หน้าแรก เนคเทค จับมือพันธมิตร เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2021 ในรูปแบบออนไลน์
เนคเทค จับมือพันธมิตร เสริมแกร่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2021 ในรูปแบบออนไลน์
19 พ.ย. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

19 พฤศจิกายน 2564: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC–ACE 2021)

ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” มุ่งเน้นด้าน “Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services” เพื่อแสดงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมในยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ในฐานะศูนย์แห่งชาติที่มุ่งเน้นวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เปรียบเสมือน“เครื่องจักรสำคัญในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ” ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนต้องติดกับดักการลงทุนทางเทคโนโลยี ส่งผลให้การดำเนินงานหรือประกอบธุรกิจเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เนคเทค สวทช.ยังได้เตรียมความพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยร่วมกับพันธมิตรผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน ที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อไป

ปัจจุบันจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติทำให้ไม่สามารถจัดงานหรือทำกิจกรรมที่มีคนหมู่มากมาร่วมงานได้นั้น การจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC-ACE 2021) ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องนั้นในปีนี้เนคเทค-สวทช. ได้จับมือร่วมกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จึงได้จัดงานในรูปแบบออนไลน์ โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564  และมีพิธีเปิดงาน ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” มุ่งเน้นด้าน “Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services” เพื่อแสดงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมในยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 เป็นสำคัญ

ภายในงานมีหัวข้อการสัมนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งมุ่งเน้นการนำเสนอ แลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมอง โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชนด้านอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายย่อย มาร่วมแชร์ประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีของเนคเทค สวทช. รวมกว่า 30 ท่าน ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์กว่า 19 หัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจและไม่ควรพลาด นอกจากนี้นิทรรศการผลงานและบริการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลกล่าว 50 ผลงาน

นายศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์ ประธานคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับสมาชิก จึงได้จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม” เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนในเรื่องนวัตกรรมของภาคอุตสาหกกรรม และจัดตั้ง “สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม” หรือ ICTI เพื่อส่งเสริมด้าน Digital ให้กับสมาชิก ในฐานะที่สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นฝั่ง Demand Side   มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นจะโยชน์ต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงงาน และ SME ต่างๆ ได้เข้าถึงงานวิจัยและเทคโนโลยีที่สามารถจับต้องได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยจาก NECTEC  คอยให้การสนับสนุน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ จะเชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมการประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC–ACE 2021 ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ด้วยเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนของ AIS ต่อการนำศักยภาพของ 5G มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ จากการเดินหน้าลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยีโครงข่ายอย่างต่อเนื่องทำให้วันนี้โครงสร้างพื้นฐานหรือ Digital Infrastructure มีความสมบูรณ์ พร้อมให้บริการกับภาคอุตสาหกรรม โดยยึดแนวทางการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของ Digital Ecosystem เพราะเราเชื่อว่าความสามารถและพลังของพาร์ทเนอร์จะช่วยส่งเสริมธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นได้แบบทวีคูณ ทั้งนี้ AIS ยังทำงานร่วมกับภาครัฐอย่าง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีแผนงานสนับสนุน 5G infrastructure สำหรับเป็นสนามทดสอบ 5G (5G testbeds) เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิต รับการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center: SMC อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางนวัติกรรมของภาคอุตสาหกรรมการผลิต Smart Manufacturing แห่งใหม่ในพื้นที่ EEC

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตคือคู่ขนานสำคัญ ที่ AIS พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่เราพร้อมเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองของประเทศในการฟื้นฟูและสร้างการเติบโตร่วมกัน จากโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ที่มีขุมพลังความสามารถในการหนุนโลกธุรกิจให้ขับเคลื่อนไปสู่การเติบโตท่ามกลางการแข่งขันจากโลกใหม่ในปัจจุบันได้อย่างดีที่สุด โดยภายในงานทาง AIS ได้นำเสนอ Smart Manufacturing Solutions ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการผลิตทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ Smart Workforce, Smart Production Line , Remote Factory , Smart Workplace , Energy & Emission Management , Smart Logistics & Warehouse พร้อมส่งมอบบริการที่หลากหลายมากที่สุดในไทยมาโชว์ในงาน อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการผลิต การทำงานระยะไกลสำหรับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ผ่านการทำงานร่วมกับ Mitsubishi, Omron, TKK และล่าสุดร่วมกับ Schneider ผู้นำด้านโซลูชันการผลิตอัจฉริยะที่จะมาเสริมการทำงานภายใต้แพลตฟอร์ม EcoStruxture ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แอปพลิเคชั่นได้แก่ Machine Advisor ซึ่งสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆได้ว่าทำงานอย่างไร สำหรับ Augmented Operator Advisor ใช้ AR เทคโนโลยีในการดูข้อมูลต่างๆ และ Secure Connect Advisor ให้คำแนะนำผู้ที่ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งหมดนี้พบกันได้ที่ virtual booth ของ AIS

นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า ซีเมนส์มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมกับ เนคเทค สวทช. ในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ จากความร่วมมือในโครงการที่ผ่านมาตลอดจนถึงการเข้าร่วมงาน NECTEC ACE ในปีนี้ โดยซีเมนส์ได้นำเทคโนโลยีชั้นนำที่จะช่วยผลักดัน Industry 4.0 อาทิ IoT สำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบเครื่องจักรในอุตสาหกรรม รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อนำมาพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมสาธิต use case จากการใช้งานจริงมาจัดแสดง เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมฟังและศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบหรือแนวทางในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

นางสาวรัชนีกร เทวอักษร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าการหยุดชะงักของระบบการผลิตและซัพพลายเชนนั้นสร้างความเสียหายเพียงใด วันนี้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเอง ต่างก็ทราบถึงความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีอย่าง AI มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต โดยในงานฯ ไอบีเอ็มและดาต้าโปร คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ จะโชว์เคสในการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตมากมายในงาน ประกอบด้วย IBM Visual AI Solutions ที่นำความสามารถของ AI ในการอ่านภาพและวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ มาช่วยตรวจหาความบกพร่องและตำหนิของสินค้าแม้จะเป็นจุดที่เล็กมาก โดยระบบสามารถเชื่อมต่อกับกระบวนการผลิต หุ่นยนต์โรงงาน และเชื่อมต่อกับระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ ช่วยลดความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน IBM Acoustic AI Solutions ที่นำ AI ตรวจจับเสียงของเครื่องจักร เครื่องยนต์ คอมเพรสเซอร์ เสียงลมจากจุดรั่ว เสียงการหมุนของมอเตอร์ หรือแม้แต่การสั่นสะเทือนในโครงสร้าง โดยสามารถตรวจจับเสียงการทำงานผิดปกติที่แม้แต่หูคนเรายังไม่ได้ยินเหล่านี้ ช่วยให้โรงงานทราบปัญหาของระบบพร้อมแก้ไขได้ล่วงหน้าก่อนจะเกิดความเสียหาย และสุดท้าย IBM AR for Smart Guidance ที่นํา Augmented Reality หรือ AR ที่เป็นเทคโนโลยีภาพจำลองสามมิติเสมือนจริงแบบในเกม มาช่วยพนักงานแก้ปัญหาหน้างานโดยอาศัยความช่วยเหลือระยะไกลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงฝึกสอนพนักงานแบบ Interactive เสมือนปฏิบัติงานกับเครื่องจักรหรือชิ้นงานจริง โดยที่ผ่านมาไอบีเอ็มและพันธมิตร ได้ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าช่วยพัฒนาระบบโรงงานอัจฉริยะให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกมาแล้ว และวันนี้เราพร้อมแล้วที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่ก้าวย่าง Industry 4.0 อย่างเต็มตัว”

 

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้างร่วมงาน

ได้ที่  www.nectec.or.th/ace2021

แชร์หน้านี้: