หน้าแรก สวทช. ร่วมลงนาม “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” กับหน่วยงานภายใต้ อว. พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศไทย
สวทช. ร่วมลงนาม “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” กับหน่วยงานภายใต้ อว. พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศไทย
5 เม.ย. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(5 เมษายน 2564) ห้องกมลทิพย์ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะเป็น 1 ใน 12 หน่วยงานที่เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศ สู่การสร้าง“ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทย”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศโดยเฉพาะดาวเทียม เป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์กันมายาวนาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เช่น ด้านการติดต่อสื่อสาร หรือการถ่ายทอดสดต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ยังมีเรื่องของ internet of things ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนจากเทคโนโลยีเสาสัญญาณ มาเป็นการส่งสัญญาณจากดาวเทียมที่กว้างไกลและครอบคลุมกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ซื้อจากต่างประเทศ และมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นประเทศไทยควรจะต้องพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศอย่างยั่งยืน ซึ่งเทคโนโลยีอวกาศ เช่น ดาวเทียมที่เป็น earth observation หรือยานอวกาศที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ ล้วนเป็นเรื่องที่มีความยาก ท้าทาย และผิดพลาดไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่จะนำองค์ความรู้ ความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่มาร่วมกันทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือกันที่ช่วยพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศน์สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้เกิดขึ้นและยืนหยัดต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการภาคี ความร่วมมืออวกาศไทย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กโดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศ เรียนรู้ ลงมือทำโดยตรง ทดสอบและควบคุมการใช้งานโดยฝีมือคนไทย รวมถึงออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ Payload เพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายภาพที่มีความสามารถในการถ่ายภาพในหลายความยาวคลื่น ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับด้านการเกษตร การใช้พื้นที่ของประชากร และบรรยากาศได้ ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นโจทย์ที่ท้าทายการยกระดับองค์ความรู้ของประเทศที่สำคัญ โดยทั้ง 12 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม จะมีบทบาทสนับสนุนการทำงานของภาคีฯ ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.งานวิศวกรรม 2.งานแอปพลิเคชั่น 3.งานวิจัยและพัฒนา 4.งานสนับสนุนการศึกษา และ 5.งานสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ ความเชี่ยวชาญ และกำลังคนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่

สวทช. ซึ่งเป็น 1 ใน 12 หน่วยงานที่ร่วมลงนามโดย ดร.กมล เอื้อชินกุล นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ทั้งนี้ สวทช. มีศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่มีความสามารถในการพัฒนาส่วนประกอบของระบบย่อยต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในดาวเทียม หรือยานอวกาศได้ โดย สวทช. ได้พัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ ระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิก ซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่มีแหล่งกำเนิดมาจากนอกโลก เช่น ดวงอาทิตย์ การระเบิดของชูเปอร์โนวา และหลุมดำ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการรบกวนการสื่อสารทางดาวเทียม โดยอุปกรณ์ระบบตรวจวัดอนุภาคฯ ดังกล่าวจะถูกติดตั้งในดาวเทียม เพื่อวัดอนุภาคต่าง ๆ ซึ่งภายในระบบวัดจะมีเซนเซอร์ที่เป็น Silicon Radiation Detector เข้าไปประกอบเพื่อหาตำแหน่งของอนุภาคและระบุพลังงานที่ตรวจวัดว่าเป็นพลังงานชนิดใด ซึ่งจะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาสัญญาณล่ม หรือการถูกรบกวนทางสัญญาณได้
สำหรับ 12 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม ได้แก่
1.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
2. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
3. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
6. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
7. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
8. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
10. มหาวิทยาลัยมหิดล
11. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
12. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

แชร์หน้านี้: