หน้าแรก สวทช. นำเสนอ 3 ผลงานวิจัยในงานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อย จปร.
สวทช. นำเสนอ 3 ผลงานวิจัยในงานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อย จปร.
20 พ.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(20 พฤศจิกายน 2566) ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อ.เมือง จ.นครนายก :  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในงานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2566 ครั้งที่ 16 โอกาสนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยทีมวิจัยและพนักงาน สวทช. ร่วมรับเสด็จฯ และถวายรายงานผลงานวิจัยที่ร่วมจัดแสดง ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงเรียนนายร้อย จปร. จ.นครนายก

                  ผลงานวิจัย ของ สวทช. จำนวน 3 ผลงาน ประกอบด้วย

1.ผลงาน “การเปลี่ยนขยะขวดน้ำดื่มพลาสติกสู่วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูง” นำเสนอโดย ดร.ชลิตา รัตนเทวะเนตร จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งขวดน้ำดื่มพลาสติกชนิด PET (Polyethylene Terephthalate) มาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ ให้เป็นวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (Metal−organic Frameworks : MOFs) ที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับสารพิษหรือก๊าซต่าง ๆ ได้ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการลดมลพิษที่อาจเกิดจากการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

2.ผลงาน “ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์เพื่อลงทะเบียนในกลุ่มผู้ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย” หรือ Thai Red Cross Biometric Authentication System (TRCBAS) นำเสนอโดย ดร.สุรเดช ดวงภุมเมศ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.  เป็นโครงการที่เนคเทค สวทช. ร่วมกับสภากาชาดไทย พัฒนาแพลตฟอร์มจดจำลายม่านตาและการจดจำใบหน้าในการยืนยันตัวบุคคล สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวหรือผู้อพยพที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อการสาธารณสุขและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะการป้องกันและควบคุมโรค เช่น การฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ

3.ผลงาน “แผงโซลาร์เซลล์น้ำหนักเบา” นำเสนอโดย ว่าที่ร้อยตรี ดร.นพดล สิทธิพล จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อให้มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น โดยแผงด้านหน้าโซลาร์เซลล์ใช้วัสดุ Polyethylene Terephalate (PET) ทดแทนกระจกเดิม ส่วนด้านหลังใช้วัสดุ Aluminum Composite ที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะการติดตั้งในรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป

แชร์หน้านี้: