หน้าแรก สวทช.-อุบลไบโอเอทานอล เดินหน้า “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” ยกระดับมันสำปะหลังอินทรีย์
สวทช.-อุบลไบโอเอทานอล เดินหน้า “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” ยกระดับมันสำปะหลังอินทรีย์
23 พ.ค. 2565
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

For English-version news, please visit : NSTDA and UBE to promote organic cassava production in four northeastern provinces

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกความร่วมมือกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ภายใต้โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ ต่อยอดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง “อุบลโมเดล” ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” ขยายพื้นที่ทำงานครอบคลุม 4 จังหวัดแหล่งผลิตมันสำปะหลังสำคัญของภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ยกระดับการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต้นทางวัตถุดิบคุณภาพสู่การแปรรูป “ฟลาวมันสำปะหลัง” อาหารแห่งอนาคต ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า มันสำปะหลังเป็นพืชสำคัญที่นำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรมและเป็นพืชที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศหลายหมื่นล้านบาทต่อปี โดยประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งบทบาทของ สวทช. นอกจากวิจัยพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลัง ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การผลิตมันสำปะหลังให้ได้คุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตท่อนพันธุ์สะอาด การใช้สารชีวภัณฑ์ ชุดตรวจโรค การผลิตฟลาวมันสำปะหลัง เป็นต้น สวทช. ยังได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ อีกทั้งใช้กลไก “ตลาดนำการผลิต” เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและตลาดรับซื้อ ดังโครงการ “อุบลโมเดล” ที่ได้ร่วมกับบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ดำเนินงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ต.กู่จ่าน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ปรับเปลี่ยนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงตามที่บริษัทรับซื้อ ซึ่งในปี 2564 สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1.3 ล้านบาท จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 ตัน/ไร่ จากเดิม 3.3 ตัน/ไร่ ซึ่งถึงแม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง บวกกับราคาขายที่สูงขึ้น ทำให้ได้กำไรมากยิ่งขึ้น

“การบูรณาการความร่วมมือจากภาคีพันธมิตรภาครัฐและเอกชนใน “อุบลโมเดล” ทำให้เกษตรกรเปิดรับและ ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง โดยได้รับทั้งความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลผลิตที่ได้มีตลาดรับซื้อและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่บริษัทฯ ได้วัตถุดิบคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร จากการทำงานดังกล่าว สวทช. จึงได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทฯ ภายใต้ “โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ” หรือ “อุบลโมเดลพลัสนวัตกรรม” เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และร่วมดำเนินงานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ชุมชนและพัฒนาเกษตรกรเพื่อยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนผลักดันการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โดยชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์คุณภาพเพิ่มขึ้น เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบเกษตรปลอดภัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCGรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักทั้งธุุรกิจเอทานอล ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังมีผลิตภัณฑ์ที่เด่นคือ แป้งมันสำปะหลังอินทรีย์และฟลาวมันสำปะหลัง โดยมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย บริษัทฯ จึงมุ่งขยายกำลังการผลิตในธุรกิจด้านนี้ โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์และฟลาวมันสำปะหลัง ซึ่งเป็น “อาหารแห่งอนาคต” (food for the future) ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรท

“ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำโครงการ “อุบลโมเดล” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างมีความรู้และได้คุณภาพตามมาตรฐานอินทรีย์ไทยและมาตรฐานอินทรีย์สากล ซึ่งเราไม่ได้เน้นเพียงแค่ให้เกษตรกรปลูกวัตถุดิบมาส่ง แต่เราพัฒนาให้เขามีผลผลิตสูงขึ้นและยึดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการกับ สวทช. ในครั้งนี้ จะหนุนเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพ ผลผลิตที่ได้คุณภาพจะเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับธุรกิจแป้งมันสำปะหลังของเรา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฟลาวมันสำปะหลังซึ่งผลิตในระบบอินทรีย์ กลูเตนฟรี (Gluten Free) ไม่ดัดแปลงพันธุกรรม (Non GMO) มีเส้นใยสูง (high fiber) และมีดัชนี้น้ำตาลปานกลาง-ต่ำ (Medium to Low Glycemic Index) นำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารได้หลากหลาย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอเมริกาและยุโรปอย่างมาก นอกจากนี้ภายใต้ความร่วมมือนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการของบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมันสำปะหลังและเกษตรอินทรีย์ให้กับประเทศอีกด้วย” นางสาวสุรียส กล่าว

ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าว สวทช. ได้จัดแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่ ชีวภัณฑ์ป้องกัน/กำจัดแมลงศัตรูพืช (บิวเวอเรีย-เมตาไรเซียม)  ชุดตรวจ Strip Test สำหรับตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และชุดตรวจวิเคราะห์ดิน Smart NPK ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ โดย ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล นักวิจัย ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ศูนย์พันธุวิศวกรรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้สาธิตการใช้ชุดตรวจ Strip Test ตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้ทันท่วงทีหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 1711, 081 9157901 (คุณชวินทร์)

 

เกี่ยวกับ สท.
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ที่มีภารกิจเร่งรัดให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้งานจริงในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่า/รายได้ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรและชุมชน สร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชน ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือจากภาคการผลิตสู่ภาคการตลาด

แชร์หน้านี้: