หน้าแรก ค้นหา
ผลการค้นหา :
ไบโอเทค สวทช. ต่อยอดความสำเร็จจากสารตั้งต้นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เตรียมคิดค้นยาใหม่เพื่อรักษาการติดเชื้อโรคโควิดที่อาจจะดื้อยาได้
นักวิจัยไบโอเทค สวทช.เล่าความสำเร็จการสังเคราะห์สารตั้งต้นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในระดับห้องปฏิบัติการณ์ เริ่มต้นจากทำงานเพียง 2 คนตั้งแต่โควิด-19 ยังไม่ระบาดหนักในไทย ยานำเข้ายากเป็นแรงผลักดันงานวิจัยภายใต้แนวคิดไทยต้องผลิตเองได้ ล่าสุดได้จดสิทธิบัตรและถ่ายทอดวิธีให้องค์การเภสัชกรรมนำไปผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อไปแล้ว พร้อมเดินหน้าวิจัยยาตัวใหม่เพื่อจัดการปัญหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดที่อาจจะดื้อยาได้ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีการจัดเสวนาพิเศษโควิดไลฟ์ทอล์คในหัวข้อ “ยาต้านไวรัสโคโรนา ภารกิจพิชิตโรคร้าย” ถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ของ สวทช. โดยมี ดร.เภสัชกร นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ไบโอเทค สวทช. เล่าถึงความสำเร็จของการ สังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient – API) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่จะใช้ในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ว่า ในการผลิตยาตัวหนึ่งนั้นมีหลายขั้นตอน เริ่มจากกระบวนการต้นน้ำคือตั้งแต่การผลิตโมเลกุลยาใหม่ขึ้นมา ส่วนกลางน้ำเป็นการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API และปลายน้ำคือการปรุงเป็นยาให้เป็นยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาฉีด ทีมวิจัยได้ทำในส่วนที่เป็นกลางน้ำ คือ การสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญของการผลิตยา โดยเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ในช่วงที่ไวรัสโคโรนากำลังระบาดหนักในจีน และต่างประเทศ ในช่วงนั้นหลังมีการศึกษาพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่เคยใช้รักษาไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม มีฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาได้ จึงเริ่มมีการนำมาใช้รักษาอย่างกว้างขวาง จนเมื่อไวรัสโคโรนาเริ่มเข้ามาระบาดในไทย การนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากในต่างประเทศที่มีการระบาดก็ต้องการเก็บยาไว้ใช้ในประเทศของตัวเอง ทำให้ไทยขาดแคลนตัวยา แม้ว่าเราจะสามารถปรุงหรือผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองได้ แต่เมื่อไม่มีสารตั้งต้นหรือ API ก็ไม่สามารถผลิตได้ โดยในขณะนั้นมีเพียง 2 ประเทศที่ผลิตสาร API คือ จีน และญี่ปุ่น โดยประเทศนั้นๆ จำกัดส่งออก จึงเป็นจุดเริ่มในการทำวิจัย "งานวิจัยเราเริ่มทำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในการเริ่มต้นนั้นมีแค่ผมกับนักเคมีอีก 1 คน เริ่มต้นมีกัน 2 คน พยายามศึกษาทดลองกัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตโรคจะมาระบาดในไทยมากน้อยแค่ไหน" ดร.นิติพล เล่าว่า การสังเคราะห์สาร API นั้นมีหลายขั้นตอนและหลายวิธี ซึ่งทีมวิจัยเลือกวิธีที่คำนึงถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ ประกอบกับเรื่องต้นทุน เมื่อลองวิจัยไปได้ระยะหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากองค์การเภสัชกรรม เพราะในขณะนั้นยาและสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมไม่สามารถนำเข้าได้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ทีมวิจัยเชี่ยวชาญในการสังเคราะห์ยา "หลังจากได้ทุน ก็เริ่มรับคนเข้ามาช่วยเป็นทีมมากขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ พันธมิตรต่างประเทศ มีบริษัทเอกชนรวมถึงหลาย ๆ หน่วยงานเข้ามาเป็นพันธมิตรคอยช่วยเหลือสนับสนุนในด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ทั้งองค์เภสัชกรรมเอง และ สถาบันนวัตกรรม ปตท." ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดวิธีสังเคราะห์ให้กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำไปผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว โดยทีมวิจัยเองเข้าไปปรับกระบวนการวิธีสังเคราะห์ เนื่องจากเป็นการยกระดับจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ (Lab scale) ไปสู่การผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot scale) คือจากที่เคยทำในให้ปฏิบัติการ ปริมาตรน้อยกว่า 10 ลิตร แต่การทำในระดับกึ่งอุตสาหกรรมต้องทำมากกว่า 10 ลิตร ไปจนถึง 200 ลิตร ซี่งต้องมีการปรับปรุงกระบวนการสังเคราะห์ให้เข้ากับขนาดการสังเคราะห์ เช่น การคลายความร้อน เป็นต้น เมื่อถามว่ากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้นยาฟาวิพิราเวียร์ของทีมวิจัยแตกต่างหรือเหมือนกับที่เคยมีมาหรือไม่ ดร.นิติพล กล่าวว่า เราต่อยอดและพัฒนาวิธีสังเคราะห์ เพราะเราคิดเสมอว่าถ้าเราเลียนแบบวิธีการมาหมด เราจะอยู่ได้ไม่นาน เราอาจสู้ราคาไม่ได้ เราศึกษาถึงขนาดที่ว่าจะสังเคราะห์จากสารตัวไหนที่ต้นทุนถูก "ล่าสุดเราได้จดสิทธิบัตรวิธีการสังเคราะห์ API เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในการวิจัยเราปรับปรุงกระบวนการและเทคนิคการสังเคราะห์" ดร.นิติพล เปิดเผยด้วยว่า นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ทีมวิจัยยังเดินหน้าศึกษาวิจัยยาอื่นๆ รวมถึงเพื่อทำยาตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดดื้อยาในอนาคตด้วย “เนื่องจากยาที่ใช้สำหรับโรคติดเชื้อเมื่อใช้ไปสักพักอาจทำให้เชื้อเกิดการกลายพันธุ์ หรือเป็นเชื้อที่ดื้อยาขึ้นมาได้ ดังนั้นเราต้องคิดถึงเรื่องการดื้อยาเผื่อไว้ด้วย ซึ่งเรากำลังเร่งศึกษาวิจัยทำยาตัวใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ และต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” ทั้งนี้การพัฒนาวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และ API ของยาต้านไวรัส อื่นๆ เป็นงานที่สนับสนุนจากองค์การเภสัชกรรม และเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy Model) พ.ศ. 2564-2569  ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ.
ข่าว 30 ปี สวทช.
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
สำเร็จ! นาโนเทค สวทช. พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test)
นักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “NANO Covid-19 Antigen Rapid Test “ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็วด้วยเทคนิค LFA ด้วยจุดแข็งด้านการใช้งานที่สะดวก รวดเร็ว รู้ผลไวใน 15 นาที ลดภาระงานบุคลากรการแพทย์ในช่วงวิกฤต ผ่านการประเมินประสิทธิภาพจาก อย. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์รองรับความต้องการใช้งานในปริมาณมาก ดร.วรรณี ฉินศิริกุล  ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา นาโนเทค ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการที่สำคัญของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19  นาโนเทคได้ปรับแผนการทำงานตามนโยบายระดับองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศ โดยระดมทีมวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายใน สวทช. และเครือข่ายความร่วมมือพันธมิตร พัฒนาโครงการวิจัยเฉพาะกิจ จากฐานความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อรับมือ บรรเทา และฟื้นฟูสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดภายในประเทศระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในด้านสาธารณสุข ไปจนถึงการคาดการณ์ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่มีการระบาด “ในระยะแรกเรามองเห็นศักยภาพงานวิจัยทางด้านสุขภาพการแพทย์ ที่จะสามารถสนับสนุนการทำงานด้านระบบสาธารณสุขของประเทศได้ โดยนาโนเทคเองมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและสังเคราะห์อนุภาคนาโนเพื่อใช้เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับสัญญาณ ตลอดจนความสามารถในการอุปกรณ์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่มีความไวสูงสำหรับตรวจคัดกรองและติดตามโรคที่สำคัญ” ดร.วรรณีกล่าว นวัตกรรมชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test เป็นชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็วสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (Professional Use) ซึ่งผ่านการประเมินประสิทธิภาพจากทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยชุดตรวจ Nano COVID-19 Antigen Rapid Test นี้ เกิดจากการต่อยอดแพลตฟอร์มของ NanoFlu หรือชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ ดร.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. มองเห็นโอกาสและความจำเป็นในการต่อยอดพัฒนาชุดตรวจคัดกรองสำหรับโรคโควิด-19 ได้ จึงได้หารือ ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน และงานวิจัยก็เดินหน้าทันที ชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็วชนิดการตรวจหาแอนติเจน (เทคนิค LFA) หรือ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test อาศัยหลักการไหลในแนวราบ และการจับกันแบบจำเพาะของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยโมเลกุลดังกล่าวจะถูกติดสลากด้วยวัสดุนาโนตอบสนองชนิดพิเศษ ร่วมกับการพัฒนาและปรับสภาพองค์ประกอบต่างๆในชุดตรวจเพื่อให้สัญญาณ/เพิ่มสัญญาณจนอ่านสัญญาณได้ภายใน 15 นาที ดร.ณัฐปภัสรกล่าวว่า ความท้าทายหลัก คือ ไบโอโมเลกุลที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งต้องใช้เวลาในการคัดเลือก และการปรับสภาวะขององค์ประกอบต่างๆรวมทั้งน้ำยาในการวิเคราะห์ให้เหมาะสม ด้วยพันธมิตรที่ดีอย่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่สามารถผลิตโปรตีนสังเคราะห์ และโมเลกุลที่มีความจำเพาะเพื่อใช้ทดสอบได้จากความพยายามหลายสิบครั้งในการคัดเลือกไบโอโมเลกุลที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสโคโรนา และพัฒนาจนได้องค์ประกอบและสภาวะที่เหมาะสม จนกระทั่งเป็นชุดตรวจต้นแบบล่าสุด และด้วยพันธมิตรอย่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบเพื่อยื่นขอจดทะเบียนผู้ผลิต และขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผลการทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับวิธีทางอณูวิทยา พบว่า สามารถตรวจหาแอนติเจนหรือตัวเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ได้ในเวลาเพียง 15 นาที และมีความไวถึง 98% และความจำเพาะสูงถึง 100% สามารถใช้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ในเบื้องต้นได้ จุดเด่นของ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test คือ สามารถแสดงผลที่ชัดเจนโดยไม่ต้องอาศัยขั้นตอนหรือเครื่องมือในการแปลผลที่ยุ่งยากเทียบกับวิธีทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ และยังสามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว รู้ผลภายในเวลา 15 นาที ทำให้สามารถใช้ได้ทุกสถานที่ (Point of Care) ในการตรวจคัดกรองกับคนจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณผู้ป่วยที่ต้องตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง โดยผู้ที่ให้ผลบวกด้วยวิธี Antigen Rapid Test นี้ ต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง นับว่า เป็นการลดค่าใช้จ่าย ขั้นตอน ลดภาระงานในระบบสาธารณสุขรวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้ “ปัจจุบัน ผู้บริหารและทีมวิจัยกำลังเร่งผลักดันเรื่องของถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบการนำไปใช้ประโยชน์ของชุดตรวจฯ หลังจากที่นวัตกรรมนี้ผ่านการประเมินประสิทธิภาพจากทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้เร็วที่สุด ตอบสนองความต้องการใช้งานในช่วงเวลาวิกฤต ด้วยเชื่อว่า การตรวจคัดกรอง ยิ่งทำได้เร็ว ยิ่งช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาได้เร็ว ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้วิกฤตนี้คลี่คลายได้เร็วขึ้น” นักวิจัยนาโนเทค สวทช. กล่าวพร้อมย้ำว่า นวัตกรรมนี้ เป็นราคาแข่งขันได้ในท้องตลาด (Comparative price)แต่เราสามารถผลิตได้เองในประเทศ เป็นนวัตกรรมพึ่งพาตนเองที่ตอบเรื่องความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของไทย ขณะนี้ นาโนเทค สวทช. มีความพร้อมและกำลังสรรหาภาคเอกชนเข้ามารับอนุญาตใช้สิทธิ์ผลงานวิจัยเพื่อผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ดร.วรรณีกล่าวว่า โครงการวิจัยเฉพาะกิจนี้ถือเป็นการบูรณาการในระดับองค์กรเพื่อส่งมอบงานสู่การใช้ประโยชน์จริงภายใต้สถานการณ์และระยะเวลาที่มีจำกัด นับเป็นโอกาสที่ดีที่นาโนเทค สวทช. ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในยามวิกฤต ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ด้วยการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยขับเคลื่อนได้อย่างเต็มความสามารถ
ข่าว 30 ปี สวทช.
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
เด็กไทยเจ๋ง..!! คว้าอันดับ 1 การแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศระดับเอเชีย
เยาวชน ‘ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ’จากโรงเรียนอัสสัมชันธนบุรี ตัวแทนประเทศไทย ทำได้ เอาชนะคู่แข่งจาก 8 ประเทศทำคะแนนเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย การแข่งขันรอบทักษะการเขียนโปรแกรม ‘โครงการคิโบะ โรบอต ครั้งที่2’ เตรียมแข่ง รอบไฟนอลกันยายนนี้ กับโอกาสครั้งสำคัญในการสื่อสารกับนักบินอวกาศญี่ปุ่น แบบออนไลน์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร สนับสนุนเยาวชนทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขัน โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์ ในรอบทักษะการเขียนโปรแกรม หรือ Programming Skills Round ถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น   ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ในระบบ Simulation ซ่อมแซมสถานีอวกาศที่ชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด จาก 176 ทีมทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้รางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทย ได้ไปร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ของ NASA ในระบบ Simulation ชิงแชมป์เอเชียในรอบ Programming Skills Round ถ่ายทอดสดการแข่งขันแบบออนไลน์ ผ่านทาง YouTube Live: https://youtu.be/E3WFFd0wfGs จากองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ของเอเชียมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ในระบบซิมูเลเตอร์ ให้เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายและยิงแสงเลเซอร์ได้เข้าจุดกึ่งกลางเป้าทำคะแนนได้สูงสุดของการแข่งขัน ทั้งนี้ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาครอง ด้วยคะแนน 89.82 pt (A Class) ส่วนทีมอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม GeminiPYTW จากไต้หวัน คะแนน 80.04 pt (A Class) และทีมอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม Enigma Systems จากบังคลาเทศ คะแนน 76.65 pt (A Class) ซึ่งทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) เป็นตัวแทนประเทศไทยจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีสมาชิก 3 คน ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) เด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4   ด้าน นายธฤต วิทย์วรสกุล หรือน้องธฤต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 1 ในทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) เล่าถึงทีมให้ฟังว่า “พวกผม 3 คนเจอกันครั้งแรกจากการที่ได้เรียนอยู่แผนการเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (STEM) แล้วได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่พวกผมเริ่มได้รู้จักกันจริงๆ ตอนที่ทำงานอยู่ในชมรมหุ่นยนต์ จึงได้มีโอกาสพูดคุยและปรึกษากัน จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge” ในครั้งนี้ ซึ่งพวกผมทั้ง 3 คน รู้สึกสนุกกับการเขียนโปรแกรม โดยเฉพาะตอนที่เห็นโปรแกรมของเราสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง ผมชอบการที่เราสามารถนำเอาไอเดีย ในสมองของเรา แล้วเขียนออกมาเป็นโปรแกรม แล้วเกิดเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกมา พวกผมคาดหวังกับงานนี้เพื่อที่จะมาหาประสบการณ์การเขียนภาษาใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนา Code สำหรับ Android และสิ่งที่ผมคิดว่าการที่พวกผมประสบความสำเร็จและได้รางวัลชนะเลิศ คือความพยายามในการที่จะทดสอบหลายๆ ครั้งโดยทดสอบให้ครบทุกรูปแบบ และพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ออกมาดีที่สุดโดยไม่ย่อท้อ และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมของผมประสบความสำเร็จ” น้องธฤต เล่าให้ฟังต่อว่า การแข่งขันในรอบ Programming Skills ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการนำไฟล์ APK ของตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่รอบการแข่งขันชิงแชมป์ของแต่ละประเทศ เข้ามาประมวลผลในระบบซิมูเลเตอร์ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศญี่ปุ่น คิมิยะ ยูอิ และ ศ.ดร.ชินอิจิ นากาซึกะ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และประกาศผลการแข่งขันโดยแสดงคลิปวิดีโอการปฏิบัติภารกิจของหุ่นยนต์ Astrobee ตามโปรแกรมที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนเขียนเอาไว้ ซึ่งตอนประกาศผลการแข่งขันว่าทีมเราได้ที่หนึ่งก็รู้สึกดีใจมาก “ผมและเพื่อนแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ และแต่ละคนก็จะทำงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายและหากใครมีปัญหาก็จะมานั่งปรึกษาหาวิธีการแก้ปัญหากัน ปัญหาที่พบส่วนหนึ่งคือ log หรือข้อมูลการบันทึกจากซิมูเลเตอร์ที่ได้ออกมา สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้วิเคราะห์ได้ยาก พวกผมจึงแก้ปัญหาโดยการ เขียน Code มาอ่านตัว Logfile เพื่อดึงเอาเฉพาะข้อมูลที่ต้องการออกมา แล้วเก็บออกมาเป็นไฟล์ csv เพื่อให้สามารถนำเข้าไปอ่านใน Excel / Google sheet แล้วเปรียบเทียบถึงความแตกต่างในการ Simulation แต่ละครั้ง เพื่อให้สามารถปรับแก้ Code ได้ตรงจุด ซึ่งในทุกขั้นตอนมันยากมากแต่ก็ต้องค่อยๆ พยายามแก้ไขและผ่านพ้นไปให้ได้” สุดท้ายพวกผมอยากฝากถึงทุกๆ คนทำในสิ่งที่ตนเองรักและชอบต่อไป อย่าทิ้งในสิ่งที่ตัวเองชอบแต่ที่สำคัญถึงแม้ว่าพวกเราจะทำสิ่งที่รักที่ชอบกันแต่ก็ไม่ควรทิ้งการเรียนเพราะว่าการเรียนนั้นก็เหมือนกับการลงทุนระยะยาวถ้าเราตั้งใจทำมันไม่ทิ้งมันตั้งแต่เนิ่นๆ ในอนาคตจะไม่ส่งผลเสียแน่นอน” สำหรับ ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) ซึ่งได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge จะมีการแข่งขัน รอบ Final Round ชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์ ในเดือนกันยายน 2564 โดยถ่ายทอดสดจาก ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เยาวชนจาก 9 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับโอกาสสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศญี่ปุ่น อะกิฮิโตะ โฮชิเดะ (Akihito Hoshide) เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และได้สัมผัสกับศูนย์อวกาศสึกุบะ ถือเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งจะได้รับการฝึกจากที่นี่ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand หรือแฟนเพจ NSTDA SPACE Education
ข่าว 30 ปี สวทช.
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
Multimedia แบบเปิด
ข้างล่างเป็นเว็บไซต์ซึ่งรวบรวม multimedia ซึ่งสามารถใช้ได้ฟรี Multimedia - Digital Public Library of America (https://dp.la/) รวบรวมมากกว่า 14 ล้านรายการของ เนื้อหา, วิดีโอ, รูปภาพ และ audio จากห้องสมุด, จดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ - New York Public Library Digital Collections (https://digitalcollections.nypl.org/) ผลิตเกือบจะ 700,000 รายการ ส่วนใหญ่เป็นรูปภาพ แต่ยังมีเนื้อหา, แผนที่, audio และไฟล์ภาพยนตร์อีกด้วย ซึ่ง digital collections ใช้ได้ฟรี ตรวจสอบแต่ละรายการสำหรับข้อกำหนดเรื่องลิขสิทธิ์อื่น ๆ - USA.gov (https://search.usa.gov/search/news?affiliate=usagov&channel=617&query=) ค้นหาได้ง่าย ๆ วิดีโอและรูปภาพ - The Public Domain Project (https://www.pond5.com/free) เจ้าของคือ บริษัท stock footage (Pond5) ได้รวบรวมเกือบ 100,000 รูปภาพ, วิดีโอ, audio และไฟล์โมเดล 3 มิติ ภายใต้ public domain - Smarthistory (https://smarthistory.org/) เน้นศิลปะและประวัติศาสตร์ทางศิลปะ มีรูปภาพและวิดีโอตามภูมิศาสตร์, ช่วงเวลา และรูปแบบและหัวข้อ - Library of Congress (https://www.loc.gov/free-to-use/?loclr=blogloc) ประมาณ 12 collections ซึ่งรวมใช้ได้ฟรีและวัสดุใช้ซ้ำ ที่มา: University Libraries University of Nevada, Reno. Open Audio, Video, and Images. Retrieved July 14, 2021, from https://guides.library.unr.edu/oer/find
นานาสาระน่ารู้
 
นายกรัฐมนตรีประกาศเดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใน 7 ปี (พ.ศ. 2564-2570)
For English-version news, please visit : BCG Policy Board approves strategic plan and policy measures to drive BCG agenda 12 กรกฎาคม 2564 - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2564 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งนี้ มีการรายงานดัชนีเศรษฐกิจสีเขียว (Global Green Economy Index) ของประเทศไทยที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 45 ในปี 2557 มาอยู่ในอันดับที่ 27 ในปี 2561 และตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ที่มีอันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 55 ในปี 2560 มาอยู่ในอันดับที่ 43 ในปี 2563 แล้วก็ตาม ด้วย “วาระโลก” เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะ ปัญหาโรคระบาด การกระจายรายได้ รัฐบาลจึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการสานพลังของจตุภาคีทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการ ขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 :  ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และ 13 มาตรการหลักในการขับเคลื่อน ได้แก่ 1. พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญาด้วยการพัฒนาระบบ จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ในการใช้โมเดล BCG สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว 2. เพิ่มพูนทรัพยากรชาติด้วยการผสานพลังของรัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานวิจัย โดยการส่งเสริมเอกชนในการปลูกและดูแลป่าทุกประเภทในพื้นที่ของรัฐด้วยกลไกและจัดสรรคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) รัฐ : เอกชน (ผู้ปลูกและดูแล) ในสัดส่วนโดยประมาณที่ 10 : 90 และเร่งการวิจัยพัฒนาพันธุ์ สร้างนวัตกรรม ระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา การติดตามให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 3. พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG โดยเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานในแต่ละภูมิภาคเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการด้วยหลักการ BCG เชื่อมโยงการเกษตรทางเลือก/เกษตรสมัยใหม่ การแปรรูป การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับประเทศและเศรษฐกิจโลก 4. ปรับระบบการเกษตร สู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และมูลค่าสูง เน้นเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากความหลากหลายของสินค้าเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ ไม้ผล ไม้ตัดดอก ไผ่ ไม้เศรษฐกิจ แมลง สมุนไพร สัตว์เศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงและสามารถใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมได้ รวมถึงการพัฒนาระบบเกษตรแบบองค์รวม เชื่อมโยง B C และ G ทั้งจังหวัด 5. พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทาง และอาหารท้องถิ่นด้วยการยกระดับด้วยเครื่องจักรผลิตอาหาร (Food Machinery) และมาตรฐานการประกอบอาหารที่ดี 6. สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากฐานชีวภาพให้มีขั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น อาทิ สารสกัด สารประกอบฟังก์ชัน อาหารฟังก์ชัน ชีวเคมีภัณฑ์ เช่น โอลิโอเคมิคอล วัสดุชีวภาพ อาทิเช่น วัสดุคาร์บอนมูลค่าสูง ยา และวัคซีน เป็นต้น 7. สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลรัฐจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น การลดภาษีให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่จัดซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ส่งเสริมฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันกลไกราคาคาร์บอนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพ การจัดเก็บภาษีผู้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปลดล็อกการซื้อ-ขายพลังงานชุมชน 8. ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียว สร้างโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข (Happy Model), ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral), สร้างคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของจังหวัดหลักและกลุ่มจังหวัดรอง รวมถึงพัฒนาระบบการใช้จ่ายแบบระบบการชำระเงินเดียว (One Payment System) สำหรับการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำคลังข้อมูลด้านการท่องเที่ยว 9. ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสีเขียว และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 10. ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายขนาดการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ เพื่อการวิเคราะห์ ทดสอบ การรับรองและขึ้นทะเบียนสินค้า BCG โดยเฉพาะสินค้าเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย สารสกัด ชีวเคมีภัณฑ์ ยา วัคซีน เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ 11. ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) การประกอบการรูปแบบใหม่บนฐานเศรษฐกิจ BCG การบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งความรู้ด้านนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานในภาครัฐ และการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุนและผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ 12. สร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ในทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มชุมชนและฐานราก กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) และผู้ประกอบการเทคโนโลยี 13. เชื่อมโยงกับสากลในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ การดึงดูดบุคลากร การค้า การลงทุน การสร้างและพัฒนาเครือข่ายวิจัย การค้าและการลงทุนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก รวมถึงการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุนจากต่างประเทศด้วยการให้สิทธิประโยชน์ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เช่น สมาร์ทวีซ่า (Smart Visa) นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และใช้ 13 มาตรการเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจของหน่วยงานด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที อาทิเช่น  การผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรด้วยรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด (ราชบุรี ลำปาง ขอนแก่น จันทบุรี และพัทลุง) ใน 5 ภาค โดยพิจารณาความเข้มแข็งของแต่ละพื้นที่โดยตอบโจทย์   อุปสงค์และอุปทานของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ข่าว 30 ปี สวทช.
 
ข่าวประชาสัมพันธ์
 
ประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริม ตามแนวคิด BCG
บัญชีประเภทกิจการในอุตสาหกรรม BCG Download เอกสาร  
BCG
 
“TGIST” ความสําเร็จยกกําลังสาม เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่
"TGIST" ความสำเร็จยกกำลังสาม เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่             สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดตั้ง “โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” (Thailand Graduate Institute of Science and Technology program) หรือที่เรียกว่า “ทุน TGIST” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพและผลิตบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ยั่งยืนของประเทศ            โดยโครงการฯ สนับสนุนทุนให้แก่นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ทำวิทยานิพนธ์ภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาของอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิจัยจากศูนย์แห่งชาติของ สวทช. เป็นรูปแบบการสร้างความสำเร็จยกกำลังสาม รวมถึง สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่พร้อมทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือในการทำวิจัย ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยซึ่งมีกลุ่มวิจัย/ศูนย์วิจัยเฉพาะทางมากกว่า 30 กลุ่ม/ศูนย์รวมทั้งห้องปฏิบัติการวิจัยที่ตั้งอยู่ ณ หน่วยปฏิบัติการ เครือข่ายของสวทช. ภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ 32 แห่ง และมีบุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอกมากกว่า 300 คน ที่พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษางานวิจัยให้กับนักศึกษา            โครงการ “ทุน TGIST” ได้เริ่มสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อวิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โครงการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพิ่มเป็น 23 สถาบัน มีโครงการวิจัยรวม 1,000 โครงการ มีผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษา แล้วจำนวนกว่า 812 คน (ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2563) ส่วนใหญ่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเข้าสู่การเป็นนักวิจัย นักเทคโนโลยี หรือ อาจารย์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 392 คน และศึกษาต่อต้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจำนวน 221 คน และทำงานด้านอื่น ๆ 199 คน            นอกจากนี้โครงการยังสร้างโอกาสในการส่งต่อผู้รับทุนในระดับการศึกษาที่สูง ขึ้นผ่านโครงการทุนต่างๆ ของสวทช. จนผู้รับทุนสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดในระดับบัณฑิตศึกษา รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาได้มีส่วนร่วมสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้นักศึกษาที่ดูแล โดยสนับสนุนให้นักศึกษาสมัครขอรับทุนของโครงการเพื่อเข้าร่วมงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์กับนักวิจัยของ สวทช. เพื่อส่งต่อโอกาสจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างของความสำเร็จยกกำลังสามเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ ดังนี้             รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าของรางวัลทางวิชาการ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาฟิสิกส์ประจำปี พ.ศ. 2556 รางวัล 2019 TRF-OHEC-SCOPUS Research Awards For Mid-career Scholar สาขา Physical Sciences และรางวัล 2017 The World Academy of Science (TWAS) สาขาฟิสิกส์ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ เป็นศิษย์เก่าโครงการทุน TGIST ที่กลับมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาทุนที่เกิดจากความร่วมมือพัฒนากำลังคน ประกอบด้วย นักศึกษาทุน TGIST ระดับปริญญาเอก 2 คน ระดับปริญญาโท 4 คน ร่วมกับนักวิจัย สวทช. ได้แก่ ดร.ธีระพนธ์ แย้มวงษ์ และ ดร.ศุภมาส ด่านวิทยากุล             รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล จันทร์พาณิชย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ตัวอย่างศิษย์เก่าทุนของ สวทช. ที่มีการส่งต่อบัณฑิตคุณภาพจากโครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) ในระดับปริญญาตรีสู่โครงการทุน U-IRC ในระดับปริญญาโท (โครงการสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาและการแข่งขัน ของภาคอุตสาหกรรม โดยกลไกความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย) และโครงการทุน TGIST ในระดับปริญญาเอก โดยมีผลงานวิจัยร่วมกับ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป (สวทช.) และรองศาสตราจารย์ ดร.นพ.บัญชา ชื่นชูจิตต์ และทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเหรียญเงินจากรางวัลประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเรื่อง “แกนเหล็กเพื่อตัดแนวกระดูกในการทำผ่าตัดข้อไหล่เทียมรายบุคคล” จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 43 ประจำปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และกลับมาร่วมมือกับ ดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาทุนประกอบด้วย นักศึกษาทุน YSTP 2 คน และนักศึกษาทุน STEM ระดับปริญญาโท 3 คน โดยนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น            ได้รับเหรียญเงินจากรางวัลประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเรื่อง “แกนเหล็กเพื่อตัดแนวกระดูกในการทำผ่าตัดข้อไหล่เทียมรายบุคคล” จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 43 ประจำปี พ.ศ. 2559 ณ เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และกลับมาร่วมมือกับ ดร.ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาทุนประกอบด้วย นักศึกษาทุน YSTP 2 คน และนักศึกษาทุน STEM ระดับปริญญาโท 3 คน โดยนักศึกษาสำเร็จการศึกษาเข้าสู่วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น             สพ.ญ.สิริกร กิติโยดม นิสิตปริญญาเอก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของศิษย์เก่าโครงการทุน YSTP คือ ตร.ธีรพงศ์ยะทา (ขณะเป็นนักวิจัยที่นาโนเทค สวทช.) และ ดร.คทาวุธ นามดี ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.นพดล พิฬารัตน์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมกันพัฒนางานวิจัยเพื่อแก้ไขและป้องกันโรคเหงือกเน่าให้แก่เกษตรกร จึงเป็นที่มาของงานวิจัย “วัคซีนแช่นาโน แบบเกาะติดเยื่อเมือกต้านโรคเหงือกเน่าในปลา” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับดีเด่นและเหรียญทอง จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาปี พ.ศ. 2563             และรางวัลระดับดี การประกวดข้อเสนอโครงการสายอุดมศึกษาปี พ.ศ. 2563 กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรจากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี พ.ศ. 2563 จัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประเภทกลุ่มประจำปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้มีผลงานที่จดสิทธิบัตรและได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอกชนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์แล้ว            TGIST ได้ขยายผลสู่โครงการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้าน ว และ ท ระหว่าง สวทช. กับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงระดับปริญญาเอกและปริญญาโท ด้วยกลไกการความร่วมมือวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญของอาจารย์และนักวิจัยของ สวทช. ที่ตรงตามหัวข้องานวิจัยในยุทธศาสตร์เป้าหมายของประเทศ และมีเครือข่ายสถาบันการศึกษา/สถาบันการวิจัยที่มีชื่อเสียงต่างประเทศควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตนักวิจัยอาชีพรุ่นเยาว์คุณภาพสูงให้แก่ประเทศ             จากโปรแกรมการศึกษาที่มุ่งเน้นการทำวิจัย (Research based) ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองฝ่ายคือ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยและนักวิจัย สวทช. ที่มีผลงานและประสบการณ์การทำวิจัยสูง และมีความเชี่ยวชาญ ที่จะดูแลนิสิต/นักศึกษาในการทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ร่วมกัน โดยมีปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ ความร่วมมือด้านงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล โครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ สวทช. แล้ว จำนวน 8 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันวิทยสิริเมธี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล            TGIST นอกจากจะสามารถสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก เข้าสู่การเป็นนักวิจัย นักเทคโนโลยีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมถึงอาจารย์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว รูปแบบความร่วมมือและการเชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยรูปแบบความสำเร็จยกกำลังสามนี้ ยังสร้างผลกระทบและเปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศได้มากขึ้นอีกด้วยดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม Open PDF Open e-Book
30 ปี สวทช.
 
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
“YSTP” จากปริญญานิพนธ์สู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและสู่เส้นทางอาชีพวิจัย
“YSTP” จากปริญญานิพนธ์สู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และสู่เส้นทางอาชีพวิจัย             จากกลไกการให้ทุนต้นทางตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นจนไปสู่การคัดเลือกให้ได้ทุนต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาเอกของโครงการ JSTP ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการสามารถพัฒนาเยาวชนที่มีอัฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่วนหนึ่งและเพื่อให้การพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครอบคลุมถึงการส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ทั่วถึงโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา             สวทช. จึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศริเริ่ม “โครงการนำร่องเพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้มีความสามารถพิเศษ” หรือ “YSTP" (Young Scientist and Technologist Program) ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และขยายฐานสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมให้รองรับกับกลุ่มเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับอุดมศึกษา รวมถึงในกลุ่มเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นมากในอนาคตด้วย           ซึ่งต่อมาโครงการนำร่องฯ ได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “โครงการสร้างปัญญาวิทย์ผลิตนักเทคโน” ในปี พ.ศ. 2550             โครงการสร้างปัญญาวิทย์ฯ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีผลการเรียนดี และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักวิจัยอาชีพ ได้รับการสนับสนุนให้ได้ทำวิจัยอย่างจริงจัง ร่วมกับนักวิจัยใน สวทช. ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายและขอบเขตของงานวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ            ปัจจุบันโครงการ YSTP สนับสนุนการผลิตบัณฑิตคุณภาพสู่สังคมรวม 15 รุ่น มีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 38 สถาบัน มีนักศึกษาที่จบการศึกษาทั้งหมดจำนวน 629 คน และกำลังศึกษาอยู่ (พ.ศ. 2563) จำนวน 42 คน  ผู้ได้รับทุนของโครงการฯ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา 45% ด้วยกลไกการให้ทุนนี้ ส่งผลให้ผู้ได้รับทุนได้รับการพัฒนาทักษะวิจัย รวมทั้งได้เห็นถึงความชัดเจนของเส้นทางอาชีพวิจัยและการศึกษาต่อในอนาคต อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดบุคลากรที่มีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ในหลากหลายสาขา เช่น             อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ ยะทา อาจารย์หน่วยชีวเคมี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับรางวัลสาขา Entrepreneurial Award หรือผู้ประกอบการยอดเยี่ยมของ UK Alumni Awards 2019 ศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น Imperial College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมถึงได้รับประกาศเกียรติคุณ “การนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยร่วมประกวด และจัดแสดงในเวทีนานาชาติ” สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ. 2562 จากผลงานวิจัย “ตัวพา อนุภาคนาโน เพื่อการนำส่งยาในร่างกายอย่างแม่นยำ” รวมถึงรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประเภทกลุ่มประจำปี พ.ศ. 2563 นำทีมโดย ดร.คฑาวุธ นามดี นักวิจัย NANOTEC ร่วมกับ สพ.ญ.สิริกร กิติโยดม นิสิตปริญญาเอก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยผลงานวิจัย “นาโนวัคซีนแบบจุ่ม โดยเลียนแบบเชื้อก่อโรคในปลา" จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 46 โดยรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งในขณะที่เป็นนักวิจัย สวทช. ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและนักวิจัย พี่เลี้ยงให้แก่นักศึกษาทุนโครงการ TAIST-Tokyo Tech 1 คน โครงการ TGIST 2 คน (ปริญญาโท 1 คน ปริญญาเอก 1 คน) และ โครงการ STEM 1 คน             นายปรมินทร์ อินโสม จากมหาบัณฑิตด้าน Cyber Security มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ สู่การทำงานเป็นวิศวกรใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา ต่อมาได้นำความรู้จากงานวิจัยระดับปริญญาโท มาต่อยอดระดมทุนพัฒนาและให้กำเนิดสกุลเงินดิจิทัล Zero Coin หรือ Zcoin เหรียญ Cryptocurrency สัญชาติ ไทย รวมถึงสร้าง Thailand Digital Asset Exchange (TDAX) เป็นช่องทางให้บริการโอน และซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และได้ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทสตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแบบครบวงจรในประเทศไทย อย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 โดยให้บริการ Satang Pro เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang App. กระเป๋าสตางค์คริปโตฯ เป็นต้น ที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์เพิ่มเติมและได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกับนักวิจัยมืออาชีพ ทำให้โครงการนี้ นอกจากจะสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพตรงความต้องการของภาคการผลิตและบริการแล้ว ยังทำให้เกิดความร่วมมือด้านวิจัยและวิชาการร่วมกันอย่างแท้จริงดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม Open PDF Open e-Book
30 ปี สวทช.
 
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
“Career for the Future”เพิ่มทักษะและความสามารถให้แรงงานไทยสู่อาชีพอนาคต
"Career for the Future"เพิ่มทักษะและความสามารถให้แรงงานไทยสู่อาชีพอนาคต "มุ่งยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาคการผลิตและบริการไทยให้เป็นมืออาชีพ"นี่คือวิสัยทัศน์ (Vision) ของ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต หรือ Career for the Future Academy หน่วยงานด้านการพัฒนากำลังคนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีพันธกิจสำคัญในการให้บริการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาทางวิชาการและเทคนิค เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของบุคลากรในภาคการผลิตและบริการของประเทศไทยรวมถึงกระตุ้นให้เกิดการวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์ด้าน วทน.ของประเทศ ผ่านกลไกและส่งต่อผลงานของ สวทช. ไปสู่หน่วยงานรัฐ และเอกชนในภาคการผลิตและบริการ พร้อมทั้งเสนอทางเลือกใหม่ให้หน่วยงานดังกล่าวเตรียมความพร้อมต่อการบริหารจัดการที่ใช้ วทน.อย่างมืออาชีพ ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและตอบโจทย์ประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถาบันฯ แห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เพื่ออุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และพัฒนามาเป็นสถาบันฝึกอบรมของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สวทช. ในปี พ.ศ. 2537 ก่อนพัฒนามาเป็นสถาบันวิทยาการ สวทช. ในปี พ.ศ. 2553 ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต หรือ Career for the Future Academy เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา บริการของสถาบันแห่งนี้ มีทั้งหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคตแบบสาธารณะ (Public Class) ระบบการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เลิร์นนิง โครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพด้านไอที บริการฝึกอบรมเฉพาะกลุ่ม (In-house Class) และบริการเช่าห้องอบรม ทั้งนี้สถาบันฯ มีหลักสูตรที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย มีองค์ความรู้ที่แสดงให้เห็นการนำเทคโนโลยีไปใช้ในธุรกิจหลากหลาย มีความรู้ที่เป็นการจัดการที่ดีเยี่ยม (Best practices) จำนวนมากสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมที่จัด สำหรับตัวอย่างหลักสูตรเด่น ๆ เช่น รู้จริงระบบการปลูกพืชแนวตั้งใน 2 วัน (Mastering Vertical Farming System in 2 Days) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้เทคโนโลยี การจัดการและความเข้าใจและสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชสมัยใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ธุรกิจที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพที่ดีใกล้เคียงกันในทุกรอบการผลิต และใช้แรงงานน้อย สามารถปลูกได้ทั้งปี ทุกหลักสูตรฝึกอบรมมุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และประสบการณ์โดยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณาวุฒิจากศูนย์แห่งชาติ ภายใน สวทช. ตลอดจนเครือข่ายวิทยากรจากทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ หน่วยงานรัฐ และเครือข่ายผู้ประกอบการจากภาคเอกชน โดยใช้ช่องทางการจัดกิจกรรมทั้งแบบออฟไลน์ที่เป็นปกติใช้ห้องอบรม สถานที่ที่สะดวกและบริการดีเยี่ยม หรือแบบออนไลน์ผ่านช่องทางอี-เลิร์นนิ่ง นอกเหนือจากการยกระดับความสามารถของคนไทยด้วยการฝึกอบรมแล้วทางสถาบันฯ ยังเป็นผู้ดำเนินการโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มภาคี 7 ประเทศคือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า มองโกเลีย และไทย ภายใต้ชื่อ Information Technology Professionals Examination Council (ITPE) โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรฐานสากล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค และร่วมกันจัดสอบเพื่อวัดระดับความรู้และทักษะพื้นฐานด้านไอทีแบบไม่อิงผลิตภัณฑ์ใด ๆ การสอบนี้เหมาะสำหรับชาวไอที นักวิเคราะห์ทุกสาขา นักวิชาการ อีกทั้งในกลุ่มตำแหน่งอื่น ที่สนใจสอบเทียบความรู้ด้านไอที รวมถึงพัฒนาศักยภาพของตนเองอีกด้วยดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม Open PDF Open e-Book
30 ปี สวทช.
 
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
NSC-YSC-RDC ปั้นนักวิทย์-เทคโนฯ รุ่นเยาว์จากเวทีแข่งขันระดับชาติ
NSC-YSC-RDC ปั้นนักวิทย์-เทคโนฯ รุ่นเยาว์จากเวทีแข่งขันระดับชาติ คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ "ไอที" ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ทุกคนขาดแทบไม่ได้ การสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดบุคลากรด้านไอทีขึ้นในประเทศ จึงเป็นนโยบายที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) รวมถึงหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในวงการไอที่ไทยต่างให้ความสำคัญและร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การใช้รูปแบบการประกวดแข่งขันก็เป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่สำคัญ ที่จะจุดประกายให้เยาวชนไทยค้นพบความสามารถด้านเทคโนโลยีและไอที และมีการพัฒนาตนเองขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ดังเช่น "การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย" หรือ "National Software Contest: NSC" เวทีการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียกได้ว่าเป็น "ตำนาน" และจุดเริ่มต้นในสายไอทีของหลาย ๆ คน ในปัจจุบัน โครงการนี้ต่อยอดมาจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาชอฟต์แวร์ขนาดเล็กที่เนคเทค สวทช. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ต่อมาได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการและยกระดับให้เป็นเวทีการประกวดระดับประเทศ และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "NSC" ในปี พ.ศ. 2542 "NSC" เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนนิสิต และนักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพัฒนาซอฟต์แวร์ และนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งทางโครงการมีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต และนักศึกษาพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปสู่การเป็นนักพัฒนา ทั้งนี้ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนี้ยังมีการสนับสนุนผู้ที่ได้รับรางวัลให้ไปแข่งขันต่อในเวทีระดับนานาชาติ เช่น งาน Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) ซึ่งเป็นการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ในด้านต่าง ๆ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากการประกวดการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์แล้ว เนคเทค สวทช.ยังได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการประกวด "โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition)" หรือ "YSC" ขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยเริ่มจากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาได้เพิ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และการประกวดประเภททีม ซึ่งเปิดกว้างสำหรับทุกสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดย "YSC " เป็นการสนับสนุนให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษามีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรมและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้วิธีการจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกในแต่ละภูมิภาคเพื่อเฟ้นหาตัวแทนมาเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ และผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยให้ไปแข่งขันต่อในรายการ "Intel InternationalScience and Engineering Fair" หรือ "Intel ISEF" ที่สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "Regeneron ISEF" เนื่องจากบริษัท Regeneron เป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563) ซึ่งเป็นเวทีการประกวดแข่งขันผลงานทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานและผลักดันผลงานของเยาวชนไทยสู่เวทีระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชนไทยให้ครอบคลุมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนคเทค สวทช.จึงดำเนินการจัดงาน "มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thailand ICT Contest Festival)" ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยรวมการประกวดแข่งขันสุดยอดผลงานนวัตกรรมด้าน ICT จากเยาวชนไทยจากทั่วประเทศทั้ง 2 กิจกรรมเข้าไว้ด้วยกัน และเพื่อให้ผลงานที่โดดเด่นของเยาวชนไทยไม่หยุดอยู่แค่การได้รับรางวัล เนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้ง "โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่" ขึ้นในปี พ.ศ. 2556 เพื่อต่อยอดการพัฒนาเยาวชนจากโครงการ YSC และNSC ให้สามารถสานต่อผลงานสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้จริง ปัจจุบันโครงการ YSC, NSC และโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่สังกัด สวทช. หนึ่งในตัวอย่างเยาวชนที่ผ่านเวทีการประกวดของ สวทช. และได้รับการต่อยอดในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ จนสามารถขยายผลงานไปสู่ภาคธุรกิจได้ คือ "นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์" เจ้าของผลงาน "ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ" ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2554 และเข้าร่วมในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ โดยได้รับทั้งทุนสนับสนุนและโอกาสในการขยายผล นำอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบใช้งานจริง และสามารถสร้างเครือข่ายการใช้งานจนสามารถประกอบเป็นธุรกิจได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ สวทช. ยังสนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาด้านหุ่นยนต์ในโครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (Thailand Robot Design Camp: RDC Thailand) หรือชื่อเดิมว่าการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2562 โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ RDC Thailand เป็นโครงการสำหรับเยาวชนทั่วประเทศที่มีความสนใจพิเศษด้านหุ่นยนต์จากหลากหลายสาขา เพื่อพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้การจำลองการทำงานจริงร่วมกันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์พิชิตโจทย์ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ใช้รูปแบบเหมือนกับการแข่งขันระดับนานาชาติ RoBocon International Design Contest (IDC Ro Bo Con) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ เช่น Massachusetts Institute of Technology(MIT) สหรัฐอเมริกา และ Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) ญี่ปุ่นในระยะเวลากว่า 12 ปีมีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ RDC Thailand รวม 1,813 คนจาก 76 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และมีเยาวชนที่ได้ประสบการณ์ในการแข่งขันเวทีระดับนานาชาติจำนวน 78 คน ความสำเร็จของการดำเนินโครงการ RDC Thailand ได้สร้างบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้แก่หน่วยงานและเอกชนของประเทศ นอกจากนั้นโครงการได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพนักวิจัย พัฒนารูปแบบกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ให้มุ่งเน้นทักษะทางด้านการทำงานร่วมกันเป็นทีม พัฒนาสื่อและอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน ขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ การประกวดและแข่งขันสร้างผลงานของเยาวชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาบุคลากรและทรัพยากรคนด้านไอที ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มีผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจากสวทช. ไปแล้วมากกว่า 10,000โครงการ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นับเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของบุคลากรด้านไอทีในระดับเยาวชน ที่พร้อมจะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิจัย นักพัฒนา นวัตกรหรือผู้ประกอบการด้านไอที ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุค "ประเทศไทย4.0" ในสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เทคโนโลยีไอทีคือเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม Open PDF Open e-Book
30 ปี สวทช.
 
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
มหาวิทยาลัยเด็กจุดประกายสร้างเด็กไทยหัวใจวิทย์
มหาวิทยาลัยเด็กจุดประกายสร้างเด็กไทยหัวใจวิทย์ แม้ว่าจะมีกลไกในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศที่ทุกภาคส่วนต่างต้องอาศัย วทน. เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนที่สำคัญขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเรียนรู้ "วิทยาศาสตร์" ที่ทำให้รู้จักคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศการสร้างรากฐานนี้จำเป็นที่จะต้องปูพื้นฐานตั้งแต่เยาว์วัยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จัดทำ "โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (Thailand Children's University)" ขึ้น เพื่อปูพื้นฐานเด็กไทยให้รักและสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายหลังที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็กที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่ง สวทช. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิชาการและการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยเครือข่าย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี จัดทำ "โครงการนำร่องมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย" ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 โดยปรับใช้หลักสูตรมาจากโครงการ "มหาวิทยาลัยเด็ก เยอรมนี" ที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ดร.คัทธารีนา โคห์เชอ เฮออิงเฮาส์ (Prof. Dr. Katharina Kphse-Hoinghaus) แห่งทอยโทแล็บมหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2547 และในเวลาต่อมาโครงการนี้ได้ขยายผลไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงประเทศไทยโดยโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบันมีเครือข่ายพันธมิตรได้แก่ มหาวิทยาลัย 19 แห่งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค สสวท. และ สวทช. ได้มีการปรับกิจกรรมการทดลองต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย จัดเป็นกิจกรรมการจำลองการเรียนรู้เหมือนในมหาวิทยาลัยให้เยาวชนในระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นได้ร่วมทดลองวิทยาศาสตร์ที่สนุกสนานในสาขาวิชาต่าง ๆ รวมถึงคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ สร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์และได้พัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำระหว่างทำกิจกรรม ซึ่งจะมีความหลากหลายและจัดขึ้นตามมหาวิทยาลัยที่ร่วม จากการดำเนินงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมและมหาวิทยาลัย เครือข่ายรวม 21 แห่ง กระจายทั่วประเทศ โดยแต่ละหน่วยงานจัดกิจกรรมการทดลองให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของแต่ละหน่วยงาน ประกอบด้วยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยบูรพามหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัย อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สำหรับ สวทช. ที่ผ่านมา ได้นำกิจกรรมทดลองชุดต่าง ๆ ของโครงการมหาวิทยาลัยเด็กฯ ไปใช้ในการจัดกิจกรรมกับนักเรียนอย่างต่อเนื่องที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี รวมถึงมีการพัฒนาไปเป็นกิจกรรมทดลองสำหรับเยาวชนผู้พิการอีกด้วย ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สวทช. ได้รวบรวมการทดลองสนุก ๆ ในกิจกรรมจากเครือข่ายโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย มาให้เด็ก ๆ และเยาวชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์และทำการทดลองเองที่บ้านพร้อมกับครอบครัวได้ที่ Fun Science @Home by NSTDA ทางแฟนเพจ https://www.facebook.com/sciencecamp.fanpage/ และเว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/sciencecamp/funscience"โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย" จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ทุกฝ่ายร่วมกันในการสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความชอบในวิทยาศาสตร์ และเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนไทย ในการที่จะเลือกก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยมืออาชีพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม Open PDF Open e-Book
30 ปี สวทช.
 
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
 
ผลงานวิจัยเด่น
 
“บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” แรงบันดาลใจผ่านค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร
"บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" แรงบันดาลใจผ่านค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร "ค่ายวิทยาศาสตร์" คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความรักในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชน ซึ่งจะสามารถบ่มเพาะและพัฒนาต่อยอดเป็นบุคลากรวิจัยมืออาชีพในอนาคตได้ จากความมุ่งมั่นบ่มเพาะพัฒนาเยาวชนด้วยกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร (Permanent Science Camp) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจัดกิจกรรมพัฒนาเยาวชน และ สวทช.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ-พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ "บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" (Sirindhorn Science Home) เป็นชื่อโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร และเริ่มเปิดดำเนินการ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ฝึกทักษะ และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งที่มีความสนใจและมีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบครบวงจร ตั้งแต่กระตุ้นความสนใจ สร้างเครือข่ายกับครูและอาจารย์ทั่วประเทศ รวมถึงการค้นหา ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด สวทช. ได้ใช้ความพร้อมทั้งบุคลากร สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน โดยได้จัดสร้างห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพพืช โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม(Fabrication Lab: FabLab) ซึ่งเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือวิศวกรรมศาสตร์ที่ทันสมัย มีความปลอดภัย เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงกับนักวิจัยและนักวิชาการของ สวทช. สำหรับกิจกรรมมีรูปแบบหลากหลายเน้นความเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ สวทช. มีความเชี่ยวชาญ โดยบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ทั้งกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์แบบค่ายหนึ่งวัน ค่ายค้างคืน และค่ายเฉพาะทาง รวมถึงโครงการเสริมสร้างทักษะการทำโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาการทำโครงงานฯ ด้วยวิธีระเบียบวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม และมีคุณภาพในระดับชาติหรือนานาชาติ ซึ่งแต่ละปีมีเด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมที่จัด ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรกว่า 10,000 คนตัวอย่างผลงานที่สำคัญเช่น การสร้างเครื่องบิน CozyMark IV ชนิด Composite4 ที่นั่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมฝึกทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์ที่เข้มข้นใช้เวลาการสร้างกว่า 7 ปีและมีนักเรียนกว่า 3,105 คน ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกฝนและปฏิบัติจริงที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งมีการทดสอบการวิ่ง(Taxi) ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นับเป็นเครื่องบินลำแรกของประเทศไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทย และสามารถใช้งานจริงได้และ สวทช. ได้มอบเครื่องบินลำนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพในปี พ.ศ. 2560 เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA PART 66 CAT B1 ต่อไป ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 สวทช. บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรได้จัดทำ Face shield ที่ผลิตจากเครื่องพิมพ์สามมิติแจกจ่ายให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการช่วยป้องกันโรคกว่า 3,000 ชิ้น นอกจากนี้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรได้รับความไว้วางใจในการเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเยาวชนนานาชาติ อาทิ เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 (AYSF 2011) Asian Science Camp 2015 ในปี พ.ศ. 2558 และ The 15th Asia Pacific Conference on Giftedness (APCG2018) ในปี พ.ศ. 2561 อาจกล่าวได้ว่า "บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช." เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและครบวงจรในการสร้างบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ที่ต้องเริ่มจากการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ ทักษะในการเป็นนวัตกรหรือนักวิจัยตั้งแต่วัยเยาว์ และต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพนักวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยสวทช. คาดหวังว่าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรจะเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบของประเทศ ที่จะมีหน่วยงานอื่นนำไปขยายผลการดำเนินงานสู่ภูมิภาคต่อไปในอนาคตดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม Open PDF Open e-Book
30 ปี สวทช.
 
งานวิจัย 30 ปี สวทช.
 
ผลงานวิจัยเด่น