หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. DDC-Care ติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงโควิด-19
DDC-Care ติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงโควิด-19
10 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

DDC-Care ติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงโควิด-19

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือไวรัส
โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ด้วยความร่วมมือ
ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างเร่งด่วนช่วยรับมือ
วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ในการ
ติดตาม เฝ้าระวัง กลุ่มเสี่ยง ที่เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและควบคุม
การแพร่ระบาดของโรค

ทีมนักวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (เอ-เมด) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาแอปพลิเคชัน “DDC-Care” ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้น ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกในประเทศไทย ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ เตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที

โดยการทำงานของระบบ “DDC-Care” แบ่งออกเป็น 3 แอปพลิเคชัน คือ
1. DDC-Care REGISTRY: เว็บแอปพลิเคขันสำหรับลงทะเบียนใช้งานระบบผ่าน SMS หรือ QR Code ที่มีการยืนยันตัวตน ให้ลงทะเบียนได้เฉพาะผู้ที่เจ้าหน้าระบุเท่านั้น

2. DDC-Care APP: แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์พกพาอื่น ๆ ที่สามารถดึงพิกัดผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติผ่านระบบ GPS และแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ เมื่อมีการออกนอกพื้นที่กักตัวที่ปักหมุดไว้เกินกว่าที่กำหนด นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะประเมินความเสี่ยงของผู้ใช้งานพร้อมให้คำแนะนำตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรคแบบอัตนมัติ เมื่อผู้ใช้งานกรอกแบบคัดกรองสุขภาพตนเองรายวัน หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ระบบจะแนะนำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมแสดงเลขหมายโทรศัพท์ซึ่งสามารถโทรฯ ออกผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยสามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดผ่าน Huawei AppGallery (สำหรับเครื่อง Huawei ที่ไม่มี Google PlayStore)
รองรับ 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และพม่า รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้จากเว็บไชต์ https://ddc-care.com/

และ 3. DDC-Care DASHBOARD: เว็บแอปพลิเคชันสนับสนุนการติดตามสุขภาพและการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงแบบเรียลไทม์ (Real-time) ในรูปแผนที่แสดงตำแหน่งที่อยู่ของกลุ่มเสี่ยงในภาพรวม พร้อมสถานะแสดงระดับความเสี่ยงการออกนอกที่พัก และการปิด GPS ตารางแสดงข้อมูลสุขภาพในระยะเวลา 14 วันของกลุ่มสี่ยงแต่ละราย แผนที่แสดงประวัติการเดินทาง และตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันของกลุ่มเสี่ยงรายคน โดยเจ้าหน้าที่สามารถเรียกดูข้อมูลของกลุ่มเสี่ยงตามสิทธิ์ที่ได้รับมอบหมาย

 

ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 กรมควบคุมโรคได้นำร่องใช้งานระบบ DDC-Care กับกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สถาบันบำราศนราดูรเป็นแห่งแรก จากนั้นได้ขยายการใช้งานไปยังโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพมากกว่า 60 แห่ง สำนักงานป้องกันและควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอมากกว่า 20 แห่ง

ทีมนักวิจัยฯ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบ DDC-Care อย่างต่อเนื่อง และได้นำมาใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการติดตามการกักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ทั้งผู้ที่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home quarantine) และกลุ่มพนักงานโรงงานในจังหวัดสมุทรสาครที่มีการกักตัวในรูปแบบ Bubble and Seal คือยอมให้มีการเดินทางระหว่างบ้านและโรงงานเท่านั้น

นอกจากนี้ระบบ DDC-Care ยังได้การนำไปใช้สำหรับการติดตามและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ต้องกักตัวที่บ้าน เช่น คนขับรถบรรทุกที่รับส่งของจากชายแดน ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทราบการเดินทางและสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงได้ตลอดเวลาอีกด้วย

ด้วยความความโดดเด่นของงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ทำให้ระบบ “DDC-Care” ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตโควิด-19” จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: