เทคโนโลยีการฟื้นฟูขั้นสูงเพื่อความงามและสุขภาพ
ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพที่มุ่งเน้นการฟื้นฟู (Rejuvenation) และการชะลอวัย (Anti-aging) กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกสอดรับกับสังคมโลกที่เข้าสู่ยุคผู้สูงวัย ซึ่งในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการฟื้นฟู ไม่ใช่เพียงแค่สามารถทำให้มีรูปร่าง ผิวพรรณภายนอกที่ดูดีขึ้น แต่ยังสามารถส่งเสริมสุขภาพ และอาจเพิ่มช่วงเวลาที่มีสุขภาพดี (Healthspan) และช่วงอายุขัย (Lifespan) ได้อีกด้วย
เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟู มีจุดเริ่มต้นมาจากศาสตร์ที่ใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาวะชรา และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น Regenerative medicine (เวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม), Stem cell therapy (การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด), Exosome therapy (การรักษาด้วย Exosome ที่หลั่งออกมาจากเซลล์), Microbiome (ชีวนิเวศจุลชีพ), หรือ Senotherapeutics (การมุ่งเป้าจัดการเซลล์แก่) ซึ่งปัจจุบันนี้องค์ความรู้ดังกล่าว ได้ถูกนำมาใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, หัตการเพื่อความงาม, รวมถึงผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขาติ (สวทช.) ได้มีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการฟื้นฟู/ชะลอวัยเพื่อสุขภาพและความงามอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่นการพัฒนาสารที่มีฤทธิ์ชะลอวัยใหม่ๆ รวมถึงมีการเปิดให้บริการทดสอบประสิทธิภาพ (Efficacy) และความปลอดภัย (Safety) ของสารออกฤทธิ์ เวชสำอาง เสริมอาหาร โดยใช้โมเดลผิวหนังคน ทั้งในระดับเซลล์ (2D cells) เนื้อเยื่อผิวหนังสามมิติ (3D skin) และผิวหนังที่ได้จากอาสาสมัคร (Ex vivo skin) รวมถึงได้ทำการวิจัยร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยน ผลงานวิจัยด้านการฟื้นฟูและการชะลอวัยที่มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) รวมถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดให้เกิดการ Commercialization โดยมี Session ช่วงบรรยาย ที่พูดถึง Regenerative medicine, Longevity science, Stem cells, Exosomes, Gut microbiome, และ Senotherapeutics และมี Session เสวนา ซึ่งมีผู้ประกอบการ และนักวิจัยมาพูดถึงการผลักดัน Deep techด้านการฟื้นฟูของหน่วยงานวิจัยภาครัฐ มหาวิทยาลัย และ Startup เพื่อออกสู่เชิงพาณิชย์