หน้าแรก 4 หน่วยงานวิจัย สกสว. สวรส. วช. ศลช. ร่วมผนึกกำลังทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช.  ต่อยอด ชุดนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
4 หน่วยงานวิจัย สกสว. สวรส. วช. ศลช. ร่วมผนึกกำลังทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช.  ต่อยอด ชุดนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ
3 ก.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : MTEC-NSTDA and four research agencies plan to bring patient isolation innovations to local and international markets

(3 กรกฎาคม 2566) ที่ห้อง SD 601 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) พร้อมด้วยคณะวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.

จัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือโรคโควิด-19 สู่การเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคต ร่วมแถลงความสำเร็จของผลการวิจัยและพัฒนาชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ได้แก่ PETE (พีท) เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ และ HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่เริ่มต้นพัฒนาจากประเด็นปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และตอบโจทย์การใช้งาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนถึงปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ และได้เข้าไปสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั่วประเทศแล้วกว่า 120 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลการนำไปใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เข้าถึงพื้นที่พิเศษอีกด้วย

โดยมี นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คุณวราภรณ์ สุชัยชิต ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและดำเนินงานวิจัยพัฒนา และ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมแถลงบทบาทและการมีส่วนร่วมผลักดันชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ประสบความสำเร็จ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ที่นอกจากจะมีความปลอดภัย และประสิทธิภาพตามมาตรฐานระดับสากลแล้ว ยังมีราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 2-3 เท่า

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระบาดระลอกแรกในประเทศไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะวิจัยจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์หลายหน่วยงาน อาทิ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ได้สนับสนุนงบประมาณเบื้องต้น เพื่อเร่งพัฒนานวัตกรรม PETE (พีท) เปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด และอำนวยความสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากเปล นำใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล

จากนั้นจึงได้ทุนวิจัยและพัฒนาจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ทำการทดสอบชุดอุปกรณ์ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ จนกระทั่งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท สุพรีร่า อินโนเวชัน จำกัด และได้ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากนั้น เอ็มเทคได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บริษัท มติชน จำกัด บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงประชาชนที่ร่วมบริจาคงบประมาณในการพัฒนา เปล PETE ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่หน่วยงานผู้ใช้ต่าง ๆ รวมถึงปัจจุบันแล้วกว่า 120 ชุดทั่วประเทศ และปัจจุบัน เอ็มเทคได้รับทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) เพื่อขยายผลนวัตกรรมเปล PETE สู่ตลาดในและต่างประเทศ

ดร.จุลเทพ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ HI PETE (ไฮพีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย (Patient Isolation Chamber for Home Isolation) นั้น เอ็มเทคได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยทีมวิจัยได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการพัฒนาเปล PETE เป็นเต็นท์ความดันลบที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับผู้ป่วยสีเขียวที่จำเป็นต้องทำ Home isolation ที่บ้าน แต่ไม่มีห้องแยกในที่อยู่อาศัย หรือใช้สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกหรือกักผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ หรือทำการรักษา เช่น พ่นยา ซึ่งก็ได้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งมีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย สามารถย้ายไปติดตั้งเป็นห้องรักษาพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อเป็นการชั่วคราวได้ ลดระยะเวลา ลดภาระงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากร ตลอดจนชิ้นงานทำความสะอาดได้ง่าย สามารถปรับเลือกขนาดเต็นท์ได้เหมาะสมตามขนาดพื้นที่ ซึ่งในการส่งมอบแก่หน่วยงานผู้ใช้แต่ละครั้ง เอ็มเทคได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท อีสเทิร์นโพลิเมอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนเตียงสนามและอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อใช้งานร่วมกับเต็นท์ความดันลบ HI PETE อีกด้วย

นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำอย่างโรคโควิด-19 หรือโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดที่จำเป็นต้องมีห้องแยกผู้ป่วย (Isolation Room) และอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย (Isolation chamber) เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่ง สวรส. ได้สนับสนุนให้ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ผลิตและพัฒนาชุดนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ ที่นอกจากจะมีความถูกต้องเหมาะสมด้านวิศวกรรมและวิชาการแล้ว ชุดนวัตกรรม เปลพีท (PETE) และเต็นท์ไฮพีท (HI PETE) ยังพัฒนาเพื่อใช้สำหรับเป็นห้องฉุกเฉินที่ติดตั้งได้ง่าย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จัดเก็บได้รวดเร็ว ซึ่งมีการพัฒนาด้านการออกแบบให้เหมาะกับบริบทการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น รวมทั้งการนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบจนได้มาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยทางไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล ซึ่งนวัตกรรมวิจัยดังกล่าว ยังสามารถขยายผลการใช้ประโยชน์ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตามสถานการณ์การระบาดได้อีกด้วย

นายแพทย์นพพร กล่าวอีกว่า การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ สวรส. บนเป้าหมายของการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงและเกิดการขยายผลสู่การพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวม สวรส. จึงสนับสนุนทุนวิจัยในเรื่องนี้ เพื่อให้เครือข่ายนักวิจัยสามารถพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตใช้เองในประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ  ตลอดจนสนับสนุนการนำ องค์ความรู้ที่มีอยู่มาทำให้เกิดการต่อยอดการใช้ประโยชน์  ซึ่งในแง่ของการรับมือความรุนแรงและผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำนั้น นวัตกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก

คุณวราภรณ์ สุชัยชิต ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในเชิงวิชาการ การวิจัย และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ โดยในส่วนของวิชาการ วช. ได้สนับสนุนการศึกษาวิจัยลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในประเทศไทย และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยโครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม และส่วนของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์นั้น วช. ได้ในการสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะวิจัยจากเอ็มเทค สวทช. ในปี 2564 ให้ดำเนินโครงการการขยายผลการใช้งานต้นแบบเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ โดยได้ทำการส่งมอบให้แก่หน่วยงานผู้ใช้ 16 แห่ง อีกทั้งได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย โดยประเมินผลกระทบต่าง ๆ ได้แก่ การลดต้นทุนของหน่วยงาน ด้านงบประมาณในการจัดหา/นำเข้า อุปกรณ์การแพทย์ราคาแพงและมีความจำเป็นในสถานการณ์โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำอุบัติใหม่ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการปฏิบัติภารกิจรับส่งผู้ป่วย ที่มีเครือข่ายรถพยาบาลจากทีมอาสากู้ภัย ที่รอรับส่งผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อจากบ้านไปส่งโรงพยาบาล รวมไปถึงการลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บของผู้ป่วยจากการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่นร่วมด้วย เช่น ท่อเครื่องช่วยหายใจ สายน้ำเกลือ เป็นต้น และจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลหลาย ๆ จุด และจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้า-ออก เปลหลายรอบ

ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) หรือ TCELS กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของ ศลช. คือการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ (Flagships) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยเน้นการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพช่วงปลายน้ำ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เป็นนวัตกรรมระดับสูงและมูลค่าสูง ให้เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน โดยในปี 2566 ถึง 2568 ศลช. จะได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะวิจัยจากเอ็มเทค ดำเนินโครงการร่วมกับบริษัทผู้ผลิตในประเทศในการขยายผลนวัตกรรมเปล PETE สู่ตลาดในและต่างประเทศ โดยชูประเด็นการผลิตเครื่องมือแพทย์มูลค่าสูงเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำอุบัติใหม่ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาคณะวิจัยได้ดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองบินตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  พร้อมจัดทำรายงานทางคลินิก (Clinical Safety and Performance Study) และจัดทำผลการเก็บข้อมูลการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ หลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในประเทศ ตาม พ.ร.บ. เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2562 ที่ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วยการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานจริง จากสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิกู้ภัย ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมข้อมูลเพื่อขยายผลผลิตภัณฑ์เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ การจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) สำหรับเครื่องมือแพทย์อีกด้วย

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าโครงการ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดผลงานนวัตกรรมสำหรับแยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ประกอบด้วยเปล PETE ที่ปัจจุบันพัฒนามาได้ถึงรุ่นที่ 9 แล้ว และเต็นท์ HI PETE โดยเฉพาะรุ่น Balloon (บอลลูน) ที่ได้นำเสนอในครั้งนี้ มีจุดเด่นเรื่อง “ติดตั้งง่าย ปลอดภัย และได้มาตรฐาน” จึงสามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ผลสำเร็จของผลงานนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้งานที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้ข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน และร่วมให้ความเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

อาทิ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ โรงพยาบาลวิภาวดี แหล่งทุนวิจัยต่าง ๆ  ได้แก่ สกสว. สวรส. วช. ศลช. สวทช. รวมถึงภาคเอกชน ได้แก่ เครือมติชน บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีสเทิร์นโพลิเมอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชัน และประชาชนที่ให้การบริจาค ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้มีความถูกต้องทางวิศวกรรมและตอบโจทย์ผู้ใช้ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนให้ต่อยอดขยายผลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการได้รับคำแนะนำด้านการทดสอบมาตรฐานจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) มาตั้งแต่ต้น ทำให้สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ส่งผลดีต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมั่นได้ว่ามีมาตรฐานทั้งด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับบุคลากรผู้อยู่หน้างานได้อย่างมาก อย่างไรก็ดีทั้งเปลและเต็นท์ความดันลบนี้ จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของทีมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำหัตถการ อำนวยความสะดวกในการนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนปอด หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ เพราะไม่ต้องนำผู้ป่วยออกจากเปล ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ชุดผลงานนวัตกรรมก็สามารถใช้รองรับโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ได้ หรือหากวันใดที่เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อื่น ๆ ขึ้นประเทศไทยก็จะพร้อมรับมือ โดยไม่ต้องตื่นตะหนกและสามารถลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศและช่วยให้พึ่งพาระบบสาธารณสุขในประเทศได้อย่างแท้จริง

3 ก.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: