หน้าแรก เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ประกาศผลผู้ชนะ “การแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ประกาศผลผู้ชนะ “การแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
4 ก.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ณ ลานกิจกรรม ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand: SWP) และ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ประกาศผลโครงการ “การแข่งขันหุ่นยนต์ ไร้การบังคับอัจฉริยะ RoboInnovator Challenge 2022 By Software Park Thailand ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีพลโท สมเกียรติ สัมพันธ์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.ภัทราวดี พลอยกิตติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เข้าร่วมงาน

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การแข่งขันนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากการแข่งขันครั้งแรกในปี 2563 ที่ได้รับการตอบรับและเป็นการปลุกกระแสการแข่งขันหุ่นยนต์อัจฉริยะไร้การบังคับให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ก้าวข้ามกฎ กติกาเดิมๆ ให้มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมทำให้หุ่นยนต์เดินทางด้วยตัวเอง โดยต้องนำทางอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไปยังจุดหมายที่ต้องการ ไม่ชนอุปสรรค หรือสิ่งกีดขวางใดๆ อีกทั้งยังต้องส่งพัสดุให้ถูกต้องตรงตามโจทย์ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในโจทย์อุตสาหกรรมได้จริงต่อไป และเป็นก้าวเริ่มต้นของการพัฒนากำลังคนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างนวัตกรรมนำประเทศต่อไป ซึ่ง สวทช. ไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาแต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากรวิจัย การสร้างแรงบันดาลใจ และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม หรืออัพสกิล-รีสกิล ทั้งในภาครัฐและเอกชน

โดยในปีนี้มีทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายจำนวน 13 ทีม จากผู้เข้าแข่งขัน 63 ทีมทั่วประเทศ และทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ และได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 50,000 บาท จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ทีมล้านนา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายกัญจน์ นาคเอี่ยม นายคมสัน ทองบุญ นายเสกข์ ขอดแก้ว และนายนฤมิต ศรีเยาว์เรือน

ในส่วนของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 20,000 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม SIGMA จาก THE NINE ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายเจตนิพิฐ จตุรงคโชค และนายสุที เกิดจันอัด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 ได้รับโล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท ผู้ชนะได้แก่ ทีม EasyKids-Jigsaw จาก ศูนย์การเรียนรู้ Easykids Robotics ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายภัคพล ปรีชาวนา นายอารถนนท์ จักรวาล และนายนายปภังกร นิรวัชร์สุวรรณ

รางวัล Best Technique ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท จำนวน 3 รางวัล ผู้ชนะได้แก่ ทีม KMIDS ZAA จาก โรงเรียนสาธิตนานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายปุณโชติ แก้วสุวรรณ และนายสิรดนัย ตันไล้ ทีม SIGMA จาก THE NINE ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายเจตนิพิฐ จตุรงคโชค และนายสุที เกิดจันอัด และทีม SKR-CS ROBOT จากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ผู้พัฒนาประกอบด้วย นางสาวเสาวลักษณ์ สุวรรณรงค์ นายโชติวัฒน์ แต้ศิริเวชช์ นายสกลรัฐ แซ่เตีย และนายชุติวัต วิสามารถ

รางวัล Best Performance ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท จำนวน 2 รางวัล ผู้ชนะได้แก่ ทีม CPK Sc. จาก โรงเรียนไชยปราการ ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายอนุรักษ์ ปาทา นายสิทธิโชค สุริยะวงค์ นายเจษรินทร์ ใจมาตุ่น และนายธนาชัย ศรีใส และทีม EasyKids-Jigsaw จาก ศูนย์การเรียนรู้ Easykids Robotics ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายภัคพล ปรีชาวนา นายอารถนนท์ จักรวาล และนายปภังกร นิรวัชร์สุวรรณ

และรางวัลสุดท้าย รางวัล Best Design ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม EasyKids-Janjam จาก ศูนย์การเรียนรู้ Easykids Robotics ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายกันต์ กาญจนพิพัฒน์กุล นายพรศักดิ์ ลี นายธีรวุฒิ อินถา และนายดนุพัฒน์ ปานประดิษฐ์ และ ทีม SKJ Robot 02 จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ผู้พัฒนาประกอบด้วย นายพฤกษา สิทธิไพศาล นางสาววันดี ศรีสุข นางสาวณัฐวรรณ แช่มสะอาด และนายวัฒนทร รักชนะงาม

การแข่งขัน RoboInnovator Challenge 2022 ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนไทยและผู้สนใจได้แสดงศักยภาพ อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังความเป็นนวัตกรให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป นับเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนากำลังคนโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างนวัตกรรม ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

 

/////////////////////////////////////////////

แชร์หน้านี้: