พลิกโฉมการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนา เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG Economy Model ได้รับการประกาศเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถือว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากจากทุกภาคส่วน หน่วยงานภาครัฐ มีการปรับแผนงาน จัดทำยุทธศาสตร์ จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการขับเคลื่อน และจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BCG รวมถึงการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปพัฒนาเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่ (Area based) โดยนำร่องใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง จ.ขอนแก่น จ.ราชบุรี จ.จันทบุรี และ จ.พัทลุง มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารรายสินค้าจังหวัดเพื่อคัดเลือกสินค้าเกษตรเป้าหมายที่สำคัญของจังหวัด ในส่วนของภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในกิจการประเภท BCG เพิ่มขึ้น ดังเห็นได้จากตัวเลขขอรับการลงทุนในกิจการประเภท BCG ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระหว่างเดือนมกราคม 2464-กันยายน 2565 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 250,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 29 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุน และสถาบันการเงินมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ BCG รวมกันมากกว่า 1.5 แสนล้านบาทจนถึงปี 2570
ในช่วงเวลาที่กำลังเคลื่อนสู่ปีที่ 3 ของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา “พลิกโฉมการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG” เพื่อถอดรหัสการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ผ่านมาเพื่อการเรียนรู้ และก้าวต่อผ่านมุมมองของประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ของสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังของจตุภาคี อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคมในการร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่ท้าทายยิ่งที่จะนำพาประเทศไทยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไปพร้อมกัน