หน้าแรก สวทช. ร่วมกับ KBTG จัดสัมนา AI and Big Dataแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาระบบ Big Data/AI
สวทช. ร่วมกับ KBTG จัดสัมนา AI and Big Dataแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาระบบ Big Data/AI
24 ก.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(24 กรกฎาคม 2566)  ณ K+ Building ซอยจุฬาลงกรณ์ 20 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย โดยชมรม ThailandSPIN ร่วมกับ บริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) จัดงานสัมนาหัวข้อ AI and Big Data: เรื่องบ่นและหนทางออก (ภาค 2) Reflect and Resolve ได้รับการร่วมสนับสนุนจาก Google / ETDA / IMC / ร.พ.ศิริราช / ธ.ก.ส. / Innocop / GISDA / SCG / AIS / KBTG / Ascend Group / มหาวิทยาลัยมหิดล / Huawei / Data Science Thailand / Microsoft

โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์บริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงานในครั้งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์ KBTG   กล่าวว่า ทุกคนรู้จักปัญญาประดิษฐ์ AI มาระยะหนึ่งแล้ว เรารู้จัก AlphaGo ใช้ Deep Neural Network ชนะ Lee Sodol World Champion ถึง 5-0 ในปี คศ. 2015 ที่สร้างความมั่นใจว่า AI ได้กลับมาแล้ว หลังจากยุคแห่งการซบเซาที่เราเรียกว่า AI Winter ซึ่งสมัยก่อนเราคิดว่า AI ทำงานได้เฉพาะกิจเฉพาะเรื่องและคิดว่า General AI คอมพิวเตอร์คงทำไม่ได้เหมือนที่มนุษย์ทำ แต่เราผิดไปถนัด Generative AI อย่างเดียวสามารถครอบคลุม Art, Writing, Software Development, Product Design, Healthcare, Finance, Gaming, Marketing, และ Fashion

อย่างไรก็ดี Generative AI (Gen-AI) มีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิดเช่นสร้าง Fake News หรือ Deep Fakes ที่หลอกลวงประชาชาชนได้ ซึ่งในการประชุมสภาความมั่นคงของสหประชาชาติ เมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2023 เลขาธิการสหประชาชาติ เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ด้าน AI คล้ายกับ International Atomic Energy Agency, International Civil Aviation Organization หรือ The Intergovernmental Panel on Climate Change เพื่อผลักดันประโยชน์และควบคุมโทษของ AI ให้ทั่วทุกประเทศ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2023 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ได้ประชุมกับผู้แทนบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้นำของสหรัฐ 7 บริษัท (Amazon, Anthropic, Google, Inflection, Meta, Microsoft, and OpenAI) ที่ทำเนียบขาวและแถลงถึงการป้องกันความเสี่ยงจากเทคโนโลยีนี้

ได้แก่ 1. การทดสอบระบบ AI โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภายนอกและในบริษัทก่อนจะ Release ผลิตภัณฑ์ 2. สร้าง Watermarks บนผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้ใช้ได้ทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มาจาก Generate AI 3. มีการรายงานต่อสาธารณะถึงความสามารถและข้อจํากัดของ AI อย่างสม่ำเสมอ 4. ค้นคว้าวิจัยความเสี่ยง เช่น ความลำเอียง Bias การเลือกปฏิบัติ Discrimination และการละเมิดความเป็นส่วนตัว Privacy วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างการรับรู้ว่า Online Content นั้นสร้างมาจาก AI

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ชมรม Thailand SPIN เกิดขึ้นจากการผลักดันของภาครัฐ โดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สวทช. ร่วมกับภาคเอกชนจำนวนมาก รวมถึงภาคการศึกษา และ Community ชื่อดังต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัล และนวัตกรรม

โดยกิจกรรม AI and Big Data: เรื่องบ่นและหนทางออก (ภาค 2) ในวันนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือ ถ่ายทอดความรู้ และสร้างความตระหนัก ในกลุ่ม Software Process Improvement อีกทั้ง สร้างเครือข่ายการปรับปรุง กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ยั่งยืน ทางคณะผู้จัดมองเห็นว่า AI และ Big Data มี ส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ จึงได้จัดงานนี้ขึ้น โดยมีคนที่ทำจริงด้าน AI และ Big Data จากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และบริษัทด้านเทคโนโลยีชื่อดังมากมาย มาร่วมกันถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่น่าสนใจมากกว่า 10 หัวข้อ เช่น AI กับโอกาสที่มีต่อธุรกิจ ศักยภาพด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ การบริหารจัดการข้อมูลทางด้านการเงินการธนาคาร การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ รวมถึง แนวโน้มเทคโนโลยีด้าน Al และ Big Data เป็นต้น

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและกูรูด้าน Big Data และ AI จากนวัตกรรมดิจิทัล หลากหลายภาคีทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา อาทิ นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ Green Business Director SCG International Corporation Co., Ltd ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ผศ. ดร.ประพัฒน์ สุริยผล รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ และ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายพงษ์เทพ พรหมศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์และบริหารจัดการข้อมูล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดร.กานต์ อุ่ยวิรัช Data Product Developer and Technical Coach ODDS นายสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล CTO of Huawei Cloud Business บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และวิทยากรอีกมากมายที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์

24 ก.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: