หน้าแรก ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ สวทช. นำร่องติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานฯ “สถานีชาร์จเรือไฟฟ้า” นำเที่ยวชุมชนวิสาหกิจนครเนื่องเขต จ.ฉะเชิงเทรา
ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ สวทช. นำร่องติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานฯ “สถานีชาร์จเรือไฟฟ้า” นำเที่ยวชุมชนวิสาหกิจนครเนื่องเขต จ.ฉะเชิงเทรา
14 ก.ย. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(12 กันยายน 2565) ที่คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยตัวแทนจากทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) ร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในงานแถลงข่าวการเปิดศูนย์ EEC Incubation Center ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมี ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านการพัฒนาการศึกษาและบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นประธานในพิธี  ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน EEC และ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ร่วมงาน

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (กลาง)

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงฯ ได้จับมือร่วมกับวิสาหกิจชุมชนนครเนื่องเขต จัดทำโครงการขยายผลและนำร่องการใช้งานแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ EEC โดยทางศูนย์ NSD ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการต่อยอดขยายผลงานวิจัยสู่ชุมชนภายใต้กรอบงบประมาณของ แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จาก EEC  โดยติดตั้งสถานีอัดประจุ (Charging Station) พลังงานแบตเตอรี่ จำนวน 2 สถานี ติดตั้งที่วิสาหกิจชุมชนนครเนื่องเขต ณ บริเวณบ้านเรือนไทย (เรือนปู่เรียน) สำหรับเป็น “สถานีชาร์จเรือไฟฟ้า” ใช้เพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำของวิสาหกิจชุมชนนครเนื่องเขต  และการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมให้กับประชาชน สวทช. ยังได้สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวผ่านเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)  ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (Business Innovation Center – BIC)  และ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC)  เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้

ทั้งนี้ทีมวิจัยคาดหวังว่าการขยายผลจากโครงข่าย EEC จะก่อให้เกิดโครงการขยายผลนำร่องการใช้งานแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในวิสาหกิจชุมชนนครเนื่องเขต ซึ่งปัจจุบันจะได้ออกแบบ ติดตั้ง และถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการและประชาชนในวิสาหกิจชุมชนนครเนื่องเขตและพื้นที่ใกล้เคียง ได้สร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนนครเนื่องเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยคลองที่เรือไฟฟ้าที่จะสัญจรรับส่งนักท่องเที่ยวเป็นการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแปดริ้วที่ยังคงเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงไหลทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ยังคงอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพที่คล้ายคลึงชีวิตความเป็นอยู่ของวิถีชีวิตชาวแปดริ้วในอดีตให้ได้มากที่สุด โดยจุดท่องเที่ยวไฮไลต์ของชุมชนนครเนื่องเขตที่สำคัญ อาทิ เรือนปู่เรียน ตลาดน้ำนครเนื่องเขต (วัดดงตาล)  และประตูน้ำท่าไข่ เป็นต้น

/////////////////////////

แชร์หน้านี้: