หน้าแรก เสริมแกร่งพลังสิบ ด้วยเทคนิคการจัดค่ายวิทยาศาสตร์จาก สวทช.
เสริมแกร่งพลังสิบ ด้วยเทคนิคการจัดค่ายวิทยาศาสตร์จาก สวทช.
19 มิ.ย. 2566
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปแบบค่ายวิทยาศาสตร์ หัวข้อ การอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการพัฒนาค่ายวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสำหรับวิทยากรแกนนำ โรงเรียนแม่ข่ายโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบระดับมัธยมศึกษา สำหรับครูในโครงการ 10 โรงเรียน จำนวน 60 คน ระหว่างวันที่ 1 – 4 มิถุนายน  2566  ณ ห้องบรรยาย 2  บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

กิจกรรมออกแบบเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เชิงปฏิบัติการ หรือจัดค่ายวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจผ่านการลงมือปฏิบัติจริง สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงได้ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ที่ส่งเสริมให้ครูนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปพัฒนาและจัดค่ายวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนตนเองได้ต่อไป

โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวชลฤทัย ทวีแสง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. กล่าวเปิดการอบรม

เริ่มการอบรมด้วยการบรรยาย โดย คุณฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการฯ  ในหัวข้อ โรงเรียนนักจัดค่าย : เทคนิคการออกแบบและพัฒนาค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาผู้เรียน

ต่อด้วย ตัวอย่างกิจกรรมบูรณาการค่าย สนุกคิดกับเกมคณิตศาสตร์ โดย อ.อรรถวุฒิ วงศ์ประดิษฐ์  ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งแนะนำแนวทางประยุกต์ใช้กิจกรรม เชื่อมโยงสู่การออกแบบเชิงวิศวกรรมในโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) โดย นายปริญญา ผ่องสุภา วิศวกร โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช.

หลังจากนั้นเป็นตัวอย่างกิจกรรม “นักสืบวิทยาศาสตร์ ไขปริศนา…ผ่าคดี” เชื่อมโยงความรู้สู่การพัฒนากิจกรรมค่าย STEAM ในโรงเรียน นำเสนอแนวคิดในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมค่าย โดย นักวิชาการ ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ชุดกิจกรรมประกอบด้วย

กิจกรรมเสริมทักษะนักสืบ ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และตรรกะไขปริศนา โดย คุณกนกพรรณ เสลา

หลักฐานที่ 1  ตามหารอยนิ้วมือ เรียนรู้เรื่องลายนิ้วมือ ลายนิ้วมือแฝง การพิมพ์ลายนิ้วมือ การเก็บลายนิ้วมือแฝง โดย คุณจิดากาญจน์ สีหาราช

หลักฐานที่ 2 ปริศนาผงสีขาว ใช้กระบวนการวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อทำการตรวจสอบผงปริศนา โดย คุณกรกนก จงสูงเนิน

หลักฐานที่ 3 สารพันธุกรรมไขคดี เรียนรู้เกี่ยวกับลายพิมพ์ DNA (DNA Fingerprint) และฝึกแยกสารด้วยชุดสื่อการเรียนรู้จำลอง หลักการเคลื่อนที่ของสารบนเจลภายใต้สนามไฟฟ้า (Gel electrophoresis) โดย คุณสุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล

ปิดท้ายวันแรกด้วย ตัวอย่างแนวทางการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ นันทนาการสร้างสรรค์ทักษะนวัตกรรม

วันที่ 2 เริ่มกิจกรรม ณ แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ด้วยการบรรยายพิเศษ หัวข้อ การจัดกิจกรรมเสริมการศึกษาภายในพิพิธภัณฑ์ โดย ดร.สุภรา กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการเรียนรู้ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์

ต่อด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า และกิจกรรมฝึกปฏิบัติการทางธรรมชาติวิทยา : สตัฟฟ์กุ้ง โดย นักวิชาการ ศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

และกิจกรรมปฏิบัติการ Automata มหาสนุก เรียนรู้กลไกพื้นฐานของเฟือง ลูกเบี้ยว ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้เคลื่อนไหว ผ่าน 4D: Deconstruction – Discovery – Design and Make – Display โดย นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ กองส่งเสริมการเรียนรู้ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์

วันสุดท้ายของการอบรม เป็นการบรรยายและกิจกรรมการเรียนรู้ หัวข้อ ส่องทักษะ ดึงสมรรถนะ ผู้เรียนจากการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ โดย รศ.ดร.ชาตรี  ฝ่ายคำตา  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อออกแบบแผนการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ พร้อมการนำเสนอจากทั้ง 10 โรงเรียน

เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรม

“จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้โรงเรียนได้แรงบันดาลใจ ในการกลับไปจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนของตนเอง โดยได้เห็นตัวอย่างการประยุกต์ปรับใช้อุปกรณ์ ต่างๆ ในการทำกิจกรรม ให้เหมาะสมกับผู้เรียน และตัวอย่างการดึงนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์มาออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนได้เป็นอย่างดี” จากคุณครู รร.ระยองวิทยา

แชร์หน้านี้: