หน้าแรก สวทช. ร่วมมือพันธมิตรวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ
สวทช. ร่วมมือพันธมิตรวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ
15 ธ.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(15 ธันวาคม 2564) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมา รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.วิศิษฎ์ คชสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบต้า เอ็นนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด นายวสันต์พรรษ ภูริณัฐภูมิ R&D Engineering Director บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ดร.ธงชัย จินาพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด นายฉัตรชัย ลอยบัณดิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายสมศักดิ์ ปรางทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ นายฉันทกร เดวิชญ์ กริดวิชญยาการ ประธานผู้บริหาร บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด

ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ทุนวิจัยร่วมจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อวิจัยและพัฒนา แพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นประธานเปิดงาน และสักขีพยาน

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. หัวหน้าโครงการ ได้กล่าวรายงานถึงที่มาและขอบเขตของโครงการว่า โครงการนี้มีเป้าหมายในลดข้อจำกัดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ทางทั่วโลกกำลังผลักดัน โดยเฉพาะการใช้งานในรูปแบบมอเตอร์ไซต์ที่มีการใช้งานในประเทศไทยถึงกว่า 21 ล้านคัน โดยต้องการดำเนินการการวิจัยและพัฒนารูปแบบเพื่อลดภาระทางต้นทุนของผู้ผลิตและข้อจำกัดด้านการใช้ของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะด้านการบำรุงรักษาและด้านระยะเวลาการชาร์จซึ่งจะส่งผลต่อความสะดวกและต้นทุนของการถือครอง โดยโครงการนี้เป็นการดำเนินการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบของแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้แบบมาตรฐานหรือแพล็ตฟอร์มของแพ็กแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานในมอเตอร์ในมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าหลายรุ่น หลายยี่ห้อ และสามารถชาร์จได้กับผู้ให้บริการหลายสถานี เพื่อให้เกิดความสะดวก คุ้มค่าในการใช้งาน ลดภาระของการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงง่ายในการจัดการหลังสิ้นอายุขัย โดยในโครงการแบ่งการดำเนินการงานออกเป็น 4 ขอบเขต ได้แก่ (1) การร่วมกำหนดแพลตฟอร์มแบตเตอรี่แพ็กแบบสับเปลี่ยนได้ที่เหมาะสมสำหรับมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าที่ใช้งานในประเทศไทย กับผู้ร่วมโครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (2) การพัฒนา ดัดแปลง และปรับปรุง แพ็กแบตเตอรี่มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จและระบบกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซต์ และผู้ให้บริการสถานีชาร์จ (3) การทดสอบการต้นแบบตามมาตรฐานและในการใช้งานจริง (4) สรุปผลและข้อเสนอแนะทั้งในด้านการกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ ข้อบังคับ และ นำเสนอรูปแบบธุกิจที่เหมาะสมกับการให้บริการระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผลของการดำเนินโครงการฯ จะนำมาซึ่งบทสรุปเบื้องต้นในการพัฒนาและประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งภาคส่วนการผลิต และการให้บริการในอนาคต

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย บพข. และประธานเปิดงานกล่าวว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐถึง 3 หน่วย และเอกขนอีกถึง 6 หน่วยงานผ่านโครงการให้ทุนวิจัยของบพข. ซึ่ง บพข. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ และการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาครัฐ และภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อการสนับสนุนที่ บพข. มุ่งเน้น และคาดหวังว่าโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศจะประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพ และเกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทยได้ต่อไป

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและเป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการดำเนินการในโครงการนี้ กล่าวว่า ทาง สวทช. มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศด้านการไปสู่ carbon neutrality ผ่านศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนาด้านยานยนต์สมัยใหม่ทั้งด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ โดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ซึ่งโครงการวิจัยภายใต้ความร่วมมือนี้ มองเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมไปกับการพิจารณาการจัดการในภาพรวมของการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการระบบประจุไฟฟ้าสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตในระดับ 360,000 คันในอีกสี่ปีข้างหน้า และในระดับ 675,000 คันในปี 2030  โดยนำเสนอเทคโนโลยีการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่มีความรวดเร็ว คล่องตัว และตอบสนองความต้องการการใช้งานได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งในมุมของการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและระบบประจุไฟฟ้า ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและให้บริการอีกด้วย จะเห็นได้จากแนวความคิดในการพัฒนาระบบร่วมกันระหว่างผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน และผู้ให้บริการระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่มีความหลากหลาย มาร่วมมือกันพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม ทำให้เกิดรูปแบบการผลิตและให้บริการที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ทั้งนี้โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญในระบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และสร้างเทคโนโลยีแพล็ตฟอร์มมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่ที่มีคุณลักษณะสามารถสับเปลี่ยนได้ในหลายรูปแบบของการใช้งาน จากการดำเนินการโครงการฯ คาดหวังว่าจะเป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาแพลตฟอร์มการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่จะถูกประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในประเทศไทย และหากประสบความสำเร็จคาดหวังว่าจะขยายไปถึงในระดับภูมิภาคต่อไป

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมา รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้มาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อการใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปกับการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญทางด้านวิจัยที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นของคณาจารย์ที่เป็นองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งการให้การสนับสนุนงบประมาณ และมีการจัดตั้งหน่วยงานวิสาหกิจเพื่อให้คณาจารย์รุ่นใหม่ได้ร่วมกันทำวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง หนึ่งในหน่วยงานที่เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยฯ คือ โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน  ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความพร้อมในการการผลิตต้นแบบเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ สามารถทดสอบเซลล์แบตเตอรี่ตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการผลิตและทดสอบแพ็กแบตเตอรี่ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะการร่วมพัฒนาและผลักดันแพลตฟอร์มแบตเตอรี่แพ็กแบบสับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นภายใต้โครงการฯ

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการศึกษา มุ่งมั่นจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ซึ่งปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยฯ เองได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center หรือ MOVE เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไทย สำหรับการเข้าร่วมโครงการการวิจัยนี้ทางทีม มจธ. เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบและพัฒนาระบบแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหวังว่าผลลัพธ์ของโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศได้เป็นอย่างดี และ มจธ. เองก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนบุคลากรและองค์ความรู้ที่มี เพื่อให้โครงการฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ และสร้างผลกระทบที่ดีให้กับ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

นายฉันทกร เดวิชญ์ กริดวิชญยาการ ประธานผู้บริหาร บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนา โซลูชันด้านสมาร์ทกริด ที่ปรึกษาทางวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน บริษัทฯ สะสมประสบการณ์และพัฒนาความเชี่ยวชาญจากการการผสมผสานการออกแบบ UX สมัยใหม่ การบูรณาการเชื่อมต่อระบบ งานวิจัยและงานพัฒนาโซลูชันที่ยอดเยี่ยมในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าพลังงานและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและระบบไมโครกริด สำหรับทั้งระบบไฟฟ้าในรูปแบบโครงสร้างเดิมและโครงสร้างไฟฟ้ากระจายศูนย์กลางรูปแบบใหม่ รวมถึงโซลูชันในด้านระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทนและแหล่งกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ คือ ระบบนิเวศครบวงจรพร้อมแพลตฟอร์มเครือข่ายระบบประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และเครือข่ายสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าในชื่อ “PUMPCHARGE” ระบบนิเวศปั๊มชาร์จเป็นศูนย์กลางระบบบริหารจัดการและคลังข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับข้อมูลออนไลน์และออฟไลน์ที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศไทย บริษัทฯ มีความยินดีที่จะร่วมพัฒนาโปรโตคอลการสื่อสาร พัฒนาเครื่องสลับแบตเตอรี่แนวคิดใหม่ และทดสอบแพลตฟอร์มโครงข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ ภายใต้โครงการฯ

ดร.ธงชัย จินาพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ-มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “i-motor” ปัจจุบันมีการผลิตมากกว่า 10 รุ่น โดย บริษัทฯ ตั้งเป้าผลิตล็อตแรก 1,000-2,000 คัน/เดือน คาดความต้องการจะเพิ่มใน 5-6 เดือน และจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 8,000 คัน/เดือน โดยใช้หุ่นยนต์ AI ช่วยประกอบรถต้นแบบในโรงงานที่ชลบุรีก่อนย้ายไปที่ย่านบางนา และผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีสัดส่วนใช้วัตถุดิบในการผลิตจากในประเทศสูงถึง 85% และมีแนวคิดในการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่สมันใหม่ อาทิ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นกราฟีนแบตเตอรี่ (Graphene battery) และออร์แกนิกเซลล์แบตเตอรี่ (Organic cell battery) การประจุแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน การชาร์จแบตเตอรี่ด้วยโซลาร์เซลล์ และชาร์จแบบไร้สาย ซึ่งอยู่ใน motor hub ครบวงจรทั้งสำหรับรถ 2 ล้อ และ 4 ล้อ ซึ่งบริษัทฯ มีความยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ และร่วมทดสอบแพลตฟอร์มการประจุไฟฟ้า ภายใต้โครงการฯ

นายสมศักดิ์ ปรางทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเกิดอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มของรถโดยสารไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ กฟผ. เองมีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ “ENGY” ที่มีเป้าหมายการใช้งานเบื้องต้น จำนวน 51 คัน เตรียมส่งมอบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ใน 19 พื้นที่ รอบเขตเขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. พร้อมเปิดสถานีเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่ไฟฟ้าอีก 3 สถานี รองรับการใช้งาน ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด กฟผ. มีความยินดีเข้าร่วมและสนับสนุนการดำเนินการภายใต้โครงการฯ และร่วมทดสอบแพลตฟอร์มการประจุไฟฟ้า ภายใต้โครงการฯ

นายฉัตรชัย ลอยบัณดิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บางจากฯ มีความตระหนักในด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีการลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลกเข้ามายกระดับธุรกิจ และยังสนับสนุนให้เกิดแนวคิดการดำเนินธุรกิจพลังงานสีเขียวในรูปแบบใหม่ๆ หนึ่งในการส่งเสริมนั้น คือ Winnonie ซึ่งเป็นนวัตกรรมธุรกิจพลังงานสีเขียว เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันประกอบกิจการในนาม บริษัท วินโนหนี้ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ และ ได้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มให้บริการจักรยานยนต์ไฟฟ้า (E-Motorbike Sharing Platform) พร้อมเครือข่ายสถานีบริการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจทุกสาขาอาชีพ มีความยินดีเข้าร่วมและสนับสนุนการดำเนินการภายใต้โครงการฯ ในทุกๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาแพลตฟอร์มแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน และการร่วมทดสอบแพลตฟอร์มการประจุไฟฟ้า ภายใต้โครงการฯ

นายวสันต์พรรษ ภูริณัฐภูมิ R&D Engineering Director บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติไทย ภายใต้แบรนด์ “GPX” มีแนวทางในการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาด สิ่งแวดล้อม และการ disrupt ของ supply chain จึงมีแผนที่จะเปิดตัวและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตอันใกล้ และบริษัทฯ เองก็มีแนวคิดในการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ให้เหมาะสกับบริบทการใช้งานของกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และขยายตลาดไปสู่ระดับโลก ต่อไป บริษัทฯ มีความยินดีจะสนับสนุนแนวคิดการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยายนต์ไฟฟ้าในกลุ่มเฉพาะ และยินดีที่จะร่วมดัดแปลงต้นแบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทฯ ให้สามารถทำงานร่วมกับแบตเตอรี่ และระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน  ที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ

ดร.วิศิษฎ์ คชสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบต้า เอ็นนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มบริษัท ทัสโก้ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้นำธุรกิจด้านพลังงาน ได้ลงนามสัญญาซื้อขายเทคโนโลยีผลิตเซลล์ลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ชนิด NMC (นิเกิล แมงกานีส โคบอลต์) ซึ่งเป็นนวัตกรรมแหล่งกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ทรงประสิทธิภาพจาก บริษัท New Resources Technology Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ โดยคาดหวังว่า จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาการผลิตแหล่งกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาการผลิตยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่คาดว่าจะมีการนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต และ บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมดำเนินโครงการฯ ในฐานะ ผู้ออกแบบและผลิตต้นแบบแบตเตอรี่แพ็กสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และร่วมทดสอบการทำงานของแบตเตอรี่แพ็ก อีกทั้งยังจะร่วมทดสอบแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
ที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ อีกด้วย

การร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มระบบประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศ มีความคาดหวังว่าจะเป็นความร่วมมือการทำงานในลักษณะเครือข่ายขนาดใหญ่ ของผู้ผลิตและผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและแฟลตฟอร์มการประจุไฟฟ้าแบบสับเปลี่ยน ที่มีข้อตกลง เห็นพ้องต้องกัน ด้วยเหตุและผลในทางวิชาการ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการ รวมถึงสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตามนโยบายภาครัฐ ต่อไป

แชร์หน้านี้: