หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ
ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ
9 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ

ปัจจุบันมีการรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
และสนับสนุนการนำวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาใช้งานมากขึ้น
แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า บรรจุภัณฑ์ที่กล่าวอ้างตามท้องตลาดนั้น
เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจริงหรือไม่ เงื่อนไขประการหนึ่ง
คือบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวจำเป็นต้องมี “ใบรับรอง” ซึ่งจะต้องผ่านการ
ทดสอบตามมาตรฐานที่กำหนด

เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบสามารถทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และได้มาตรฐานสากล โดยไม่จำเป็นต้องนำวัสดุ
ไปทดสอบมาตรฐานในต่างประเทศ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ได้จัดตั้ง “ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ” (Biodegradation Testing Section: BDT) ขึ้น โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุ
การเสื่อมสภาพของวัสดุอันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น และการย่อยสลายทางชีวภาพอันเนื่องมาจาก
การทำงานของจุลินทรีย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้สำหรับขอการรับรองประกอบการขายหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การให้บริการทดสอบครอบคลุมชนิดของตัวอย่างที่หลากหลาย เช่นบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มพลาสติกและกระดาษ ผลิตภัณฑ์สำหรับงานด้านเกษตรกรรม กาว หมึกพิมพ์ เม็ดสี สารตัวเติม สารเคมี สารทำความสะอาด สารซักฟอก และน้ำมันแร่

การทดสอบดังกล่าวได้การรับรองระบบคุณภาพ ISO 17025 จากสถาบัน DIN CERTCO ประเทศเยอรมนี ที่ครอบคลุมขอบข่ายการทดสอบ
การย่อยสลายของวัสดุมากที่สุดในเอเชีย รายงานผลของการทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

นอกจากจะดำเนินงานทดสอบให้แก่ลูกค้าแล้ว BDT ยังให้คำปรึกษาและข้อแนะนำในการผลิต รวมถึงเตรียมเอกสารสำคัญส่งตรงให้ถึงหน่วยรับรอง (Certifed body) เพื่อสร้างความเข้าใจ ลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุของเอ็มเทค สวทช.
ได้มีการพัฒนาเทคนิคการย่อยสลายที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะสมต่อการทดสอบวัสดุที่หลากหลายภายใต้
ในสภาวะต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีชุดทดสอบขนาดเล็กสำหรับการให้บริการทดสอบเบื้องต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบ โดยการทดสอบทั้งหมดอ้างอิงตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ผลการทดสอบเป็นที่น่าเชื่อถือ
และใช้ได้ในระดับนานาชาติ รวมถึงการให้บริการทดสอบวัสดุภายใต้สภาวะจริงด้วย

ในด้านการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา BDT มีเครื่องมือและความเชี่ยวชาญในการผลิตผลิตภัณฑ์ในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ตันแบบให้แก่อุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเคมีสีเขียว เพื่อช่วยลดต้นทุนในการวิจัยและพัฒนา

การให้บริการของ BDT ในปัจจุบันจะครอบคลุมใน 14 รายการ เช่น การทดสอบเพื่อประเมินระยะเวลาการเก็บและการใช้งานของวัสดุต่าง ๆ ครอบคลุมชนิดของตัวอย่างที่หลากหลาย เช่น บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มพลาสติก ยาง และกระดาษ การเสื่อมสภาพของวัสดุโดยแสงซีนอนและแสงยูวี
การย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุในระดับอุตสาหกรรมและในระดับครัวเรือน การย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุในดิน และการย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุโดยจุลินทรีย์แบบไมใช้ออกซิเจน

นอกจากนี้ BDT ยังมีบริการทดสอบการย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุในสภาวะเลียนแบบบ่อฝังกลบ รวมถึงในสภาวะจริงของบ่อฝังกลบ และการย่อยสลายทางชีวภาพของวัสดุในน้ำทะเล สารเคมีในดิน และการทดสอบความเป็นพิษที่มีต่อพืช เป็นต้น

ส่วนผลการทดสอบจะมีทั้งแบบ “Biodegradability test” ที่แสดงผลเป็นกราฟอัตราการย่อยสลายของวัสดุทดสอบในช่วงระยะเวลาที่ทำการทดสอบภายใต้สภาวะที่กำหนด “Disintegration test”แสดงผลพฤติกรรมการแตกหรือสลายตัวในช่วงเวลาที่ทำการทดสอบ

ภายใต้สภาวะที่กำหนด และ “Ecotoxicity test” ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบ หรือความเป็นพิษที่มีต่อพืชและสัตว์ของวัสดุทดสอบที่อาจเหลือตกค้างอยู่หลังจากผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้ว

การทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุนี้เป็นส่วนสำคัญ
ในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดในขั้นตอนสุดท้าย และยังสามารถหมุนเวียน
ขยะที่ย่อยสลายตามธรรมชาติกลับมาเป็นวัสดุที่มีมูลค่าได้ ตอบโจทย์
การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: