หน้าแรก LANTA ติดอันดับที่ 70 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนของการจัดลำดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงสุดของโลก
LANTA ติดอันดับที่ 70 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนของการจัดลำดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงสุดของโลก
15 พ.ย. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2022/nstda%E2%80%99s-supercomputer-ranks-70th-in-the-new-top500-list-of-the-world%E2%80%99s-most-powerful-supercomputers.html

ผลการจัดอันดับ TOP500 หรือการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก ครั้งที่ 60 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 ได้ประกาศว่าเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ถูกจัดให้เป็นเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพสูงสุดอันดับ 70 ของโลก หรือนับเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณที่สูงถึง 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงข่าวการจัดอันดับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ TOP500 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเพื่อจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติของระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากทั่วโลก รวมทั้งยังถูกนำไปใช้ในการแสดงศักยภาพด้านการคำนวณอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ในการประกาศผลการจัดอันดับครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 นั้น ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA ของประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 70 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่ 20 ของเอเชีย และเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดอันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยประสิทธิภาพในการคำนวณ 8.1 petaFLOPS หรือ 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที  ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยที่มีระบบประมวลผลที่ติดอยู่ใน 100 อันดับแรกของการจัดอันดับ TOP500 เป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนาที่ต้องอาศัยการคำนวณขั้นสูงของประเทศไทยให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. เปิดเผยว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ประจำปี 2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสนับสนุนนักวิจัยจากภาคการศึกษา หน่วยงานจากภาครัฐ และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชนและอุตสาหกรรม และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการคำนวณของไทยให้โดดเด่นในระดับนานาชาติ

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   ให้ข้อมูลว่า LANTA เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่น Cray EX Supercomputer ผลิตโดยบริษัท Hewlett Packard Enterprise (HPE) ประกอบด้วยหน่วยประมวลผล CPU AMD EPYC เจนเนอเรชั่น ที่ 3 (Milan) รวมทั้งสิ้น 31,744 cores และหน่วยประมวลผล GPU รุ่น NVIDIA A100 ที่เหมาะสมสำหรับการคำนวณด้าน AI ขั้นสูงและการจำลอง simulation ทางวิทยาศาสตร์จำนวน 704 หน่วย มีระบบจัดเก็บข้อมูลความเร็วสูงรุ่น Cray ClusterStor E1000 ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลมากกว่า 10 เพตะไบต์ (petabytes) หรือ 10,000 ล้านล้านไบต์ โดยใช้การเชื่อมต่อด้วยเครือข่ายประสิทธิภาพสูง HPE Slingshot Interconnect ที่มีความเร็วในการส่งรับข้อมูล 200 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ซึ่งทำให้ LANTA มีประสิทธิภาพการประมวลผลสูงสุดในทางทฤษฎี (theoretical peak performance) อยู่ที่ 13.7 petaFLOPS และประสิทธิภาพการคำนวณสูงสุดที่วัดได้ (maximum LINPACK performance) อยู่ที่ 8.1 petaFLOPS หรือ 8.1 พันล้านล้านคำสั่งต่อวินาที (ดูข้อมูลได้ที่ https://top500.org/system/180125/)

นอกจากนี้ LANTA เป็นเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยน้ำ (warm water cooling) เป็นที่แรกของประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพการระบายความร้อนสูงกว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ในระยะยาว และเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเข้าสู่ยุคของ Green Computing เช่นเดียวกับศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชั้นนำทั่วโลก

LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้กับหัวข้อวิจัยที่สำคัญได้หลากหลายเพื่อสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างนวัตกรรมให้กับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การแพทย์แม่นยำ การวิจัยพัฒนายา การจำลองสภาพภูมิอากาศตามเวลาจริงโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม การคำนวณออกแบบวัสดุใหม่ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง การศึกษาการทำงานของชีวโมเลกุล และความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยาของไทย และในด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างรวดเร็วเพื่อประโยชน์การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการจราจร การบริหารการสาธารณสุข ประมวลข้อมูลการกระจายรายได้

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและศึกษารายละเอียดได้ที่ https://thaisc.io/ หรือสอบถามเพิ่มเติมทางอีเมลได้ที่ thaisc@nstda.or.th

 

15 พ.ย. 2565
0
แชร์หน้านี้: