หน้าแรก “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” ตัวช่วยรับแจ้งปัญหา พร้อมต่อยอดบริการตอบโจทย์ทุกพื้นที่ ปักหมุดใช้จริงทุกหน่วยราชการ 10 จังหวัด
“ทราฟฟี่ ฟองดูว์” ตัวช่วยรับแจ้งปัญหา พร้อมต่อยอดบริการตอบโจทย์ทุกพื้นที่ ปักหมุดใช้จริงทุกหน่วยราชการ 10 จังหวัด
11 พ.ค. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/success-of-traffy-fondue-presented-in-an-online-seminar.html

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดกิจกรรมเสวนา KM Online หัวข้อ “Traffy Fondue”(ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ยกระดับบริการ ตอบโจทย์บริหารเชิงพื้นที่” เป็นการเสวนาออนไลน์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความสำเร็จของการใช้งานในหน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น ในการนำแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง Traffy Fondue ซึ่งพัฒนาโดยทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. ไปใช้งานจริงในพื้นที่

นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น กล่าวเปิดสัมมนาว่า แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ถือว่าเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบโจทย์แนวทางการทำงานของ ก.พ.ร. ที่กำลังขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนารูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดให้มีการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance Province: HPP) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารราชการเชิงพื้นที่ให้มีความคล่องตัว โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมของรัฐ (Public Innovation) การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน (Digital Government)  การพัฒนาไปสู่ราชการระบบเปิด (Open Government) และการพัฒนาสู่การบริการภาครัฐที่เป็นเลิศ (Public Service for Excellence) ในขณะที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย

นอกจากนี้ Traffy Fondue ยังนับเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบราชการด้านงานบริการประชาชน ตอบโจทย์ 4 ถึง คือ เข้าถึง ทั่วถึง ถึงที่ และถึงตัว ทำให้การติดต่อราชการเร็วขึ้น ถูกขึ้น ง่ายขึ้น สมาร์ทขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Faster Cheaper Easier Smarter for Better Life)

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หัวหน้าทีมผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue กล่าวว่า ปัจจุบัน Traffy Fondue มีหน่วยงานใช้งานและอยู่ในระบบกว่า 10,614 หน่วยงาน มีสถิติการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหารวมแล้วกว่า 300,000 เรื่อง โดยมี 10  จังหวัดที่ให้ทุกส่วนราชการทั้งจังหวัดใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ในการรับแจ้งปัญหาประชาชน ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น พะเยา  ลำพูน ปราจีนบุรี ภูเก็ต เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ และสระบุรี ขณะที่เชียงใหม่ และฉะเชิงเทรา เป็นอีก 2 จังหวัดที่เตรียมประกาศใช้ทั้งจังหวัดเร็ว ๆ นี้

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีสถิติประชาชนแจ้งปัญหาแล้วกว่า 271,658 เรื่อง แก้ไขปัญหาแล้ว 197,848 เรื่อง ปัญหาที่แจ้งมากที่สุดส่วนใหญ่เป็นปัญหาถนน ทางเท้า น้ำท่วม ความปลอดภัย แสงสว่าง และความสะอาด

ดร.วสันต์ กล่าวด้วยว่า จากการที่ทีมวิจัยทำแบบสอบถามสำรวจความเห็นประชาชนที่ใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ในกรุงเทพมหานคร พบว่าจำนวน 14,200 คน หรือ 91% พึงพอใจกับการใช้งานที่ง่าย ขณะที่มีการสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ประมาณ 1,200 คน  พบว่าเจ้าหน้าที่ 1,190 คน หรือ 84% พึงพอใจในการใช้งาน มีประโยชน์ช่วยให้รับแจ้งได้รวดเร็ว มีข้อมูลในการบริหารจัดการและวางแผนงบประมาณ

นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จ.ลำพูน มีนโยบายให้ทุกส่วนราชการในจังหวัดใช้ Traffy Fondue เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สามารถติดตามการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยปัจจุบัน จ.ลำพูน ใช้งานครอบคลุมทั้ง 104 ส่วนราชการของจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ได้รับแจ้งปัญหา 481 เรื่อง แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 341 เรื่อง คิดเป็น 71% หลังจากนี้จะขยายผลการใช้งาน เช่น นำไปใช้ลงทะเบียนสวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นต้น

นพ.ชูชาติ นิจวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉลอง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ทุกส่วนราชการใน จ.ภูเก็ต ใช้ Traffy Fondue ครอบคลุม 119 หน่วยงาน เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยปัจจุบันยังมีการร่วมมือกับเนคเทค สวทช. ในการพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์การใช้งานในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงมีความต้องการเพิ่มเมนูภาษาอังกฤษเพื่อรองรับการใช้งานของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในอนาคต รวมทั้งได้ต่อยอดนำ Traffy Fondue มาเป็นเครื่องมือในการรายงานการกระทำผิดกฎจราจราจร โดยเฉพาะการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue ได้เช่นกัน

นายเทพพร จําปานวน นายกเทศมนตรีตําบลอาจสามารถ อําเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เทศบาลตำบลอาจสามารถ เป็นหน่วยงานนำร่องของ จ.ร้อยเอ็ด ในการนำ Traffy Fondue มาใช้รับแจ้งปัญหาประชาชนในระดับชุมชน ซึ่งเดิมใช้วิธีการรับแจ้งโดยการให้ประชาชนมาเขียนคำร้อง ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการแก้ปัญหา เนื่องจากต้องมีขั้นตอนการประสานงาน อีกทั้งไม่สามารถติดตามการแก้ไขปัญหาเพราะไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบ การมี Traffy Fondue จึงนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาช่วยให้การทำงานของเทศบาลตำบลอาจสามารถมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 274 เรื่อง แก้ปัญหาแล้ว 256 เรื่อง โดยมีบางเรื่องต้องประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และในอนาคตอยากเห็น Traffy Fondue เป็นแอปพลิเคชันอยู่บนมือถือของทุกคน และใช้กับทุกหน่วยงานทั่วประเทศ ก็จะถือเป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาให้กับประชาชนร่วมกัน

 

11 พ.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: