หน้าแรก สวทช. ลุยการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรชุมนุมวิทยาศาสตร์ใหม่ เพื่อเด็กไทยสนุก กับการเรียนรู้สะเต็มศึกษา 80 ชั่วโมง ผ่านโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา
สวทช. ลุยการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรชุมนุมวิทยาศาสตร์ใหม่ เพื่อเด็กไทยสนุก กับการเรียนรู้สะเต็มศึกษา 80 ชั่วโมง ผ่านโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา
12 พ.ค. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ดำเนินโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่าย โดย สวทช. ได้ออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รวมจำนวนชั่วโมงการเรียนรู้ทั้งหมด 80 ชั่วโมง สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 40 ชั่วโมง และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 40 ชั่วโมง สำหรับให้ทางโรงเรียนนำกิจกรรมไปใช้ในวิชาชุมนุมหรือค่ายวิทยาศาสตร์ต่อไป ซึ่งในปี 2566 ได้มีการถ่ายทอดกิจกรรมให้กับครูที่เข้าร่วมโครงการผ่าน การอบรมครูโรงเรียนศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระดับประถมศึกษา ในวันที่ 25-26 เมษายน 2566 ณ โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 198 คน จาก 98 โรงเรียนเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียน และขยายผลให้กับโรงเรียนเครือข่ายอีก 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศต่อไป

ในการอบรมวันที่ 25 เมษายน 2566 เริ่มต้นด้วย “การบรรยายภาพรวมและแนวทางการจัดการเรียนการสอนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” โดย คุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ซึ่งสวทช. ได้ออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมีแนวคิดทางการศึกษา 2 ข้อที่สำคัญ คือ ข้อที่ 1 เด็กและครูช่วยกันสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (Co-construction) และข้อที่ 2 เด็กมีวิธีการประเมินการเรียนรู้ของตนเอง (Metacognition) และมีแนวทางการจัดการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ดังนี้
1) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมในการสอน (Game Based Learning)
2) การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning)
3) การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน (Creativity Based Learning)
4) การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry Based Learning)
และ 5) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning)

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่

1) กิจกรรมแปลงร่างพลังงาน
2) กิจกรรมนักเคมีน้อย…ปล่อยของ
3) กิจกรรมท่องโลกและอวกาศ
4) กิจกรรมนักวิทย์คิดปรุง และ
5) กิจกรรมเรียนรู้ระบบร่างกาย ใส่ใจสุขภาพ

รวมชั่วโมงการเรียนรู้ทั้งหมด 40 ชั่วโมง

กิจกรรมแรก คือ กิจกรรมแปลงร่างพลังงาน โดย นางสาวจิดากาญจน์ สีหาราช เป็นกิจกรรมที่เรียนรู้ “พลังงาน” ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถเปลี่ยนรูป (แปลงรูป) ได้หลายรูปแบบ เช่น พลังงานความร้อน พลังงานน้ำ พลังงานเคมี เป็นต้น โดยทดลองเปลี่ยนรูปพลังงานต่าง ๆ ให้เป็นพลังงานกล ตัวอย่างกิจกรรมย่อย เช่น กังหันลมพลังงานความร้อน

ต่อด้วย กิจกรรมนักเคมีน้อย…ปล่อยของ โดย นางสาวกรกนก จงสูงเนิน เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการรู้จักสารเคมีที่เราพบเห็นได้รอบตัว การเรียนรู้คุณสมบัติทางเคมีผ่านการทดลองพิสูจน์สารปริศนาซึ่งเป็นหลักฐานในคดีด้วยการใช้ทักษะกระบวนการทางเคมี กิจกรรมการจำลองการเกิดความผิดปกติในร่างกายเพื่อศึกษาการทำงานของตัวยาในการรักษาโรค และใช้ความรู้ของปฏิกิริยาเคมี ผลิตสารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ หรือปัญหาได้อย่างถูกต้อง

จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 26 เมษายน 2566 พาไปเรียนรู้เรื่องโลกและอวกาศผ่านภารกิจที่ท้าทายในกิจกรรมท่องโลกและอวกาศ โดย นางสาวสลิลรัตน์ ประสพฤกษ์ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้มีตัวอย่างกิจกรรมภารกิจนำยานอวกาศลงจอดบนดาวเคราะห์ปริศนา ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รู้จักกับเทคโนโลยีอวกาศเบื้องต้นและได้เรียนรู้ขั้นตอนของการออกแบบเชิงวิศวกรรม ผ่านกิจกรรมการออกแบบและสร้างแบบจำลองยานอวกาศและพานักบินอวกาศไปลงจอดบนดาวเคราะห์ปริศนา เพื่อสำรวจหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีให้อย่างจำกัด นักบินอวกาศต้องปลอดภัย และสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานของยานได้ครบตามจำนวน เป็นต้น

อาหาร เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ ทุกคน กิจกรรมชุดนี้จะช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้นเกี่ยวกับอาหาร ตั้งแต่การรับรู้รสชาติของอาหาร ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเจาะลึกวิทยาศาสตร์ในน้ำนมและไข่ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ง่าย ๆ และการนำมาปรุงเป็นอาหารง่าย ๆ
ที่เด็ก ๆ โปรดปรานใน กิจกรรมนักวิทย์คิดปรุง โดย นางสาวสุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล

และกิจกรรมสุดท้ายของการอบรมคือ กิจกรรมเรียนรู้ระบบร่างกาย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับระบบหมุนเวียนเลือด อันประกอบด้วยหัวใจ หลอดเลือด และเลือด บูรณาการทักษะความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพร่างกายตัวเอง การอบรมครั้งนี้มีตัวอย่างกิจกรรมย่อย 3 กิจกรรม ได้แก่ สถานีหัวใจ-ชีพจรชีพใจ-เพลงของหัวใจ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้จำลองทิศทางการไหลเวียนเลือดผ่านหัวใจ ได้สังเกตชีพจร และลงมือประดิษฐ์หูฟัง (Stethoscope) อย่างง่ายเพื่อฟัง
การเต้นของหัวใจ  จากอุปกรณ์ที่หาได้ทั่วไป โดย นางสาวกนกพรรณ เสลา

โดยหลังจากจบการอบรม ครูจะนำกิจกรรมไปใช้เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในโรงเรียน และขยายผลให้กับโรงเรียนเครือข่ายอีก 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศต่อไป

ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมอบรม

นางพรณภัสส์ อินรอดวงศ์ ครูโรงเรียนอนุบาลสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า รู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมกับวิทยากรทุกท่านของ สวทช.ได้รับความรู้พร้อมความสนุกสนาน รู้สึกประทับใจและตื่นเต้นทุกกิจกรรม มีกิจกรรมให้ทำอย่างต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดกระบวนการคิด เกิดทักษะในการวางแผนการทำงาน มีความร่วมมือในการทำงาน ทำให้เห็นความสำคัญของการให้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 จะนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนการสอนนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นางสาวกันยารัตน์ เลิศรัตนพันธุ์ ครูโรงเรียนแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า กิจกรรมของ สวทช. เน้นให้ครูได้ลงมือปฏิบัติจริง ไม่น่าเบื่อ เข้าใจได้ง่าย ทำให้สามารถนำไปถ่ายทอดต่อกับนักเรียนได้ ชอบทุกกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมแปลงร่างพลังงาน เพราะได้เรียนรู้เปลี่ยนพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้า สามารถนำกิจกรรมไปใช้กับนักเรียนได้จริง เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน และนำวัสดุทั่วไปมาใช้ในการทดลอง
นางณัฐธยาน์ สงวนแสง ครูโรงเรียนบ้านทวดทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เกิดความสนุกสนาน ทุกคนได้ลงมือทำ ได้ทั้งความรู้ทักษะการลงมือปฏิบัติ และแนวทางในการนำกิจกรรมไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ และยังสามารถนำกิจกรรมไปบูรณาการกับวิชาอื่น ๆ หรือระดับชั้นอื่น ๆ ได้ด้วย ชอบกิจกรรมเพลงของหัวใจ เพราะเราได้ฟังเสียงหัวใจของตนเองและผู้อื่น อุปกรณ์สามารถหาซื้อได้ง่าย ไม่สิ้นเปลือง
นายสุรเชษฐ์ วิทยากุลเดช ครูจากโรงเรียนอนุบาลนางรอง (สังขกฤษณ์อนุสรณ์) จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่ดี ส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ได้ศึกษาและสืบค้นข้อมูลด้วยตนเอง นำความรู้ ทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน มีความสนุก ตื่นเต้น ในการทำกิจกรรม ยกอย่างเช่นกิจกรรมการลงจอดของยานอวกาศ เป็นกิจกรรมที่ท้าทาย ได้ระดมความคิด ช่วยกันแก้ปัญหา และออกแบบชิ้นงานให้บรรลุตามโจทย์ที่กำหนด

ภาพผลงานบางส่วนของผู้เข้าร่วมอบรม

แชร์หน้านี้: