หน้าแรก สวทช. ขยายความร่วมมือ คอสเม่ เกาหลีใต้ ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและ สตาร์ตอัป
สวทช. ขยายความร่วมมือ คอสเม่ เกาหลีใต้ ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและ สตาร์ตอัป
19 มี.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(19 มีนาคม 2567) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้การต้อนรับนาย คัง ซอ จิน (Kang Seog Jin) ประธานบริหาร คอสเม่ (KOSME : Korea SMEs & Startups Agency) พร้อมร่วมลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ตอัป” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการต่อยอดและขยายผลจากบันทึกข้อตกลงฉบับแรก ระหว่างปี ค.ศ. 2022-2024 ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ว่า ทั้งสองฝ่ายได้สร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีในเครือข่าย สวทช. และประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC) ที่ KOSME มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบในระดับภูมิภาค

รัฐบาลไทยสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง สวทช. ได้มุ่งเน้นสนับสนุน นักวิจัย ผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปให้สามารถดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต การลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ไปอีก 3 ปี (ค.ศ. 2024 – 2027) ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่าง KOSME และ สวทช. ในระยะยาวแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ ที่สาธารณรัฐเกาหลีมีส่วนสำคัญในการผลักดัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย และกลุ่มอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค อาทิ Asia – Pacific Economic Cooperation (APEC) และ Mekong – Korea Cooperation Fund (MKCF) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายผลการใช้ประโยชน์งานวิจัย BCG Implementation ของ สวทช. และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันอีกด้วย

นอกจากนั้น KOSME และ สวทช. ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์กับสตาร์ตอัปและ SME ของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งเป็นนวัตกรรมจากห้องปฏิบัติการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสองประเทศได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเน้นในด้านอุตสาหกรรมสีเขียว พลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้าน AI ด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ที่จะนำ AI เข้ามาใช้งานในด้านการศึกษา การแพทย์ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

19 มี.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: