หน้าแรก ‘ผักที่เรากินปลอดภัยจริงไหม ?’ เซนเซอร์ให้คำตอบคุณได้

‘ผักที่เรากินปลอดภัยจริงไหม ?’ เซนเซอร์ให้คำตอบคุณได้

9 เม.ย. 2568
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
บทความ
ผลงานวิจัยเด่น

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ‘ผักที่เรากินปลอดภัยจริงหรือเปล่า ?’ เซนเซอร์ให้คำตอบคุณได้

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผักที่รับประทานมีไนเทรตสูงเกินมาตรฐานหรือไม่ ? กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ทีเมค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณไนเทรต (nitrate) ในผักและสมุนไพร รวมถึงน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ (hydroponics) หรือระบบรางน้ำ เพื่อการผลิตอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ สมุนไพรมูลค่าสูง และการดูแลสิ่งแวดล้อม

 

ภาพ ดร.วิน บรรจงปรุ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีอิสเฟต ทีเมค สวทช.
ดร.วิน บรรจงปรุ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีอิสเฟต ทีเมค สวทช.

 

ดร.วิน บรรจงปรุ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีอิสเฟต ทีเมค สวทช. อธิบายว่า การเพาะปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์เป็นการปลูกพืชด้วยสารละลายน้ำที่มีธาตุอาหารและปุ๋ยเป็นส่วนประกอบทดแทนการปลูกด้วยดิน โดยในการปลูกผู้เพาะปลูกอาจให้ไนเทรต (ธาตุอาหารรูปแบบหนึ่งของไนโตรเจน) ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชในปริมาณมาก เพื่อบำรุงพืชให้เจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ แต่การให้ไนเทรตปริมาณมากเกินจำเป็นอาจทำให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่หมด ส่งผลให้มีไนเทรตตกค้างอยู่ทั้งในพืชและสารลายน้ำที่ใช้ในการปลูกมาก โดยหากผู้บริโภครับประทานผักหรือสมุนไพรที่มีปริมาณไนเทรตสูงเป็นปริมาณมาก แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารอาจเปลี่ยนไนเทรตให้เป็นไนไทรต์ (nitrite) ซึ่งเป็นสารอันตรายได้

“ในกรณีทารกได้รับสารไนไทรต์ปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะ Blue baby syndrome หรือภาวะเมทเฮโมโกลบินีเมีย (Methemoglobinemia) ซึ่งทำให้เลือดขนส่งออกซิเจนได้น้อยลงจนผิวหนังมีสีฟ้าหรือน้ำเงิน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจส่งผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนในผู้ใหญ่หากได้รับไนไทรต์ปริมาณมาก ไนไทรต์อาจทำปฏิกิริยากับสารเอมีนในร่างกายก่อให้เกิดสารไนโทรซามีน (N-nitrosamines) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้กำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake: ADI) ของผู้ใหญ่ไว้ที่ 3.7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยผักใบเขียว เช่น คะน้า, ปวยเล้ง, ผักกาดหอม อาจมีไนเทรตประมาณ 200-4,800 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด 1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก รวมถึงสภาพและรูปแบบวิธีการเพาะปลูก

“ด้านสิ่งแวดล้อม ไนเทรตเป็นสารที่มีอัตราการละลายน้ำสูง หากปล่อยน้ำที่มีไนเทรตเจือปนสูงลงดิน แล้วพืชในบริเวณนั้นดูดซึมสารไปใช้ได้ไม่ทัน ก็อาจทำให้ไนเทรตไหลลงสู่แหล่งน้ำจนเกิดปัญหายูโทรฟิเคชัน (eutrophication) หรือภาวะแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ น้ำในแหล่งน้ำเน่าเสีย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในที่สุด”

 

ภาพผักคะน้า
ผักคะน้า

ภาพผัดผักคะน้าหมูกรอบ

ภาพผักปวยเล้ง
ปวยเล้ง

ภาพสลัดผักปวยเล้ง

ภาพผักกาดหอม
ผักกาดหอม

ภาพสลัดโรล

ภาพปัญหายูโทรฟิเคชัน (eutrophication) หรือภาวะแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ปัญหายูโทรฟิเคชัน (eutrophication) หรือภาวะแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ภาพปัญหายูโทรฟิเคชัน (eutrophication) หรือภาวะแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ปัญหายูโทรฟิเคชัน (eutrophication) หรือภาวะแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

 

จากความสำคัญดังกล่าว นักวิจัยทีเมคได้นำความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเซนเซอร์ชนิด ISFET (Ion-Sensitive Field-Effect Transistor) หรืออิสเฟต ซึ่งเป็นอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ชนิดไวต่อประจุ (ion) ที่อยู่ในสารละลายหรือของเหลว มาพัฒนาเป็นเซนเซอร์ไนเทรตบนโครงสร้างทรานสดิวเซอร์แบบ ISFETสำหรับตรวจสอบปริมาณไนเทรตที่เจือปนอยู่ในใบพืชและน้ำที่ใช้ในระบบเพาะปลูก เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการตรวจสอบปริมาณไนเทรตแบบแม่นยำ แทนวิธีการที่ผู้ประกอบการรายย่อยมักเลือกใช้ คือ การตรวจสอบค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity: EC) ของน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ เพื่อชี้วัดถึงปริมาณธาตุอาหารที่คงเหลือ แต่จะไม่สามารถระบุได้ว่ามีธาตุชนิดไหนคงเหลืออยู่ในปริมาณเท่าไหร่

ดร.วิน อธิบายว่า ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณไนเทรตในของเหลวสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้ตรวจได้ทั้งปริมาณไนเทรตที่อยู่ในใบและน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก (กรณีใบพืชจะใช้การนำใบไปปั่นกับน้ำเพื่อให้อยู่ในรูปของเหลว) โดยทีมวิจัยได้พัฒนาเป็นอุปกรณ์ 2 รูปแบบ คือ อุปกรณ์แบบพกพา และอุปกรณ์แบบระบบอัตโนมัติสำหรับติดตั้ง ณ​ จุดเพาะปลูกหรือห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ทั้งสองใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการตรวจวัด แตกต่างกันที่ระบบอัตโนมัติมีฟังก์ชันปรับเทียบ (calibrate) ค่าการนำไฟฟ้าก่อนใช้งานอัตโนมัติ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องปรับเทียบด้วยตัวเองทุกครั้งก่อนใช้งานเหมือนอุปกรณ์พกพา และแบบอัตโนมัติยังเป็นอุปกรณ์ IoT (Internet of Thing) ที่มีฟังก์ชันจัดเก็บข้อมูลตรวจวัดเข้าสู่ระบบคลาวด์โดยอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานด้วย

 

ภาพอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณไนเทรตในของเหลว ชนิดอุปกรณ์แบบพกพา
เซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณไนเทรตในของเหลว ชนิดอุปกรณ์แบบพกพา

 

“ตัวอย่างการนำเซนเซอร์ไปใช้งาน เช่น ใช้วัดปริมาณสารไนเทรตในการเพาะปลูกระบบไฮโดรโพนิกส์ เพื่อวางแผนลดการให้สารไนเทรตเกินความจำเป็น และลดปริมาณสารไนเทรตในผักและผลไม้ก่อนเก็บเกี่ยวให้คงเหลือในปริมาณที่เหมาะสม ใช้วัดปริมาณสารไนเทรตในผักก่อนจำหน่าย เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกเพื่อสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณไนเทรต เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ใช้ควบคุมสารไนเทรตในการเพาะปลูกพืชสมุนไพรมูลค่าสูง เพราะปริมาณสารไนเทรตที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญของพืชสมุนไพรบางประเภทได้ ใช้ตรวจสอบปริมาณสารไนเทรตในดินบริเวณพื้นที่เพาะปลูก เพื่อควบคุมปริมาณการให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ตรวจสอบปริมาณสารไนเทรตในน้ำบาดาล เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำที่ใช้ในการดื่ม โดย WHO ได้กำหนดมาตรฐานไว้ว่าควรมีไนเทรตไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อลิตร

“นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่ห้ามจำหน่ายผักใบเขียวที่มีปริมาณสารไนเทรตเกินกำหนดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น สหภาพยุโรป (ตามประกาศ Commission Regulation (EU) No 1258/2011 และ 1258/2011) ดังนั้นหากผู้ผลิตไทยควบคุมปริมาณไนเทรตในผักใบเขียวให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าไปจำหน่าย

ปัจจุบันทีมวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการที่เพาะปลูกพืชระบบไฮโดรโพนิกส์ นักวิจัยระบบสมาร์ตฟาร์ม นักวิจัยกระบวนการเพาะปลูกสมุนไพรมูลค่าสูง ​และหน่วยงานที่รับตรวจสอบคุณภาพดินทดสอบการใช้งานอุปกรณ์เพื่อพัฒนาต่อยอดให้พร้อมใช้งานและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานแต่ละประเภทมากที่สุด ผู้ที่สนใจ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ได้ที่ ดร.วิน บรรจงปรุ อีเมล info-tmec@nectec.or.th


เรียบเรียงโดย ภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.
อาร์ตเวิร์กโดย ภัทรา สัปปินันทน์
ภาพประกอบโดย TMEC สวทช. และจาก Adobe Stock

แชร์หน้านี้: