หน้าแรก สวทช. จัดสัมมนาเรื่อง จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
สวทช. จัดสัมมนาเรื่อง จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
3 เม.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(30 มี.ค. 2566) ณ ห้องประชุม SD-601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สายงานบริหารการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานสัมมนาเรื่อง “จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย”

นำเสนอสถานภาพและผลกระทบที่สำคัญของการถอดลำดับพันธุกรรมคนไทย 50,000 รายภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ตลอดจนผลกระทบทางด้านสาธารณสุขและโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านจีโนมิกส์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมบรรยายตลอดทั้งวัน

งานสัมมนาในครั้งนี้ สวทช. ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และที่ปรึกษาโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยให้เกียรติกล่าวเปิดงาน ร่วมด้วยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรุณามาให้ข้อมูลรายงานของ WHO Science Council โดยมี ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมรับฟังการบรรยายและให้เกียรติมอบของที่ระลึก

งานสัมมนาเริ่มต้นการบรรยายในหัวข้อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมการต่อยอดเชิงพาณิชย์และธุรกิจจีโนมิกส์ในประเทศไทย โดย ดร.นุสรา สัตย์เพริศพราย จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จากนั้น ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผอ.NBT นำเสนอความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลข้อมูลจีโนมรวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศสารสนเทศเพื่อการประมวลผลของโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย ตามด้วย ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล บรรยายถึงการใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์สำหรับการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ และการจัดตั้งศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำจากการขับเคลื่อนภายใต้แผนปฏิบัติการการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขายาและวัคซีน และปิดท้ายหัวข้อการบรรยายช่วงเช้าด้วย การแพทย์จีโนมิกส์ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดย อ.นพ.จักรกฤษณ์ เอื้อสุนทรวัฒนา จากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

 

 

การบรรยายในช่วงบ่าย สวทช. ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพันธุศาสตร์เชิงมานุษยวิทยาและการศึกษาดีเอ็นเอโบราณ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร และ รศ.ดร.จตุพล คำปวนสาย คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มาร่วมบรรยายภายใต้ธีมการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการมนุษย์: รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2565 จากนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กรุณามาบรรยายถึงความก้าวหน้างานวิจัยด้านจีโนมิกส์ในกลุ่มโรคติดเชื้อและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์ในด้านดังกล่าว

 

ปิดท้ายงานสัมมนาด้วยการอัปเดตความก้าวหน้าแพลตฟอร์มทางด้านจีโนมิกส์ภายใต้หัวข้อ Update State of the Art Genomic Platforms โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงจีโนมิกส์ของประเทศไทย นำโดย นพ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ จากบริษัทศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์จำกัด อ.ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และคุณเฉลิมพล ศรีจอมทอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

สัมมนาในครั้งนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 331 ท่าน ประกอบด้วย ภาคเอกชน 138 คน หน่วยงานภาครัฐ 108 คน สถานศึกษา 82 คน และบุคคลทั่วไป 3 คน

 

แชร์หน้านี้: