หน้าแรก สวทช. จัดปฐมนิเทศนักศึกษาทุนโครงการ TGIST ปีการศึกษา 2564 ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมประกาศรางวัลนักศึกษาทุนผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น (Outstanding Awards) ประจำปี 2564
สวทช. จัดปฐมนิเทศนักศึกษาทุนโครงการ TGIST ปีการศึกษา 2564 ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมประกาศรางวัลนักศึกษาทุนผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น (Outstanding Awards) ประจำปี 2564
30 ก.ย. 2564
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
ข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมของงานพัฒนากำลังคน

(20 ก.ย. 64) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดพิธีปฐมนิเทศนักศึกษาทุนโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ปีการศึกษา 2564 พร้อมประกาศรางวัลนักศึกษาทุนผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น (Outstanding Awards) ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช เป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้โอวาทแก่นักศึกษาทุน ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนทุนเข้าร่วมพิธีจำนวน 34 คน แบ่งเป็นผู้รับทุนปริญญาโทจำนวน 25 คน และผู้รับทุนปริญญาเอกจำนวน 9 คน และมีนักเรียนทุนที่ได้รับรางวัลนักศึกษาทุนผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น จำนวน 3 คน

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช กล่าวว่า สวทช. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตั้งแต่ก่อตั้งและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้พอเพียง ที่จะยกระดับให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2570 โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง การให้ทุนการศึกษา ให้นักวิจัยได้มีโอกาสได้ดูแลนักศึกษาทั้งในรูปแบบของการร่วมวิจัยเพื่อปริญญานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ จนถึงระดับนักวิจัยหลังปริญญาเอก สอง การบ่มเพาะและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เยาวชนที่สนใจและชอบวิทยาศาสตร์ ได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์อยู่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจที่จะศึกษาต่อในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับกิจกรรมปฐมนิเทศโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย หรือทุน TGIST ซึ่ง เป็นโครงการที่ก่อตั้งมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ในรูปแบบ Virtual Institute ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ เพื่อรับนักศึกษาเข้ามาทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัย สวทช. โดยนักศึกษาที่รับทุนจะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ในปีการศีกษา 2564 นี้ สวทช. ขอต้อนรับนักศึกษาทุนจาก 16 มหาวิทยาลัยใน 9 จังหวัด ที่มีโอกาสเข้ามาร่วมทำวิจัยกับนักวิจัย สวทช. ทั้งนี้ นอกจากความรู้เฉพาะทางด้านวิชาชีพ (hard skills) ที่ต้องติดตามความรู้ให้เท่าทันความเจริญก้าวหน้าแล้ว การที่นักศึกษามีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่โครงการฯ ได้จัดขึ้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ กิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ หรือ soft skills อาทิ การนำเสนอผลงานฯ รวมถึงกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายของชมรมนักเรียนทุน สวทช. ที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานวิจัยร่วมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งจากความร่วมมือภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพและสร้างผลกระทบที่มีความสำคัญในอนาคต สิ่งสำคัญของโครงการฯ ไม่ใช่จำนวนนักศึกษาทุนในแต่ละปี แต่เป็นจำนวนบุคลากรวิจัยที่มีส่วนร่วมในการสร้างผลงานเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ   ที่ไม่เพียงแต่ส่งมอบผลผลิต แต่ส่งมอบผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบให้กับสังคมและประเทศชาติด้วย

ขอต้อนรับและขอขอบคุณนักศึกษาทุนทุกคนที่สมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ รวมถึงขอขอบคุณอาจารย์ ผู้ปกครอง และ นักวิจัย สวทช. ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้าน ว และ ท ของประเทศ และขอให้นักศึกษาประสบความสำเร็จทุกประการ และสามารถเดินทางสู่ความฝันในอนาคตที่ทุกคนหวังไว้

สำหรับกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาทุนโครงการทุน TGIST ในครั้งนี้ นอกจากจะมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน 34 คน ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีนักศึกษาทุนที่ได้รับรางวัลนักศึกษาทุนผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น จำนวน 3 คน ประกอบด้วย

ระดับปริญญาตรี ได้แก่ นายจิรวัฒน์ ชูแสง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับทุนในปี 2563 จากโครงการทุนสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.อรรถพล ศรีฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.วรนุช อิทธิเบญจพงศ์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยี จากโครงการวิจัยเพื่อปริญญานิพนธ์เรื่อง การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีโครงสร้างนาโนสาหรับการเตรียมสารเติมแต่งเมทิลฟูเรนจากเฟอร์ฟูรัล โดยมีผลงานวิชาการ 2 ผลงาน ประกอบด้วย บทความในวารสารนานาชาติตามรายชื่อของ Citation Index ที่มี Impact Factor อ้างอิงจากฐาน ISI จำนวน 1 ฉบับ และ อนุสิทธิบัตร 1 ผลงาน

ระดับปริญญาโท ได้แก่ นางสาวณัฐาพร ทวีลาภ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นผู้ได้รับทุนปี 2560 – 2562 จากโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา รศ.ดร.ระพี อูทเคอ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ดร. อัจฉรา แป้งอ่อน นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยี จากโครงการวิจัยเพื่อปริญญานิพนธ์เรื่อง การดูดซับไฮโดรเจนบนเส้นใยคาร์บอนระดับนาโนเมตรที่ติดด้วยโลหะนิกเกิล โดยมีผลงานวิชาการ 4 ผลงาน ประกอบด้วย บทความในวารสารนานาชาติที่อยู่ใน Quartile 1 อ้างอิงจากฐาน Scimago จำนวน 2 ฉบับ และ บทความในวารสารนานาชาติตามรายชื่อของ Citation Index ที่มี Impact Factor อ้างอิงจากฐาน ISI จำนวน 2 ฉบับ

และระดับปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวจามรี โปธิป้อ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ได้รับทุนปี 2560-2563 จากโครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาของอาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ดร.กรธัช อุ่นนันกาศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.สุวัสสา  บำรุงทรัพย์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยี จากโครงการวิจัยเพื่อปริญญานิพนธ์เรื่อง อิเล็กโทรเคมิคอลไบโอเซนเซอร์ สำหรับการตรวจวัดไมโครอาร์เอ็นเอที่เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในโรคมะเร็ง โดยมีผลงาน ประกอบด้วย บทความในวารสารนานาชาติที่อยู่ใน Quartile 1 อ้างอิงจากฐาน Scimago และบทความในวารสารนานาชาติตามรายชื่อของ Citation Index ที่มี Impact Factor อ้างอิงจากฐาน ISI จำนวน 3 ผลงาน บทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติตามรายชื่อของ Citation Index จำนวน 4 ผลงาน บทความตีพิมพ์ใน Proceedings การประชุมวิชาการนานาชาติที่มีกรรมการพิจารณาคุณภาพ (Peer Review) จำนวน 1 ผลงาน Abstract Oral การประชุมวิชาการนานาชาติ จำนวน 2 ผลงาน และ Poster Presentation ระดับนานาชาติ 2 ผลงาน

โดยทั้ง 3 คนที่รับรางวันครั้งนี้ เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น หรือ Outstanding Awards ประจำปี 2564 และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สวทช. สถาบันการศึกษา และประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นแบบอย่างให้นักเรียนทุนรุ่นน้อง และจะเป็นกำลังคนวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นบุคลากรคุณภาพในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต

 

แชร์หน้านี้: