อ คือ The American Journal of  Polymer  Science พบว่าบางส่วนของเนื้อหามีการคัดลอก (cut and pasted) จากเว็บไซต์ของวารสาร Journal of Polymer Science ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Wiley ในปี 1946

กระบวนการคัดเลือกชื่อวารสารแบบเปิดจากแหล่งข้อมูลที่สำคัญ
กระบวนการคัดเลือกชื่อวารสารแบบเปิดจากแหล่งสำคัญ ทำโดยผู้แต่งได้คัดเลือกรายชื่อวารสารแบบเปิดจากแหล่งข้อมูลที่สำคัญ 2 แหล่งใหญ่ๆ  คือ
Directory of Open Access Journals (DOAJ) และ Beall’s List

Directory of Open Access Journals (DOAJ) เป็นแหล่งข้อมูลบัญชีรายชื่อวารสารวิชาการแบบเปิดที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ จัดทำมายาวนานเกือบ10 ปีโดยห้องสมุดของ Lund University ประเทศสวีเดนและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยปีที่แล้วมีการเพิ่มชื่อวารสารเข้ามาอีกราว 1,000 ชื่อ  ปัจจุบันมีชื่อวารสารจำนวนรวม 8,250 ชื่อ
Beall’s List  เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาโดย Jeffrey Beall จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ที่แสดงรายชื่อสำนักพิมพ์หลอกลวงที่เขาเรียกชื่อว่า Predatory publishers ชุมชนวิจัยวิทยาศาสตร์ต่างให้การยกย่อง Beall’s List  ว่ามีคุณค่ามากแก่วงการวิทยาศาสตร์
ผู้แต่งบทความนี้ได้ตรวจสอบรายชื่อวารสารจากทั้ง 2 แหล่ง คือ DOAJ กับ Beall’s List และคัดเลือกจากทั้งสองแหล่ง จนที่สุดคัดเลือกวารสารได้จำนวน 304 ชื่อ (จาก DOAJ 167 ชื่อ จาก Beall 121 ชื่อทั้งนี้มี 16 ชื่อที่ซ้ำกัน)  สามารถดูรายละเอียดที่แสดงเป็น Interactive Map ได้ที่  เว็บไซต์ –  http://scim.ag/OA-Sting

ธรรมเนียมของการตีพิมพ์บทความวิจัย
ปกติธรรมเนียมของการเสนอตีพิมพ์บทความวิทยาศาสตร์ หากมีข้อผิดพลาดในเนื้อหาของบทความสำนักพิมพ์ต้องปฏิเสธการให้ตีพิมพ์ รวมถึงไม่ควรมีการเสนอตีพิมพ์ในเรื่องแบบเดียวกันไปยังวารสารเป็นหลักร้อยชื่อ บทความวิจัยปลอมที่เสนอตีพิมพ์เรื่องนี้แสดงข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง และเพื่อให้แนบเนียนยิ่งขึ้นผู้แต่งได้แสดงชื่อนักชีววิทยาอาสาสมัครจาก Harvard University เข้าไปด้วยและในบทสรุปเขารายงานว่าโมเลกุลที่ค้นพบชนิดนี้มีความหวังในการผลิตยาชนิดใหม่เพื่อที่จะรักษามะเร็ง
ในช่วง 6 เดือน เขาได้ทดลองเสนอตีพิมพ์ราวสัปดาห์ละ10 เรื่องในวารสาร  1 ชื่อของแต่ละสำนักพิมพ์โดยคัดเลือกวารสารในสาขาเภสัชศาสตร์ ก่อนลำดับแรก ตามมาด้วย สาขาแพทย์ สาขาชีววิทยา และเคมี ผู้แต่งใช้อีเมลของยาฮูเสนอยื่นตีพิมพ์บทความแบบอัตโนมัติ (Automate submission) จากนั้นเริ่มมีการติดต่อกลับมาจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ขอให้แก้ไขเนื้อหาแบบผิวเผิน เช่นการจัดหน้า รูปแบบ ให้เพิ่มรูปภาพไลเคน เป็นต้น แต่ไม่มีการขอให้แก้ไขในจุดที่บกพร่องสำคัญเลย หลังจากนั้นก็ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ ซึ่งท้ายสุดผู้แต่งได้แจ้งกลับไปว่า ขอถอนการเสนอการตีพิมพ์ออกด้วยเหตุผลว่าพบมีจุดผิดพลาดอย่างมากเช่น มีจุดบกพร่องในการทดลองเรื่องนี้ บทสรุปไม่เป็นจริง

ผลการทดสอบการเสนอตีพิมพ์
Science Magazine เริ่มเสนอข่าวเรื่องนี้เมื่อการทดลองนี้ใช้วารสารรวม 255 ชื่อ สรุปว่ามีวารสารจำนวน 157 ชื่อ ยอมรับให้ตีพิมพ์ ปฏิเสธ 98 ชื่อ ส่วนที่เหลืออีก 49 ชื่อ (แบ่งเป็น 29 ชื่อ ดูเหมือนมีการยกเลิกไปด้วยเว็บไซต์หายไป และอีก 20 ชื่อแจ้งกลับมาว่ากำลังตรวจสอบอยู่  จึงได้ตัดออกจากการทดลอง) พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนวันที่ตอบรับให้ตีพิมพ์อยู่ที่ 40วัน ส่วนการปฏิเสธเท่ากับ 24 วัน
จากบทความ 255 เรื่อง พบว่า ร้อยละ 60 ไม่มีร่องรอยของการตรวจสอบเนื้อหาเลย (peer review) มีวารสารอยู่ 106 ชื่อ ที่สังเกตได้ว่ามีการตรวจสอบ ซึ่งในที่สุดยอมรับให้ตีพิมพ์ร้อยละ 70 โดยจุดที่ให้แก้ไขหลักๆเช่น การจัดวางเนื้อหา(layout) รูปแบบเนื้อหา (formatting) และภาษา เท่านั้นและยังพบว่าจากการยื่นเสนอมีเพียง 36 ชื่อจาก 304 ชื่อ ที่ให้ความเห็นในเรื่องว่ามีปัญหาทางเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ในบทความที่เสนอไป
Beall’s List เป็นแหล่งข้อมูลที่แสดงถึงรายชื่อวารสารวิชาการแบบเปิดที่ไม่มีคุณภาพพบว่ามีวารสารในกลุ่มนี้มากถึงร้อยละ 82 ที่ยอมรับให้ตีพิมพ์บทความปลอมนี้แต่เป็นที่ประหลาดใจที่แหล่งข้อมูลวารสารที่ DOAJ ที่มีการยอมรับร้อยละ 45 โดยที่ผู้ก่อตั้ง DOAJ กล่าวว่าไม่น่าเชื่อเลยขณะนี้กำลังปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกวารสารให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

รูปที่ 4 : ผลการทดสอบการเสนอตีพิมพ์

การแพร่กระจายของสำนักพิมพ์แบบเปิด (ที่ทดสอบ) ในระดับโลก
ผู้แต่งบทความนี้ได้จัดทำข้อมูลการแพร่กระจายของสำนักพิมพ์แบบเปิดในระดับโลกในรูป Interactive Map ให้ข้อมูลชื่อสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ บัญชีธนาคาร วารสารเหล่านี้มีการตั้งชื่อต่างๆ เลียนแบบชื่อวารสารชื่อเดิม  เช่น American Journal of  Medical and Dental Sciences, European Journal of Chemistry ซึ่งทั้ง 2 ชื่อนี้ ตีพิมพ์ที่ประเทศปากีสถานและตุรกี บรรณาธิการเป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีของมหาวิทยาลัย Mersin ตุรกี
จากการศึกษาพบว่าวารสารที่ไม่มีคุณภาพเหล่านี้ มีฐานอยู่ที่ประเทศอินเดียถึง 1 ใน 3 ส่วน  (มีการยอมรับ  64 ชื่อ ปฏิเสธ 15 ชื่อ) รองลงมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา (ยอมรับให้ตีพิมพ์ 29 ชื่อ ปฏิเสธ 26 ชื่อ) ดังภาพ

รูปที่ 5 : Interactive Map แสดงผลการเสนอตีพิมพ์

ทั้งนี้ข้อมูลจาก Interactive Map http://scicomm.scimagdev.org/
แสดงวารสารชื่อ International Transaction Journal of Engineering, Management, & Applied Sciences & Technologies ระบุว่ามาจากประเทศไทย

รูปที่ 6 : วารสารจากประเทศไทย

การตอบสนองของสำนักพิมพ์วิชาการชั้นนำในการเสนอตีพิมพ์บทความปลอมนี้
สำนักพิมพ์ชั้นนำยักษ์ใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ 2 แห่งคือ Sage, Elsevierต่างยอมรับการเสนอตีพิมพ์บทความจอมปลอมนี้ด้วย ในปี 2012 สำนักพิมพ์ Sage ได้รับการยกย่องให้เป็น The Independent Publishers Guild Academic and  Professional Publisher ประจำปี ซึ่งได้ตอบรับทางอีเมลยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ  Journal of International Medical Research โดยไม่มีให้แก้ไขใดๆ ส่งมาพร้อมใบแจ้งหนี้ในราคา 3,100 USD  บรรณาธิการเป็นศาสตราจารย์สาขา Psychopharmacology แห่ง King’s College กรุงลอนดอนและเป็นสมาชิกของ Royal Society of  Psychiatrists อีกด้วย
ส่วนสำนักพิมพ์ Elsevier ยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อDrug Invention Today ซึ่งสำนักพิมพ์แจ้งว่าจริงๆไม่ได้เป็นเจ้าของวารสารนี้แต่เป็นการจัดพิมพ์ให้ที่อื่น บรรณาธิการคือ ศาสตราจารย์สาขาเภสัชศาสตร์ แห่ง BLDEA College, Bijapur อินเดีย
ส่วนวารสารจากสถาบันการศึกษาชื่อ Kobe Journal of Medical Sciences แห่งKobe University ญี่ปุ่น มีการตอบรับให้ตีพิมพ์และตอบกลับทางอีเมล ที่ต่อมาผู้แต่งร้องขอถอนการเสนอบทความนี้ออก
Hindawi สำนักพิมพ์แบบเปิดที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งตั้งที่กรุงไคโร อียิปต์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2004  ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ ในกองบรรณาธิการราว 1,000 คน ตีพิมพ์วารสาร 559 ชื่อ 25,000 บทความต่อปี ประกาศว่าสำนักพิมพ์ยึดหลักการ Publication Ethicsได้ตอบปฏิเสธให้ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Chemotherapy Research and Practice ด้วยเหตุผลว่ามีข้อผิดพลาดที่ชัดเจนและได้แนะนำให้เสนอไปยังวารสารชื่ออื่นๆ ของ Hindawi คือ ISRN Oncology  ซึ่งต่อมาก็ตอบปฏิเสธเช่นกัน

 

บทสรุป
ทุกคนในชุมชนวิทยาศาสตร์ต่างยอมรับว่าวารสารแบบเปิด (Open Access) เป็นเรื่องที่ดีแต่มีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุความสำเร็จได้ ผู้ก่อตั้ง arXiv กล่าวว่าการผลิตวารสารวิชาการคุณภาพต้องมีข้อผูกมัดพื้นฐานที่สำคัญ คือ กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขา (Peer review) แต่เป็นที่น่าเสียใจมากที่ขณะมีวารสารแบบเปิดที่ไม่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ในสัดส่วนที่สูงมากกลายเป็นวารสารที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพ ทำลายชุมชนวิจัยโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่รัฐบาลและมหาวิทยาลัยออกหนังสือรับรองให้บุคคลที่ผลิตบทความที่ไม่มีคุณภาพเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง
John Bohannon  (2013). Who’s afraid of peer review ? A spoof paper concocted by Science reveals little or no scrutitiny at many open-access journals. Science (4 October 2013)  Vol. 342  No. 6154  P.60-65
(Available at   http://www.sciencemag.org/content/342/6154/60.full )

แชร์หน้านี้: