หน้าแรก คลังความรู้ 30 ปี สวทช. งานวิจัย 30 ปี สวทช. “AI FOR THAI” แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย
“AI FOR THAI” แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย
11 มิ.ย. 2564
0
30 ปี สวทช.
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
ผลงานวิจัยเด่น

"AI FOR THAI" แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ”(Artificial Intelligence: Al) เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผนวกรวมกับข้อมูลมหาศาลที่อยู่ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งข้อความ เสียง ภาพและแผนผังข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งมีการเก็บรวบรวมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เอไอมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า “Machine Learning” หรือการใช้อัลกอริทึม ที่สามารถเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมาก วิเคราะห์ ประเมินผลและคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ได้

“เอไอ” ไม่ได้มีไว้เพื่อแทนที่มนุษย์ แต่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มความสามารถของมนุษย์ให้ทำงานที่ทำอยู่ได้ดีขึ้น จึงมีการนำเอไอมาประยุกต์ใช้งานที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตยุคใหม่ โดยการเติบโตของเทคโนโลยีเอไอจะกลายเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคต จาก Global economic effects of AI by 2030 ระบุว่า อุตสาหกรรมเอไออาจสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจประมาณ 0.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน)

สำหรับประเทศไทย แม้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะสะสมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยและเอกลักษณ์ของไทยมากกว่า 20 ปี แต่ก็ยังขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ทั้งในภาครัฐและเอกชนอีกเป็นจำนวนมาก

 

การจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านเอไอในประเทศ สิ่งที่สำคัญก็คือการมีเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มที่เป็นบริบทของประเทศไทยเอง นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการเห็นว่าข้อมูลสำคัญยังอยู่ภายในประเทศแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี และสามารถสร้างแอปพลิเคชันด้านเอไอสำหรับคนไทยได้อย่างรวดเร็ว

จากเหตุผลดังกล่าว เนคเทค สวทช. จึงร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดตัว “AI FOR THAI” ในปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ากับบริบทของประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรเอไอเชิงลึก โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Machine Learning เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลตอบโจทย์ผู้ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและการบริการต่าง ๆ เช่น ภาคธุรกิจกลุ่มค้าปลีก (Retail) สามารถใช้ Chatbot โต้ตอบเพื่อซื้อขายให้บริการแก่ลูกค้าแทนพนักงาน กลุ่มโลจิสติกส์ใช้ Face recognition เพื่อตรวจจับใบหน้าของพนักงานขับรถว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ด้านการแพทย์ที่เริ่มใช้เอไอมาวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงของโรคส่วนบุคคล หรือการอ่านฟิล์มเอกซเรย์แทนมนุษย์ และในด้าน Blockchain ได้นำเอไอมาสร้างระบบสำหรับผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตให้สามารถคาดการณ์ได้ว่ามีสินค้าในคลังมากเกินไป หรือมีสินค้าในคลังน้อยเกินไป

ทั้งนี้เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาเนคเทค สวทช. ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อพัฒนาต้นแบบปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตรวจสอบ ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับข้อมูลที่ผิดปกติ ซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือหรือผู้ช่วยให้ผู้ตรวจสอบสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงที่จะเกิดได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์

การพัฒนา “AI FOR THAI” แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทยนี้เนคเทค สวทช. มีเป้าหมายว่าจะเป็นฐานรากทางเทคโนโลยีที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันให้แก่นักธุรกิจนักพัฒนา และนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ ให้สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป

ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม

แชร์หน้านี้: