หน้าแรก สวทช. – บีโอไอ จับมือ บ.โซนี่ฯ เดินหน้าโครงการ WiL หนุนพัฒนากำลังคนคุณภาพ สู่อุตสาหกรรมภาคการผลิต
สวทช. – บีโอไอ จับมือ บ.โซนี่ฯ เดินหน้าโครงการ WiL หนุนพัฒนากำลังคนคุณภาพ สู่อุตสาหกรรมภาคการผลิต
27 ก.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(วันที่ 27 กันยายน 2566) ที่บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จ.ชลบุรี: สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต นำโดย ดร.บรรพต หอบรรลือกิจ ที่ปรึกษาโครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน งานส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพชั้นสูง สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช. นางสาวชนานกานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต

พร้อมด้วย น.ส.ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายเรียว อาเมมิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี จำกัด และผู้บริหารบริษัทโซนี่ ร่วมกันประชุมติดตามความคืบหน้าการดําเนินโครงการ WiL (Work-integrted Learning) ซี่งเป็นการบูรณาการ การเรียนรู้กับการทํางานจากความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการภาคการผลิตบริษัทต่าง ๆ และสถาบันการศึกษา โดยบริษัท โซนี่ฯ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ WiL

ดร.บรรพต หอบรรลือกิจ ที่ปรึกษาโครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน งานส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพชั้นสูง สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช.  กล่าวว่า โครงการ WiL (Work-integrted Learning) มีระยะเวลาดําเนินโครงการระหว่างเดือนกรกฎาคม 2565 – กรกกฎาคม 2567 เป็นการบูรณาการความรู้ โดยการประยุกต์ความรู้และวิธีการทํางานเข้ากับบทเรียน สามารถเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนทั้งในด้านการทํางานและการเรียนรู้ พร้อมทั้งยังเป็นการเพิ่มกําลังคนที่มีคุณภาพเพื่อส่งต่อบุคลากรเข้าสู่โรงงานให้ตรงกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม

โดยรูปแบบการดําเนินโครงการ WiL จัดให้มีการศึกษาใน 2 ระบบได้แก่ การศึกษาในระดับ ปวส. และระดับปริญญาโท เข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการเป็นระยะเวลา 2 ปี พร้อมทั้งเรียนรู้ตามหลักสูตรที่ลงทะเบียน เรียนรู้การทํางานในอุตสาหกรรมและเนื้อหาบูรณาการเพื่อพัฒนาโครงงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ กับอุตสาหกรรม ปัจจุบันในระดับ ปวส. มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,329 คน จาก 40 สถาบันการศึกษา ซึ่งภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 พบว่าผลการเรียนผ่านทุกคน และขณะนี้กําลังดําเนินศึกษาในภาคการศึกษาที่ 3 สําหรับผลการปฏิบัติงานในโรงงาน พบว่ามีอัตราการทํางาน 95% โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการทํางานจริงในภาคอุตสาหกรรมในตําแหน่งพนักงานปฏิบัติการ เรียนรู้ตามหลักสูตรของสถาบันการศึกษา และเรียนรู้หลักสูตรโครงการ WiL ระดับปวส. เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานจริง สำหรับในระดับนักศึกษาปริญญาโท มีจำนวน 12 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันได้ลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 โดยผลการเรียนพบว่าผ่านทั้งหมด 12 คน ส่วนผลการปฏิบัติงานในโรงงาน พบว่านักศึกษาสามารถดําเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายได้ดี

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ WiL จะได้รับ คือ ได้พนักงานซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะนักศึกษา เป็นบุคลากรทักษะสูงที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ให้การสนับสนุนการลงทุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้โครงการ WiL สวทช. และ BOI มีการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน กับภาคการศึกษา ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศขององค์กรนวัตกรรม โดย สวทช. มีเป้าหมายหลัก ในการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิด Ecosystem ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนการของพัฒนาประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ด้าน นายเรียว อาเมมิยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า บริษัทโซนี่ ฯ ผลิตกล้องถ่ายภาพ เลนส์กล้องถ่ายภาพ กล้องติดรถยนต์ เครื่องเสียงติดรถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า และส่งมอบผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยให้กับลูกค้าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเลนส์กล้องถ่ายภาพเลนส์เดี่ยวและกล้องถ่ายภาพที่สร้าง ได้รับการยอมรับจากช่างภาพมืออาชีพและตัวแทน Photo Agency และเป็นที่ชื่นชมของลูกค้าทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทย บริษัทโซนี่ ฯ มีฐานการผลิตสองแห่ง คือ ที่ชลบุรีและบางกระดี่ จ.ปทุมธานี โดยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Sony ในฐานะแบรนด์ที่น่าเชื่อถือทั่วโลก

“การจะได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าเช่นนี้ เราจำเป็นต้องผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุด อย่างไรก็ดีเรายังมีนักเรียน/นักศึกษา ที่มีวินัยตั้งใจปฏิบัติงาน สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้เราพัฒนาคุณภาพของสินค้าตอบสนองด้านคุณภาพให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณโครงการ WiL ที่สามารถเชื่อมโยงนักเรียน/นักศึกษาเข้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขอบคุณ BOI ที่ช่วยสนับสนุนโครงการนี้ ทั้งนี้บริษัทโซนี่ ฯ และ โครงการ WIL จะร่วมกันพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้สูงขึ้น เพื่อส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าทั่วโลกอย่างไม่หยุดยิ่ง” นายอาเมมิยะ ระบุ

  • โอกาสทอง นศ. ฝึกทักษะจำเป็น ‘โรงเรียนในโรงงาน’

นางสาวกษมา หะยีเจะแว นักศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะนักศึกษาโครงการโรงเรียนในโรงงาน หรือ โครงการ WiL เปิดเผยว่า เหตุผลที่ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้เพราะโครงการนี้มีข้อดีต่าง ๆ มาก เช่น ได้รับทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ขณะเดียวกันก็ได้รับประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการจริงและยังได้รับเงินเดือนจากการทำงานด้วย ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและมีเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีพในแต่ละเดือน

“หลังจากร่วมโครงการนี้ องค์ความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ได้ ช่วยทำให้เราสามารถประยุกต์องค์ความรู้ที่มีนำไปใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม เช่น พัฒนาความสามารถในการสื่อสารและเรียนรู้คำศัพท์ทางเทคนิครวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องแคล่ว จึงถือได้ว่าโครงการนี้ได้ให้ประสบการณ์ในการทำงานต่าง ๆ มากมาย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างดีเยี่ยมให้กับตนเองสำหรับการทำงานและการประกอบอาชีพเกี่ยวสาขาวิชาที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา สุดท้ายต้องขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี ทั้ง สวทช. ขอบคุณ บริษัท สมาร์ท 2015 เซอร์วิสเซส ที่ให้โอกาสหนูในการเข้าร่วมโครงการนี้ และบริษัท โซนี่ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด ที่ให้โอกาสในการทำงานและการเรียนรู้เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน”

เช่นเดียวกับ นางสาวปนัดดา สัตถาผล นักศึกษาปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า เป็นนักศึกษาโครงการ WiL โรงเรียนในโรงงาน อยู่แผนก KDV สังกัด บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วรู้สึกว่าตัวเองได้มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก มีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถแบ่งเวลาเรียน เวลาอ่านหนังสือ และเวลาทำงาน เรียนรู้ที่จะประหยัดอดออม มีเงินเก็บในการดูแลตัวเองมากขึ้น มีสติมากขึ้นเวลาที่ตัดสินใจทำอะไร นอกจากนี้พ่อแม่ภูมิใจมากในตัวเรา เพื่อน ๆ หลายคนก็ชมว่าเราเก่งขึ้นมากๆ  ทำให้มีกำลังใจในตนเองมากขึ้น สามารถทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วย  และรู้สึกขอบคุณตัวเอง ที่สามารถเติบโตขึ้นได้เป็นคนเดิมในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นมาก ๆ และขอขอบคุณบริษัทโซนี่ และโครงการ WiL ที่ให้โอกาสนักศึกษาคนหนึ่งได้ก้าวมาถึงจุดนี้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีในชีวิต

แชร์หน้านี้: