หน้าแรก นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการดำเนินงานเมืองนวัตกรรม EECi ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ระดับประเทศ เร่งดึงดูดการลงทุนต่างชาติ
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการดำเนินงานเมืองนวัตกรรม EECi ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ระดับประเทศ เร่งดึงดูดการลงทุนต่างชาติ
9 ส.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(9 สิงหาคม 2566) ณ สำนักงานใหญ่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง: พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะติดตามความคืบหน้าโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) หนึ่งในโครงการสำคัญบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ EEC เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่ เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ นำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การต้อนรับ

 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า EECi เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวง อว. เป็นผู้รับผิดชอบ นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งกระทรวง อว. ได้ผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยมอบหมายให้ สวทช. เป็นกำลังหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการนี้ ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวง อว.

EECi นับว่าเป็น โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรัฐบาลพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

EECi ถือเป็นข้อต่อที่สำคัญในห่วงโซ่การพัฒนานวัตกรรม (Innovation Value Chain) เป็นจุดที่ประเทศไทยต้องเสริมความเข้มแข็งให้มากขึ้น ในเรื่องของการนำงานวิจัยที่สำเร็จจากห้องปฏิบัติการและห้องทดลอง มาพัฒนาต่อยอดและขยายขนาดไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ด้วยเหตุนี้ EECi จึงถูกออกแบบให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ (Innovation Ecosystem) เหมาะแก่การทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมอย่างเข้มข้น ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยของทั้งภาครัฐและเอกชน โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต สนามทดลองและทดสอบเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ และการปรับแต่งและปรับใช้เทคโนโลยีที่รับมากจากต่างประเทศ (Technology Localization) เพื่อให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดย EECi จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน (ASEAN Innovation Hub) ดำเนินการผ่าน 4 เมืองนวัตกรรมมุ่งเน้นของ EECi อันได้แก่

1)         FOOD INNOPOLIS: เมืองนวัตกรรมด้านอาหาร

2)         ARIPOLIS: เมืองนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ

3)         BIOPOLIS: เมืองนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ

4)         SPACE INNOPOLIS: เมืองนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ

 

“ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเกิดขึ้นบนพื้นที่กว่า 3,500 ไร่แห่งนี้ ภายใต้ชื่อ EECi ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มบริษัท ปตท. นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย อาคารกลุ่มสำนักงานใหญ่ มีศูนย์นวัตกรรมเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน (SMC) และโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้แล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการแล้วในปี 2565 สำหรับในปี 2566-2567 มีส่วนที่เริ่มดำเนินการ คือ โรงงานแบตเตอรี่ทางเลือก โรงงานฟีโนมิกส์ และสนามทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งในอนาคต ในปี 2568 จะมีโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) และการก่อสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศขนาด 3 GeV จะเริ่มดำเนินการ ในปี 2569-2573

 

ทั้งนี้ในส่วนของ EECi นั้น หากมองในภาพรวมว่าประเทศไทย มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีอุตสาหกรรม ซึ่งเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก และมีผลงานตีพิมพ์จำนวนมากในด้านเทคโนโลยีชั้นนำ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยารวมไปถึงเทคโนโลยี AI แต่ภาคธุรกิจจะเป็นอีกฝั่งในด้านอุตสาหกรรม ดังนั้นโจทย์ที่ยากที่สุด คือการทำอย่างไรจะนำงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่การขยายผล ให้เกิดประโยชน์สู่ประชาชนเป็นล้านคน ซึ่ง EECi ถูกวางแผนเพื่อตอบโจทย์นี้ และให้สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการใช้พื้นที่ EEC เป็นพลังสำคัญที่จะเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการจะใช้พลังของ EEC เคลื่อนระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้อีกพลังความรู้ความสามารถของการนักวิจัยเก่ง ๆ ของประเทศ ให้มาร่วมในภาคอุตสาหกรรมให้ได้จึงเกิดเป็น EECi ขึ้น

ในโครงการนี้รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่ใน EECi เพื่อช่วยเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้เครื่องมือที่มีราคาสูงได้โดยไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเอง โดยตัวอย่างของการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ

 

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวย้ำว่า ด้วยบุคลกรและผลงานวิจัยพัฒนาของ สวทช. ที่ได้สั่งสมมากว่า 30 ปี มีทีมวิจัยที่เชี่ยวชาญทุกด้าน โดยได้นำทีมนักวิจัยมาดำเนินการอยู่ในพื้นที่ EECi เป็นเวลาเกือบ 2 ปี คู่ขนานการทำงานไปกับทีมวิจัยของ สวทช.ที่ส่วนกลาง จะตอบโจทย์ได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ EECi และเครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในส่วนกลางตามความเชี่ยวชาญของ 5 ศูนย์แห่งชาติใน สวทช. จะเป็นโซ่ข้อกลางในการขยายขนาดและยกระดับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่ภาคเอกชน และจะตอบโจทย์ได้ว่าเมื่อมีความรู้ใหม่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงได้ ณ ขณะนี้ สวทช. ได้ปรับแผนยุทธศาสตร์ของ สวทช. ให้สอดรับกับที่นายกรัฐมนตรีวางแผนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเน้นการเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้งานให้เกิดประโยชน์จริงกับประชาชนจำนวนมาก

ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในโอกาสมาตรวจความก้าวของโครงการ EECi ว่า “ดีใจที่ EECi เดินหน้ามาถึงขนาดนี้ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนไว้ในช่วง 5 ปีแรก และในปี 2566-2570 ต้องฝากรัฐบาลใหม่สนับสนุนเดินหน้าโครงการนี้ เพื่อจะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าสู่ Thailand 4.0 ให้ได้ นี่คืออนาคตของประเทศไทย และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งและประสบผลสำเร็จ”

สำหรับสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) Headquarters ณ วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง แห่งนี้ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้างพร้อมคณะรัฐมนตรี

 

และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อย่างเป็นการเปิดอย่างเป็นทางการและให้บริการมาถึงปัจจุบัน โดยคาดหวังว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่น “ศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำ” แห่งใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมสมบูรณ์ ยกระดับงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

แชร์หน้านี้: