หน้าแรก ประกาศแล้ว ผู้ชนะการประกวดผลงาน วทน. ‘NSTIF 2021’ ครั้งที่ 1 สวทช.- วช. หนุนสร้าง ‘นวัตกร’ พัฒนากำลังคนของประเทศ
ประกาศแล้ว ผู้ชนะการประกวดผลงาน วทน. ‘NSTIF 2021’ ครั้งที่ 1 สวทช.- วช. หนุนสร้าง ‘นวัตกร’ พัฒนากำลังคนของประเทศ
19 มี.ค. 2564
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศผล “การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (วทน.) ครั้งที่ 1 (The 1st National Science Technology and Innovation Fair 2021 หรือ NSTIF 2021)” เป็นผลงานที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศมาจากเวทีการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ครั้งที่ 23 และจากเวทีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ครั้งที่ 23 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมงานประกาศรางวัลแบบออนไลน์ถ่ายทอดสดผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก NSTDA-สวทช. https://www.facebook.com/NSTDATHAILAND

ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวแสดงความยินดีกับทีมผู้เข้าประกวดโครงการฯ NSTIF 2021 ว่า การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของกระทรวงการ อว. เนื่องจากบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็น “ทรัพยากร” ที่สำคัญ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และสร้างการเติบโตจากฐานความรู้และนวัตกรรม อันเป็นเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการจัดประกวดแข่งขันความสามารถและทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ดำเนินการโดย สวทช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมาทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย หรือ IT Contest Festival” โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้ชื่อใหม่ คือ “การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 (The 1st National Science Technology and Innovation Fair 2021 หรือ NSTIF 2021)” และเป็นโอกาสดีที่มีหน่วยงานสำคัญในระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคน มาร่วมเป็นพันธมิตรและให้การสนับสนุนโครงการอีกแรงหนึ่ง

“การจัดประกวดแข่งขันในเวทีนี้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ในทุกภูมิภาคของประเทศ ได้นำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแก้ไขโจทย์ปัญหาของสังคมและชุมชน ผู้เข้าร่วมจะมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่หลากหลาย รวมทั้งได้พัฒนาความสามารถและทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม นอกจากนี้ ผลงานที่เกิดขึ้นยังสามารถนำไปใช้ได้จริง และมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อีกด้วย”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ดังนั้นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมทำโครงงาน หรือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดังเช่นการแข่งขันในเวทีนี้ นับเป็นพื้นฐานที่ดีในการต่อยอดให้นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนไทย นำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้ร่ำเรียนมาไปทดลอง ไปปฏิบัติจนใช้ได้จริง ทั้งนี้ขอแสดงความยินดีกับนักเรียน นักศึกษา ผู้พัฒนาผลงาน และอาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่าน ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับรางวัลต่างๆ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับรางวัล สามารถนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการเพื่อไปพัฒนาและปรับปรุงผลงานให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป รวมทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การประกวด NSTIF 2021 จัดขึ้นปีนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเวทีที่นำเยาวชนจากโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) และการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest: NSC) เพื่อมาร่วมแข่งขันในเวที NSTIF 2021 ครั้งที่ 1 เพื่อหาทีมชนะเลิศตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน Regeneron International Science and Engineering Fair (Virtual Regeneron ISEF) ณ สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 16-21 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบออนไลน์ ถือเป็นเวทีประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ของตนเองมาสร้างสรรค์เป็นผลงานผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่การเป็นนักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานต่อไปในอนาคต

สำหรับผลการประกาศรางวัลการแข่งขัน NSTIF 2021 ครั้งที่ 1 ในการโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ทีมที่ 1 ได้แก่ การสร้างทฤษฎีจากแบบจำลองสำหรับปรากฏการณ์มิราจแบบซุพีเรียร์ และมิราจแบบฟาตามอร์กานา พัฒนาโดยทีมจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช

รางวัลชนะเลิศทีมที่ 2 ได้แก่ การระบุ microRNA ตัวควบคุมหลักที่สามารถกระตุ้นเซลล์ผนังมดลูกของมนุษย์ (Human Endometrial cell line : RL95- 2) ให้พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนมนุษย์ภายนอกร่างกาย พัฒนาโดยทีมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร

รางวัลชนะเลิศทีมที่ 3 ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อทำนายฤทธิ์ทางชีวภาพของลิแกนด์ในกระบวนการค้นหายามุ่งเป้าของโรคมะเร็งปอดสำหรับโมเลกุลเป้าหมาย EGFR พัฒนาโดยทีมจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง จากจำนวนผู้สมัครทั่วประเทศกว่า 1,606 โครงงาน (จำนวน 3,988 คน) และได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงงานทั้งสิ้น 285 โครงงาน และผู้ชนะระดับภูมิภาคเข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 62 โครงงาน (จำนวน 152 คน)

ส่วนการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ แบ่งเป็น 4 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย 1.รางวัลชนะเลิศ ระดับนักเรียน โปรแกรมเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ ได้แก่ “จิ๋ว แจ๋ว เจาะไวรัส” จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่

2.รางวัลชนะเลิศ ระดับนักเรียน โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน ได้แก่ “เครื่องมือช่วยวินิจฉัยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีจากการตรวจหาพยาธิใบไม้ในตับด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่

3.รางวัลชนะเลิศ หัวข้อพิเศษ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Application) ได้แก่ “สิมิลัน: ระบบประมวลและแสดงข้อมูลผลกระทบทางจิตวิทยาและสุขภาพจิตระดับประชากร โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่” จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

และ 4.รางวัลชนะเลิศ หัวข้อพิเศษ โปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับสื่อสารระหว่างสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ได้แก่ “เอสเค สมาร์ท พีเอ็ม” จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร จากจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,394 ผลงาน (จำนวน 3,338 คน) ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานจำนวน 543 ผลงาน และผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 121 ผลงาน (จำนวน 296 คน)

นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลชมเชย และรางวัลพิเศษ รวมทั้งสิ้น 66 รางวัล

ด้าน นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. ได้มีการให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายศูนย์ประสานงานภูมิภาค YSC จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพัฒนาผลงานเข้าประกวดในโครงการ YSC และให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพัฒนาผลงานสำหรับแข่งขันในโครงการ NSC อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับ สวทช. ในการจัดการประกวด NSTIF 2021 ครั้งนี้จะเป็นเวทีที่สร้างและพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมในการเป็นนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพ และศักยภาพ เพื่อเติบโตเป็นนวัตกรที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต

—————————-
ลิงก์วีดีโอภาพรวมการประกวด  >>> คลิกที่นี่

แชร์หน้านี้: