หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “TBRC” ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย
“TBRC” ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"TBRC" ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย
จุดแข็งของประเทศไทย ต่อยอดทางเศรษฐกิจ

จุลินทรีย์และชีววัสดุ เป็นหนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

            แต่ด้วยความหลากหลายของจุลินทรีย์และชีววัสดุในประเทศไทยที่มีสูงมากแม้ประเทศไทยจะมีแหล่งเก็บจุลินทรีย์และชีววัสดุจำนวนมากกระจายอยู่ตามหน่วยงานและสถาบันการศึกษา แต่ก็ยังไม่มีศูนย์ใดที่จะสามารถรองรับการจัดเก็บรักษาจุลินทรีย์ได้ทุกชนิด ขณะเดียวกันการอนุรักษ์ เก็บรวบรวม และรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุเหล่านี้ให้คงอยู่ในระยะยาว จำเป็นต้องมีระบบการจัดเก็บที่ถูกต้องและมีมาตรฐาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและยังคงคุณภาพในการนำไปใช้ประโยชน์

            เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการเก็บรวบรวมและรักษาจุลินทรีย์และชีววัสดุในประเทศไทย และเกิดการเข้าถึง แบ่งปัน และนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจได้มากขึ้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สะสมองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์มากว่า 20 ปี โดยจัดตั้งเป็นห้องปฏิบัติการเก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ (BIOTEC Culture Collection: BCC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และต่อยอดองค์ความรู้เหล่านี้ พร้อมทั้งจัดตั้ง ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (Thailand Bioresource Research Center:TBRC)”  ขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการชีววัสดุที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ

            ครอบคลุมบริการชีววัสดุประเภทต่าง ๆ ทั้งจุลินทรีย์ ดีเอ็นเอ พลาสมิดโมโนโคลนอลแอนติบอดี ไฮบริโดรมา เชลล์สัตว์ และเนื้อเยื่อพืช รวมทั้งให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีววัสดุแบบครบวงจร

            ศูนย์ TBRC ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอาคารนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต ปทุมธานี ซึ่งสามารถรองรับการทำวิจัยของภาคเอกชนที่จะมีเข้ามาใช้บริการได้เพิ่มมากขึ้น

            การบริการของศูนย์ฯ แห่งนี้ เน้นที่การสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในภาคอุตสาหกรรม ด้วยระบบการบริหารจัดการชีววัสดุที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูงทั้งในด้านการจัดเก็บรักษาชีววัสดุ การบริการฐานข้อมูลเชิงบูรณาการสำหรับชีววัสดุของประเทศ เพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากชีววัสดุได้อย่างยั่งยืน และการดำเนินการที่สอดคล้องรองรับกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ

            อีกทั้งยังมุ่งสร้างกลไกการพัฒนาฐานทรัพยากรจุลินทรีย์และเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            TBRC มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับกฎระเบียบนานาชาติในเรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในฐานะศูนย์ชีววัสดุของประเทศ

            ปัจจุบันได้มีการจัดทำร่างแนวทางการบริหารจัดการชีววัสดุ การจัดทำรูปแบบข้อตกลงของการถ่ายโอนวัสดุทางชีวภาพ (Material Transfer Agreement) การบริหารจัดการเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีววัสดุโดยมุ่งเน้นเรื่องแนวปฏิบัติของการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ชีววัสดุในเชิงพาณิชย์ 

           นอกจากนี้ TBRC ยังได้ก่อตั้งและเชื่อมโยงกับเครือข่ายการวิจัยการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เช่น ศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์แห่งประเทศไทย (Thailand Network on Culture Collection: TNCC) เครือข่ายคลังชีววัตถุที่เกิดจากงานวิจัยในสถาบันการศึกษาของประเทศ และเครือข่ายคลังชีววัสดุในหน่วยงานของกลุ่มประเทศอาเซียนปัจจุบัน TBRC มีสมาชิกมากกว่า 130 ราย

            ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการจัดเก็บชีววัสดุ ผนวกรวมกับบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลแบบบูรณาการ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิจัย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลจาก TBRC และเครือข่ายสมาชิกทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการได้อย่างรวดเร็วในรูปแบบออนไลน์ทำให้เกิดการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย และในภูมิภาคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

            TBRC จึงนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ในการช่วยยกระดับการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ให้มีความก้าวหน้าและสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามแนวทางขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “บีซีจีโมเดล” (Bio-Circular-Green Economy: BCG)หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: