หน้าแรก ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ SELF TEST จากนาโนเทค สวทช. ผ่านการประเมินเทคโนโลยีจาก อย.
ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ SELF TEST จากนาโนเทค สวทช. ผ่านการประเมินเทคโนโลยีจาก อย.
20 ต.ค. 2564
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

หลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ Professional Use สำหรับผู้ใช้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ต่อยอดสู่ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือแบบ SELF TEST ด้วยเทคนิค LFA ซึ่งผ่านการประเมินเทคโนโลยีจาก อย. เรียบร้อยแล้ว หวังเป็นทางเลือกช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อ เพื่อลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ส่งไม้ต่อเอกชน ขยายกำลังการผลิต รองรับความต้องการของตลาด

ดร.ภญ.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST นั้น เป็นชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็วชนิดการตรวจหาแอนติเจน (เทคนิค LFA) หรือ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test ที่อาศัยหลักการไหลในแนวราบ และการจับกันแบบจำเพาะของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยโมเลกุลดังกล่าวจะถูกติดสลากด้วยวัสดุนาโนตอบสนองชนิดพิเศษ ร่วมกับการพัฒนาและปรับสภาพองค์ประกอบต่างๆในชุดตรวจเพื่อให้สัญญาณ/เพิ่มสัญญาณ จนอ่านสัญญาณได้ภายใน 15 นาที

“หลังจากเราพัฒนาชุดตรวจฯ แบบ Professional Use เสร็จแล้ว สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นโยบายจากภาครัฐที่เน้นเรื่องความสำคัญในการขยายการเข้าถึงชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ของประชาชนให้มากขึ้น จึงมีการอนุมัติให้สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือหลายคนเรียกว่า ชุดตรวจฯ แบบ Home Use หรือ Self-Test ซึ่งทางนาโนเทคเองก็มองเห็นความสำคัญ ช่วยเปลี่ยนผ่านงานวิจัย ต่อยอดมาเป็นชุดตรวจแบบ SELF TEST” ดร.ภญ.ณัฐปภัสรเผย

นักวิจัยนาโนเทคชี้ว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST ที่พัฒนาขึ้นนั้น ใช้หลักการตรวจหาแอนติเจนแบบรวดเร็ว (เทคนิค LFA) เหมือนกัน แต่ความแตกต่างคือ แบบ Professional Use ที่ผู้ทำการตรวจคัดกรองจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และก้านเก็บตัวอย่างจะพิเศษกว่า ทั้งในแง่ของความยาว และความยืดหยุ่น เพื่อให้เก็บตัวอย่างได้ในตำแหน่งที่ลึก ในขณะที่แบบ SELF TEST จะเป็นประชาชนทั่วไป ก้านเก็บตัวอย่างจะแข็งและสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บระหว่างใช้งานของผู้ใช้ที่ไม่คุ้นชิน

นอกจากนี้ ยังแตกต่างในด้านการแปลผล ที่แบบ Professional Use ซึ่งทำในสถานพยาบาล ซึ่งจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ในระดับห้องปฏิบัติการรองรับในการวิเคราะห์และแปลผล ในขณะที่แบบ SELF TEST จะแปลผลจากชุดตรวจโดยผู้ใช้งานโดยตรง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ Professional Use หรือแบบ SELF TEST ดร.ภญ.ณัฐปภัสรย้ำว่า หากผลการทดสอบเป็นบวกด้วยวิธี Antigen Rapid Test นี้ ต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธีอนูวิทยาหรือ RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง

ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) แบบ SELF TEST นั้น ผู้ใช้งานสามารถทำการตรวจหาเชื้อได้เองที่บ้านด้วยการใช้ก้านเก็บตัวอย่างสอดเข้าไปในโพรงจมูก (ลึก 1.5-2.5 เซนติเมตร) โดยหมุนก้านเก็บตัวอย่างเพื่อป้ายให้ทั่วโพรงจมูกไปทางซ้าย 5 รอบ และทางขวา 5 รอบ จากนั้น ทำซ้ำกับโพรงจมูกอีกข้าง นำก้านเก็บตัวอย่างมาจุ่มในหลอดน้ำยาชุดตรวจ 1 นาทีโดยบีบปลายก้านเก็บตัวอย่าง แล้วดึงก้านเก็บตัวอย่างออก ปิดหลอดบรรจุน้ำยาชุดตรวจไว้อีก 1 นาที

จากนั้น เตรียมการทดสอบโดยนำตลับชุดตรวจวางบนพื้นที่ราบเสมอกันและสะอาด บีบหลอดบรรจุน้ำยาชุดตรวจที่ผสมตัวอย่าง 5 หยดลงบนช่องหยดตัวอย่างของชุดตรวจแล้วรอ 15 นาทีเพื่ออ่านผล

“ความท้าทายของนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่เราพัฒนาขึ้นนั้น มองว่า เป็นการทำความเข้าใจในการใช้งาน เพราะลักษณะของชุดตรวจทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST เหมือนกันแทบทุกอย่าง รวมไปถึงชุดตรวจต่างๆ ในท้องตลาด ซึ่งผู้ใช้ต้องอ่านขั้นตอนการใช้โดยละเอียด เพราะแต่ละรายอาจจะมีรายละเอียดและวิธีการที่แตกต่างกัน ผู้ใช้ต้องเข้าใจหลักการ เทคนิค และการศึกษาคู่มือการใช้ให้เข้าใจ รวมถึงคุณภาพในการเก็บ ตย. ซึ่งมีผลต่อผลการตรวจด้วย” ดร.ภญ.ณัฐปภัสรกล่าว พร้อมชี้ว่า การให้ความรู้กับผู้ใช้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ซึ่งทางนาโนเทคได้เตรียมเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์และสื่อประกอบการใช้งานซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก QR Code นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ต้องมีความเหมาะสม โดยจะมีขนาดเล็กลง จากเดิม 1 แพคมี 10 ชุด ก็จะเป็น 1 แพค 1 ชุด

ปัจจุบัน ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST ได้ผ่านการประเมินเทคโนโลยีของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม และ 28 กันยายน 2564 ตามลำดับ โดยมี บริษัท อินโนไบโอเทค จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีภาคเอกชนที่อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกด้วย

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล  ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือแบบ SELF TEST จะเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่เตรียมพร้อมในการเปิดประเทศ รวมถึงมาตรการผ่อนปรนต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน ผู้ประกอบการ สถานที่ต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีชุดตรวจคัดกรองนี้ เพื่อวางแผนการจัดกิจกรรม หรืองานต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าร่วม และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้ออีกด้วย

“สิ่งที่สำคัญคือ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเองที่มีประสิทธิภาพสูงจะเป็นตัวช่วยสำคัญของระบบสาธารณสุขของประเทศ ช่วยคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้าสู่กระบวนกักตัว หรือการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น” ผู้อำนวยการ นาโนเทค ย้ำ

 

แชร์หน้านี้: